backup og meta

คีมคีบทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ คืออะไร เรื่องน่ารู้สำหรับหญิงท้องแก่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    คีมคีบทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ คืออะไร เรื่องน่ารู้สำหรับหญิงท้องแก่

    คีมคีบทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ คืออุปกรณ์ช่วยทำคลอดที่คุณหมอและพยาบาลมักใช้ระหว่างคลอดโดยเฉพาะการคลอดธรรมชาติที่คุณแม่ต้องเบ่งคลอดเอง เพราะเมื่อครบกำหนดคลอดคุณแม่บางคนอาจจะเกิดปัญหาคลอดยาก ต้องใช้แรงเบ่งนานแต่ทารกก็อาจจะยังไม่สามารถคลอดออกมาได้ คุณหมอจึงจำเป็นต้องมีวิธีการช่วยเหลือที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละกรณี โดยอุปกรณ์ทำคลอดแต่ละชนิดนี้มีข้อดีข้อเสียต่างกัน

    รู้จัก คีมคีบทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ

    คีมคีบทำคลอด

    คีมคีบทำคลอด เป็น อุปกรณ์ช่วยทำคลอด มีลักษณะคล้ายช้อนที่มีด้ามยาว ๆ ใช้สำหรับช่วยดึงศีรษะทารกออกจากช่องคลอดในกรณีที่คลอดยาก ทารกไม่สามารถออกมาจากช่องคลอดได้เอง หรือในรายที่ไม่ต้องการให้คุณแม่เบ่งคลอด เช่น กรณีที่คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะรอคลอด คีมทำคลอด ออกแบบมาสำหรับรองรับการดึงศีรษะทารกโดยเฉพาะ คุณหมอหรือพยาบาลผู้ใช้งานจำเป็นจะต้องมีความชำนาญโดยเฉพาะ หลักการทำงานของคีมทำคลอดก็คือ แพทย์จะใช้คีมทำคลอดดึงศีรษะทารกออกมาโดยไม่ต้องใช้แรงเบ่งจากมารดาร่วมด้วย

    เครื่องดูดสุญญากาศ

    เครื่องดูดสุญญากาศสำหรับทำคลอดนั้น ไม่เหมือนกับเครื่องดูดทั่ว ๆ ไป แต่หลักการในการทำงานของเครื่องดูดสุญญากาศสำหรับทำคลอดใช้หลักการเดียวกันกับเครื่องดูดอื่น ๆ คือ ใช้แรงดูดสุญญากาศเพื่อให้สิ่งของนั้นติดขึ้นมา เครื่องดูดสุญญากาศสำหรับทำคลอด เป็นเครื่องดูดที่ใช้แรงอ่อน ๆ เท่านั้น เพื่อทำการดูดศีรษะทารก ซึ่งจะดูดพร้อม ๆ กับช่วงที่คุณแม่ออกแรงเบ่ง

    การใช้ อุปกรณ์ช่วยทำคลอด นั้น โดยปกติแล้วมักจะใช้ในกรณีที่คลอดยาก เบ่งแล้วทารกไม่ออกมา โดยทั้งสองวิธีต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน และบริบทของคุณแม่และทารกในขณะนั้นสามารถทำได้ แต่หากลองใช้ทั้ง 2 วิธีแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำคลอดได้ คุณหมออาจจะเลือกวิธีผ่าคลอดแทน เพื่อไม่ให้คุณแม่และทารกเป็นอันตราย

    ข้อดีและข้อเสียของ คีมคีบทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ

    คีมทำคลอดเป็น อุปกรณ์ช่วยทำคลอด ที่จะต้องอาศัยความชำนาญจากคุณหมอผู้ใช้เป็นอย่างมาก คุณหมอผู้ที่จะใช้คีมทำคลอดในการช่วยคลอดนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนเป็นเวลานาน ส่วนเครื่องดูดสุญญากาศเป็น อุปกรณ์ช่วยทำคลอด ที่ใช้ได้ง่ายกว่าคีมทำคลอด แม้คีมทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ จะเป็นอุปกรณ์ช่วยทำคลอด เหมือนกัน แต่ คีมคีบทำคลอดกับเครื่องดูดสุญญากาศ ก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

    ข้อดีและข้อเสียของคีมทำคลอด

    ข้อดี

    คีมทำคลอด เป็นอุปกรณ์ช่วยทำคลอดที่ต้องใช้ทักษะในการฝึกฝนมากกว่า แต่ว่าการใช้คีมทำคลอด ใช้เวลาในการช่วยทำคลอดที่เร็วกว่า จึงเหมาะกับการทำคลอดที่มีเวลาอย่างจำกัด และเหมาะสมในรายที่ไม่ต้องการให้คุณแม่ออกแรงเบ่งดังที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากคุณหมอจะเป็นผู้ทำการดึงทารกออกมา นอกจากนี้ การใช้คีมทำคลอดเป็นวิธีที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดเลือดคั่งในศีรษะของทารกแรกเกิด

    ข้อเสีย

    การใช้คีมทำคลอด แม้จะลดโอกาสในการเกิดเลือดคั่ง แต่ก็ยังมีข้อควรระวัง เพราะบางครั้งอาจเกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทบริเวณใบหน้าของทารกได้ ที่สำคัญอาจทำให้เลือดออกบริเวณดวงตาได้ นอกจากนี้ การใช้คีมทำคลอดยังอาจทำให้คุณแม่เกิดอาการบาดเจ็บที่ช่องทางคลอดในระดับที่มากหรืออาจมีการบาดเข็บไปถึงช่องรูทวารได้และทำให้แผลจากการคลอดหายได้ช้าอีกด้วย

    ข้อดีและข้อเสียของเครื่องดูดสุญญากาศ

    คุณหมอจะไม่ใช้เครื่องดูดสุญญากาศในการช่วยทำคลอดให้กับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการเลือดออกจากศีรษะทารกได้มากกว่าปกติ 

    ข้อดี

    ข้อดีของการใช้เครื่องดูดสุญญากาศ คือ มักทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อช่องทางคลอดน้อยกว่า คุณแม่จะรู้สึกเจ็บน้อยกว่า มีแผลจากการคลอดหายได้เร็วกว่าการใช้คีมทำคลอด

    ข้อเสีย

    การใช้เครื่องดูดมีอัตราการทำคลอดล้มเหลวมากกว่าการใช้คีมทำคลอด เมื่อล้มเหลวในการใช้เครื่องดูดแล้ว ก็อาจจะต้องผ่าคลอดทันที นอกจากนี้การใช้เครื่องดูดยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงเหล่านี้ต่อทารก

    • เลือดออกในจอประสาทตา
    • เลือดคั่งที่ศีรษะ
    • เกิดบาดแผลที่ศีรษะ มีอาการบวม
    • ผิวหนังหรือตาเหลือง
    • เลือดออกในศีรษะ

    อย่างไรก็ตาม คุณหมอทำคลอดจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้อุปกรณ์ช่วยทำคลอดแบบใด โดยดูจากสภาพร่างกายของคุณแม่ รวมทั้งลักษณะและแรงเบ่ง ระยะเวลาในการรอคลอด โดยยึดความปลอดภัยของทารกและคุณแม่เป็นสำคัญ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา