backup og meta

ไม่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    ไม่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม

    ไม่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม อาจเป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนสงสัย โดยปกติการตั้งท้องเกี่ยวข้องกับการตกไข่ หากมีเพศสัมพันธ์แล้วอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ในช่วงเวลาตกไข่พอดีก็อาจตั้งท้องได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอาจมีโอกาสที่จะตั้งท้องตามธรรมชาติได้น้อย เนื่องจากรังไข่หยุดผลิตไข่ จึงอาจต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งท้องในวัยหมดประจำเดือน

    ไม่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม

    ผู้หญิงทุกคนสามารถตั้งท้องได้เมื่อเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาตกไข่ โดยไข่จะถูกปล่อยออกมาจากรังไข่เพื่อรอผสมกับอสุจิและปฏิสนธิกันจนพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน จากนั้นตัวอ่อนจะเข้าไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกและเจริญเติบโตเป็นทารก แต่สำหรับผู้หญิงบางคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มีประจำเดือน อาจมีข้อสงสัยว่าสามารถท้องได้ไหม โดยอาจแบ่งได้ดังนี้

    • เด็กผู้หญิงที่ไม่เคยมีประจำเดือน

    การตั้งท้องเกี่ยวข้องกับการตกไข่ โดยปกติเด็กผู้หญิงจะตกไข่และมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 13-16 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่พร้อมแก่การตั้งท้อง อย่างไรก็ตาม เด็กผู้หญิงอาจตั้งท้องได้ถึงแม้ว่าประจำเดือนครั้งแรกยังไม่มา หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่ไข่ตกพอดี หรือในช่วง 7-14 วันก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งแรก

    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ

    ผู้หญิงบางคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจตั้งท้องได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เนื่องจากการตกไข่ยังคงเกิดขึ้นอย่างเป็นวัฏจักร เพียงแต่อาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะมีบุตรยาก กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคอ้วน หรือฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้การตกไข่ไม่เป็นไปตามกำหนด ดังนั้น หากผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันบ่อยครั้งก็อาจเกิดการตั้งท้องได้ เนื่องจาก ไม่สามารถทราบได้ว่าร่างกายจะมีการตกไข่อีกครั้งในช่วงเวลาไหน

  • ประจำเดือนไม่มาจากการคุมกำเนิด

  • ผู้หญิงที่ใช้วิธีการคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาคุมกำเนิด ฝังยาคุม ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด อาจพบว่าประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงแรกเมื่อเริ่มคุมกำเนิด เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการปรับฮอร์โมนให้สมดุล เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวได้ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ

    ในบางครั้ง การตั้งท้องอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่คุมกำเนิดเช่นกัน หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในช่วงที่ร่างกายยังคงปรับความสมดุลของฮอร์โมน จึงควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ในเดือนแรกของการเริ่มคุมกำเนิด อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการคุมกำเนิดที่ครบกำหนด การคุมกำเนิดผิดวิธี การลืมกินยาคุมกำเนิด อาจส่งผลให้เกิดการตั้งท้องได้เช่นกัน จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หรือหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือนขาด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย

    • วัยหมดประจำเดือน

    ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอาจไม่สามารถตั้งท้องตามธรรมชาติได้ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่และการตั้งท้องลดลง ส่งผลให้รังไข่ไม่ผลิตไข่อีกต่อไป จึงไม่มีการตกไข่ที่จะสามารถผสมกับอสุจิเพื่อปฏิสนธิไปเป็นตัวอ่อนได้ อย่างไรก็ตาม การตั้งท้องในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอาจเกิดขึ้นได้ โดยการปฏิสนธินอกร่างกาย เช่น เด็กหลอดแก้ว ทำกิ๊ฟ (Gamete Intrafallopian Transfer หรือ GIFT) ทั้งนี้จำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาและรับคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งท้องในวัยหมดประจำเดือนด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา