backup og meta

นมสำหรับคนท้อง เลือกอย่างไรให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อแม่และลูก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    นมสำหรับคนท้อง เลือกอย่างไรให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อแม่และลูก

    นมเป็นหนึ่งในอาหารบำรุงครรภ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยเสริมแคลเซียมให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างพอเพียง ช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพ และเสริมสร้างร่างกายของแม่และเด็กให้แข็งแรง แต่เนื่องจากมีนมอยู่มากมายหลายชนิด แล้วนมสำหรับคนท้องแบบไหนที่เหมาะและมีประโยชน์ที่สุดต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

    ประโยชน์ของการดื่มนมขณะตั้งครรภ์

    การดื่มนมเป็นประจำขณะตั้งครรภ์จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ ดังนี้

    เสริมแคลเซียม

    แคลเซียม (Calcium) เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับคนทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ที่กำลัง ตั้งครรภ์และทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ จำเป็นมากที่จะต้องได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพื่อเสริมสร้างกระดูก ฟัน กล้ามเนื้อ หัวใจ และเส้นประสาทของทารกในครรภ์ ซึ่งถ้าหากทารกได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอก็จะดึงแคลเซียมจากร่างกายของแม่ไปใช้ อาจทำให้คุณแม่มีภาวะขาดแคลนแคลเซียม ซึ่งจะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน หรืออาการทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

    เสริมโปรตีน

    ในน้ำนมไม่ได้มีสารอาหารแค่เพียงแคลเซียมเท่านั้น แต่ยังมีสารอาหารสำคัญอยู่อีกหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะโปรตีนจะช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่คุณแม่ขณะตั้งครรภ์ และช่วยเสริมสร้างเซลล์ให้แก่ทารก เพื่อให้ทารกสามารถเติบโตได้ตามวัย ทั้งยังลดความเสี่ยงของการมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าเกณฑ์อีกด้วย

    เสริมวิตามินดี

    วิตามินดี (Vitamin D) ถือเป็นพันธมิตรชั้นยอดของแคลเซียม เพราะถ้าร่างกายมีระดับของวิตามินดีไม่เพียงพอ การดูดซึมแคลเซียมไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายก็จะทำได้ไม่ดีนัก อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนแคลเซียมได้ ดังนั้น การดื่มนมจึงไม่เพียงช่วยเพิ่มแคลเซียมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น แต่ร่างกายก็จะได้รับวิตามินดีเพื่อเสริมให้การดูดซึมแคลเซียมทำงานได้ดีขึ้น  มากไปกว่านั้น วิตามินดียังมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าเกณฑ์เช่นเดียวกันกับโปรตีนด้วย

    ปริมาณการดื่มนมที่เหมาะสำหรับคนท้อง

    เพื่อให้ร่างกายของแม่และเด็กในครรภ์ได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ดื่มนมที่ไม่มีไขมันหรือนมไขมันต่ำประมาณ 3 แก้ว (แก้วละ 8 ออนซ์) ต่อวัน หรือจะดื่มนมในปริมาณเทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะ ตั้งครรภ์ ก็ได้ สิ่งสำคัญคือควรดื่มนมอย่างสม่ำเสมอ

    นมสำหรับคนท้อง เลือกแบบไหนดี

    นมที่วางขายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้ามีอยู่ด้วยกันหลายชนิด หลายประเภท และหลายยี่ห้อ ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และต้องการนมที่มีส่วนช่วยในการบำรุงครรภ์และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของแม่และเด็กในท้อง ควรเลือกนมดังต่อไปนี้

    เลือกนมที่มีไขมันต่ำ

    ถึงแม้ว่านมจะให้โปรตีนและแคลเซียมในปริมาณสูง แต่สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเลือกนมวัวที่มีไขมันต่ำเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะทางสุขภาพขณะตั้งครรภ์ อีกทั้งการดื่มนมที่มีไขมันสูง อาจเป็นการเพิ่มน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์ได้

    เลือกนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์

    ผู้ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มน้ำนมดิบ แต่ควรดื่มนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อหรือพาสเจอไรซ์ (Pasteurized) แล้ว เพราะผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง จึงมีความปลอดภัยจากจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องร่วง ท้องเสีย 

    เลือกดื่มนมธัญพืช

    คุณแม่บางท่านอาจมีปัญหาการแพ้นมวัว อาจเลือกดื่มนมจากธัญพืชอย่าง นมอัลมอนด์ หรือนมถั่วเหลืองได้

    เลือกนมที่ไม่มีน้ำตาล

    เนื่องจากนมวัวหรือนมแพะจะมีปริมาณน้ำตาลธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ควรเลือกซื้อนมที่มีการเพิ่มปริมาณน้ำตาล  หรือถ้าจะให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อนม ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด และควรเลือกซื้อนมที่มีน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาลเลย เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง

    เลือกนมที่ให้วิตามินดีสูง

    ไม่เพียงแต่ปริมาณแคลเซียมและโปรตีนเท่านั้นที่จะต้องใส่ใจ แต่ปริมาณของวิตามินดีก็ควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อให้ร่างกายมีระดับของวิตามินดีที่เพียงพอที่จะช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และลดความเสี่ยงของภาวะขาดแคลนวิตามินดี

    นอกจากการดื่มนมสำหรับคนท้อง คุณแม่ยังจำเป็นที่จะต้องใส่ใจกับการรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษ เลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา