backup og meta

การล้างมือ 7 ขั้นตอน สะอาดปลอดภัย รู้ไว้ห่างไกลโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2022

    การล้างมือ 7 ขั้นตอน สะอาดปลอดภัย รู้ไว้ห่างไกลโรค

    การล้างมือ 7 ขั้นตอน เป็นวิธีการล้างมือให้สะอาดที่สุดและสำคัญที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงป้องกันการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่น โดยเฉพาะหลังการสัมผัสวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับราวรถเมล์ ราวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ทั้งนี้ การล้างมือ 7 ขั้นตอนยังสามารถประยุกต์ใช้กับการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ได้ และช่วยป้องกันโรคติดต่อได้หลายโรค อาทิ โรคท้องร่วง โรคหวัด  โรคโควิด-19

    การล้างมือ 7 ขั้นตอน

    มือนับเป็นอวัยวะหลักที่นำเชื้อโรคเข้าร่างกายได้มาก เพราะหากมือสัมผัสเชื้อโรค แล้วเผลอนำเข้าปากหรือขยี้ตา อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย การล้างมือให้สะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยการล้างมือ 7 ขั้นตอน มีดังต่อไปนี้

    • ฝ่ามือถูฝ่ามือ ฟอกฝ่ามือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ จากนั้นประกบฝ่ามือทั้ง 2 ข้างแล้วถูไปมาจนรู้สึกสะอาด
    • ฝ่ามือถูหลังมือ เมื่อถูฝ่ามือเสร็จแล้ว ให้นำฝ่ามือข้างหนึ่งประกบหลังมืออีกข้างหนึ่ง ถูจนสะอาดแล้วเปลี่ยนมือ
    • นิ้วถูซอกนิ้ว หันฝ่ามือเข้าหากัน กางออกแล้วประสานมือเข้าหากันโดยใช้นิ้วแต่ละนิ้วถูซอกนิ้วให้สะอาด
    • ฝ่ามือขัดหลังนิ้ว กำมือข้างหนึ่ง แล้วใช้ฝ่ามืออีกข้างทำความสะอาดหลังนิ้ว
    • ถูหัวแม่มือ ใช้ฝ่ามือข้างหนึ่ง กำรอบหัวแม่มืออีกข้าง แล้วหมุนไปมา
    • ขัดฝ่ามือด้วยปลายนิ้ว แบมือข้างหนึ่ง แล้วใช้ปลายนิ้วของมืออีกข้างขัดไป-มา เป็นแนวขวาง
    • ฟอกรอบข้อมือ กำมือรอบข้อมืออีกข้างหนึ่ง ถูวนไป-มา

    หากล้างด้วยสบู่ครบ 7 ขั้นตอนแล้ว ให้ล้างมือด้วยน้ำเปล่าและควรเช็ดมือให้แห้งทุกครั้ง

    ทั้งนี้ การล้างมือ 7 ขั้นตอน มักใช้เวลาประมาณ 20-30 วินาที หรือเท่า ๆ กับการร้องเพลง Happy Birthday ในกรณีใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ควรเลือกที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

    เมื่อไรควรล้างมือ 7 ขั้นตอน

    เช่นเดียวกับการล้างมือโดยทั่วไป การล้างมือ 7 ขั้นตอน ควรทำในสถานการณ์ต่อไปนี้

    • ก่อนที่จะต้องใช้มือสัมผัส ตา จมูก ปาก หรือใบหน้า
    • เมื่อพบว่ามือเปื้อน สกปรก
    • หลังปัสสาวะหรืออุจจาระ
    • หลังจากจามใส่ฝ่ามือ
    • ก่อนมื้ออาหาร หรือสูบบุหรี่
    • หลังจากสัมผัสกับวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ผัก
    • หลังจากไปทิ้งขยะ หรือสัมผัสกับพื้นผิวที่สกปรก เช่น ผ้าขี้ริ้ว
    • ก่อนหยิบยารักษาโรคมารับประทาน
    • ก่อนและหลังการทำแผล ทั้งของตัวเองและผู้อื่น
    • ก่อนและหลังการใส่และถอดคอนแทคเลนส์
    • หลังเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือหลังทำความสะอาดสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลี้ยง
    • เมื่อไปพบผู้ป่วย หรือเมื่อดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจต้องสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือเลือดของผู้ป่วย
    • หลังกลับจากใช้บริการสถานที่สาธารณะ เช่น รถประจำทาง รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน ร้านขายยา โดยเฉพาะในช่วงมีโรคระบาด เช่นในกรณีของโควิด-19

    ความเสี่ยงจากการไม่ล้างมือให้สะอาด

    หากไม่ล้างมือให้สะอาด ทำให้มีโอกาสที่จะนำเชื้อโรคจากมือเข้าสู่ร่างกายและเกิดการติดเชื้อ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อเหล่านี้ ได้แก่

    • โรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า แพร่กระจายด้วยละอองฝอยซึ่งมีเชื้อโรคและการสัมผัสบริเวณซึ่งมีเชื้อสะสมอยู่ อาการของโรคคือ มีไข้ ไอ หายใจลำบาก ปวดหัว เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ หากมีอาการรุนแรงอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
    • โรคท้องร่วง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่า (Salmonella) เชื้อแบคทีเรีย E. coli O157 หรือเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) อาจทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะหลายครั้ง ทำให้อ่อนเพลีย
    • โรคหวัด เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ตาแดง
    • โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร (Human Enteroviruses) อาจทำให้เป็นไข้ ไอ มีน้ำมูก พบตุ่มแผลในปากและบริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่นมือ ลำตัว เท้า
    • การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดข้อต่อ ปวดหัว รวมถึงอาจมีปัสสาวะหรืออุจจาระสีเข้ม

    ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาชี้ว่า การล้างมือช่วยป้องกันโรคท้องร่วงได้ราว 23-40 เปอร์เซ็นต์ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่นหวัด ได้ประมาณ 16-21 เปอร์เซ็นต์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา