backup og meta

ครรภ์ไข่ปลาอุก สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    ครรภ์ไข่ปลาอุก สาเหตุ อาการ และการรักษา

    ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy หรือ Hydatidiform Mole) หมายถึงการที่ไข่ผสมกับตัวอสุจิจนเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว แต่ตัวอ่อนนั้นกลับไม่สามารถพัฒนาและเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่จะกลายเป็นเนื้องอกชนิดไม่ลุกลามภายในมดลูกแทน ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกภายในมดลูกออก

    ครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร

    ครรภ์ไข่ปลาอุก คือ ภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ โดยปกติทั่วไปเมื่ออสุจิผสมกับไข่จะเกิดเป็นตัวอ่อน แต่ครรภ์ไข่ปลาอุกนั้น ตัวอ่อนจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เนื้อเยื่อของตัวอ่อนจะกลายเป็นเนื้องอกอยู่ในมดลูก แต่เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง มีรกกับถุงน้ำขนาดเล็กและใหญ่อยู่ติดกันเป็นจำนวนมากคล้ายพวงองุ่นหรือไข่ปลา อย่างไรก็ตาม ครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นภาวะที่ไม่ได้พบบ่อยนัก ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี หรืออายุน้อยกว่า 20 ปี

    สาเหตุการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คืออะไร

    สาเหตุการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากความผิดปกติของการปฏิสนธิระหว่างไข่ของเพศหญิงกับเชื้ออสุจิของเพศชายที่มีโครโมโซมผิดปกติ  ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่จะเจริญเติบโตแบบผิดปกติเป็นถุงน้ำจำนวนมากอยู่ในโพรงมดลูก

    อาการของภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก

    การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอาจดูเหมือนการตั้งครรภ์ปกติทั่วไป แต่การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกจะมีลักษณะอาการและอาการเฉพาะ ได้แก่

    • ปวดกระดูกเชิงกราน เนื้อเยื่อของตัวอ่อนในครรภ์จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ท้องจะใหญ่มากในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ การเติบโตของท้องอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้เกิดแรงกดดันและเจ็บปวดได้
    • มีเลือดออก อาจจะมีเลือดออกมีสีแดงถึงสีน้ำตาลเข้มในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ (ไม่เกิน 13 สัปดาห์) บางครั้งอาจมีเลือดที่ลักษณะคล้ายพวงองุ่นหรือไข่ปลาออกมาด้วย
    • คลื่นไส้ อาเจียน ในการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอาจมีเนื้อเยื่อรกมากกว่าปกติ ฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) จึงสูงมากจนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
    • อาจพบอาการอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ชีสต์รังไข่ โลหิตจาง

    วิธีการรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก

    เมื่อคุณหมอทำการวินิจฉัยว่ากำลังมีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก คุณหมอจะทำการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • การขูดมดลูก โดยคุณหมอจะเริ่มจากการฉีดยาชาและให้ผู้ป่วยขึ้นขาหยั่งเพื่อเตรียมขูดมดลูก ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ขยายช่องคลอดเพื่อขูดมดลูก รวมถึงการดูดเนื้อเยื่อมดลูกออกมา
  • เคมีบำบัด หากมีภาวะที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งและผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแต่จะมีปริมาณฮอร์โมนเอชซีจียังสูงอยู่ ต้องได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
  • การผ่าตัด การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกทั้งหมด สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์อีกต่อไป
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา