backup og meta

อัลตราซาวด์ ท้อง 1 เดือน ทำได้หรือไม่ และทำในกรณีใดบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

    อัลตราซาวด์ ท้อง 1 เดือน ทำได้หรือไม่ และทำในกรณีใดบ้าง

    การ อัลตราซาวด์ ท้อง 1 เดือน อาจไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากคุณแม่ยังมีอายุครรภ์น้อยเกินไป โดยปกติ การอัลตราซาวด์ครั้งแรกสามารถทำได้เมื่อมีอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นอายุครรภ์ที่มองเห็นทารกได้ผ่านเครื่องอัลตราซาวด์ แต่ถ้าตรวจดูเร็วกว่านั้น เครื่องอาจไม่สามารถตรวจจับได้อย่างชัดเจน การอัลตราซาวด์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อยมากอาจเกิดในกรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงบางประการ เช่น มีประวัติของการตั้งครรภ์นอกมดลูก

    ความเสี่ยงที่อาจต้อง อัลตราซาวด์ ท้อง 1 เดือน

    หากคุณแม่มีประวัติเคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน คุณหมออาจให้เข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ท้อง 1 เดือน หรือในช่วงเวลาใกล้เคียง โดยใช้การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด ที่ให้ภาพที่ชัดเจนกว่าการอัลตราซาวด์ทางช่องท้อง เพื่อติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์ว่าจะมีความเสี่ยงหรือไม่ โดยพิจารณาจากพัฒนาการของถุงการตั้งครรภ์ (Gestational sac) และถุงไข่แดง (Yolk sac) หากพบว่ามีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในมดลูก แสดงว่าอาจไม่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูกเกิดขึ้น นอกจากนี้ อาจมีการตรวจท่อนำไข่ (Fallopian tubes) เพิ่มเติมว่าเป็นปกติหรือไม่

    การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ในช่วงแรกอาจเห็นผ่านการอัลตราซาวด์

    การตั้งครรภ์ในช่วงแรกของอายุครรภ์ (ก่อนสัปดาห์ที่ 6-9) หากมีความจำเป็นที่ต้องอัลตราซาวด์ อาจมีลำดับขั้นดังนี้

    1. ลำดับขั้นที่ 1 หากเป็นไปตามระยะเวลาปกติของช่วงมีประจำเดือน ในขั้นนี้จะแสดงให้เห็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนานุ่มซึ่งพร้อมให้ตัวอ่อนที่เกิดจากไข่ผสมกับอสุจิจนปฏิสนธิได้ฝังตัว
    2. ลำดับขั้นที่ 2 เป็นขั้นตอนที่มักเกิดขึ้นในช่วง 4-5 สัปดาห์หลังคุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยปกติ จะมองเห็นกลุ่มก้อนของเหลวขนาดเล็กภายในเยื่อบุโพรงมดลูก ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในช่วงแรกของถุงการตั้งครรภ์ มีการสร้างถุงน้ำคร่ำที่จะห่อหุ้มตัวของทารกเพื่อปกป้องร่างกายของทารกตลอดระยะการเจริญเติบโตในท้องแม่ โดยมีถุงไข่แดงเป็นแหล่งอาหารให้กับทารกในช่วงสัปดาห์แรก เมื่อเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 4 ทารกจะมีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กจิ๋วยิ่งกว่าเมล็ดข้าว
    3. ลำดับขั้นที่ 3 เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นในช่วง 5 สัปดาห์หลังคุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย แสดงให้เห็นถุงการตั้งครรภ์ และถุงไข่แดง ขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ที่มีรูปร่างเหมือนฟองสบู่ ในสัปดาห์ที่ 5 ร่างกายของคุณแม่จะสร้างฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ที่ไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตของทารก ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนเหล่านี้จะไปหยุดการมีประจำเดือนของคุณแม่ อันเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ และเป็นฮอร์โมนที่ตรวจพบได้เมื่อใช้ที่ตรวจครรภ์นั่นเอง
    4. ลำดับชั้นที่ 4 เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์หลังคุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย สามารถมองเห็นตัวอ่อนขนาดเล็กที่จะพัฒนาไปพร้อมกับถุงไข่แดง และเริ่มเห็นการเต้นของหัวใจทารกได้

    ประโยชน์ของการอัลตราซาวด์

    การอัลตราซาวด์มีข้อดี ดังต่อไปนี้

    ช่วยประเมินการเติบโตของทารก ทั้งการเจริญเติบโต ความแข็งแรง และพัฒนาการของทารก ว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ เช่น ขนาดตัวและอวัยวะ การเคลื่อนไหว จังหวะการหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ

    ยืนยันจำนวนทารกในท้อง การอัลตราซาวด์ช่วยให้ทราบว่าในท้องของคุณแม่มีทารกกี่คน หากพบว่าเป็นลูกแฝด การอัลตราซาวด์ก็จะช่วยตรวจสอบชนิดการตั้งครรภ์แฝดได้ว่าเป็นแบบใช้รกร่วมกันหรือใช้แยกกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์

    เห็นภาพทารกได้ชัดเจน มีทั้งในรูปแบบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ทำให้เห็นภาพเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกได้ชัดเจนกว่าการเอกซเรย์

    ใช้ตรวจภาวะแทรกซ้อนได้ สามารถตรวจพบความที่ผิดปกติภายในครรภ์ได้อย่างแม่นยำ เช่น ภาวะเลือดออก ภาวะรกเกาะต่ำ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ความผิดปกติของกระดูกทารก ภาวะทารกเติบโตช้า ทั้งยังอาจใช้ตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ของทารกได้ด้วย

    ช่วยยืนยันอายุครรภ์ ซึ่งจะทำให้ทราบวันกำหนดคลอดได้ ช่วยให้สามารถวางแผนการคลอดได้ง่ายขึ้น

    มีความปลอดภัย เป็นวิธีตรวจที่ปลอดภัยทั้งต่อแม่และทารก ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือเจ็บระหว่างตรวจ ไม่มีผลข้างเคียง ไม่ต้องฉีดยาหรือกินยา และไม่จำเป็นต้องใช้การฉายรังสีเหมือนการเอกซเรย์

    ควรทำอัลตราซาวด์ทั้งหมดกี่ครั้ง

    หากการตั้งครรภ์เป็นไปตามปกติ คุณหมออาจยังไม่แนะนำให้เข้ารับการอัลตราซาวด์ ท้อง 1 เดือน โดยปกติแล้ว การอัลตราซาวด์จะแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการตรวจทุกไตรมาส ได้แก่

    1. อัลตราซาวด์ครั้งที่ 1 สามารถตรวจครรภ์ได้ในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด ที่ให้ภาพที่ชัดเจนกว่าการอัลตราซาวด์ทางช่องท้อง โดยการใช้เครื่องมือขนาดเล็ก สอดเข้าไปตรวจภายในช่องคลอด การตรวจในระยะนี้เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และคำนวณระยะเวลาการตั้งครรภ์ หากไม่พบว่ามีปัญหาที่ควรแก้ไขหรือต้องตรวจเพิ่ม ก็สามารถรออัลตราซาวด์ครั้งต่อไปอีกประมาณ 3 เดือน
    2. อัลตราซาวด์ครั้งที่ 2 สามารถตรวจครรภ์ได้ในช่วงอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ ตรวจด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องท้อง โดยการทาเจลบริเวณหน้าท้องของแม่ และใช้หัวตรวจเคลื่อนไปทั่วบริเวณหน้าท้อง ในช่วงนี้อวัยวะของทารกจะชัดเจนขึ้นและสังเกตได้ง่ายขึ้น เป็นช่วงที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของทารกได้
    3. อัลตราซาวด์ครั้งที่ 3 สามารถตรวจครรภ์ได้ในช่วงอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องท้อง ในช่วงนี้เป็นการตรวจดูพัฒนาการของทารกว่าเป็นปกติหรือไม่ และตรวจติดตามน้ำหนักของทารกเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ หากมีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นจะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา