backup og meta

โทษของบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 23/05/2023

    โทษของบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค

    โทษของบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก เช่น ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นปาก ฟันผุ สำหรับระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้โทษของบุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลข้างอีกด้วย โดยเฉพาะเด็กและทารก หากสูดดมควันบุหรี่บ่อย ๆ อาจมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืด โรคหัวใจ และมะเร็งปอด

    โทษของบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค

    การสูบบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

    ผลกระทบระยะสั้น 

    • มีกลิ่นปาก ฟันเปลี่ยนสี
    • ประสาทสัมผัสการรับรู้กลิ่นและรสลดลง
    • แผลหายช้า
    • ผิวดูแก่กว่าวัย
    • เพิ่มความเสี่ยงของโรคต้อกระจก
    • ระบบภูมิคุ้มกันลดลง

    นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวานชนิดที่ 2  โรคกระดูกพรุน โรคข้อรูมาตอยด์

    ผลกระทบระยะยาว 

    • โรคมะเร็ง การสูบบุหรี่อาจทำให้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดมากถึง 80% และยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร เนื่องจากควันบุหรี่มีสารเคมีหลายชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง อย่างเบนซีน แคดเมียม นิกเกิล เป็นต้น 
    • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง พบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน เนื่องจากควันบุหรี่ อาจทำให้หลอดลมอักเสบ ส่งผลให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ หายใจลำบาก 
    • โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของการสูบบุหรี่ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่ อาจเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย 
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพราะในควันบุหรี่มีสารเคมีหลายชนิด เช่น แคดเมียม ฟอร์มัลดีไฮด์ นิโคติน ที่อาจทำให้หลอดลมปอดอุดตัน ส่งผลให้ผู้ที่สูบบุหรี่มีอาการหอบ ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก 
    • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ผู้ชายที่สูบบุหรี่เป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ อาจทำเลือดไปเลี้ยงบริเวณองคชาตได้น้อยลง ส่งผลให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
    • แท้งบุตร การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตร รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ท้องนอกมดลูก ภาวะครรภ์เป็นพิษ

    ผลกระทบของการสูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่ออวัยวะส่วนใดภายในร่างกาย

    ผลกระทบของการสูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายดังต่อไปนี้

    • หัวใจ

    บุหรี่มีสารเคมีหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ เช่น สารนิโคติน สารทาร์ ซึ่งสารเหล่านี้อาจสะสมอยู่ในหลอดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพของระบบไหลเวียนเลือดลดลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

    • หู

    ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีโอกาสสูญเสียการได้ยินมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้  คลอเคลีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยรับสัญญาณเสียงในบริเวณหูชั้นในเกิดความเสียหาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการได้ยินเสียงลดลง

    • ดวงตา

    บุหรี่มีสารนิโคติน ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพดวงตา เช่น อาการตาแห้ง ต้อหิน ต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ เบาหวานขึ้นจอประสาทตา  

    • ปาก

    ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมักมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ แผลในช่องปาก เหงือกอักเสบ มะเร็งในช่องปากและคอ มีเลือดออกขณะแปรงฟัน 

    • ผิวพรรณและเส้นผม

    สารนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้คอลาเจนและอีลาสตินลดลง ส่งผลให้ผิวแห้งกร้าน ริมฝีปากคล้ำ ดูแก่กว่าวัย 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 23/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา