backup og meta

การใช้ชีวิตคู่ กับข้อควรรู้ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

    การใช้ชีวิตคู่ กับข้อควรรู้ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีอย่างยั่งยืน

    พื้นฐานสำคัญของ การใช้ชีวิตคู่ อย่างยั่งยืน อาจอยู่ที่การเอาใจใส่ รู้จักให้อภัย รู้จักปรับตัว และเคารพความคิดเห็นของกันและกัน ทั้งสองคนต้องทุ่มเทเวลา ใช้ความพยายามและความอดทนในการร่วมมือกันรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนที่สุด หากมีปัญหาเกิดขึ้น และไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือความขัดแย้งได้ด้วยตัวเอง คู่รักอาจไปพบคุณหมอ จิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดชีวิตคู่ เพื่อรับคำปรึกษาและเรียนรู้ที่จะประคองความสัมพันธ์ให้ดำรงต่อไปได้

    การใช้ชีวิตคู่ ทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ดีอย่างยั่งยืน

    วิธีเหล่านี้ อาจช่วยให้การใช้ชีวิตคู่ดีและยั่งยืนขึ้นได้

    รู้จักให้อภัย

    เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิด อีกฝ่ายอาจรู้สึกไม่พอใจหรือโกรธเคืองได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเป็นเรื่องที่สามารถให้อภัยกันได้ก็ควรพูดคุย ขอโทษ และปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยเร็วที่สุด เพราะหากฝ่ายหนึ่งยึดถือความผิดพลาดบางประการของอีกฝ่ายมาคิดในแง่ลบตลอดเวลา ก็อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ได้ การก้าวข้ามความรู้สึกโกรธเคืองเมื่อคู่รักทำเรื่องผิดพลาดบางประการไปได้ อาจช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนขึ้นได้

    ปรับมุมมองการใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกัน

    ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนควรมีเป้าหมายชีวิตในทิศทางเดียวกัน และมีทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ ใกล้เคียงและไม่ขัดแย้งกันเอง เช่น เรื่องครอบครัว สังคม วัฒนธรรม เพื่อที่จะสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างลื่นไหล นอกจากนี้ คนทั้งคู่อาจต้องให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตที่คล้ายคลึงกัน เช่น ต่างคนต่างก็ให้ความสำคัญกับการดูแลครอบครัว ตั้งใจเลี้ยงดูลูกให้มีชีวิตที่มีคุณภาพ หรือทั้งคู่อาจให้ความสำคัญกับการสะสมทรัพย์และการลงทุน เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันทำตามเป้าหมายไปด้วยกันได้ในระยะยาว

    เอาใจใส่กันอยู่เสมอ

    เมื่อใช้ชีวิตร่วมกันมาสักพักหนึ่ง คู่รักบางคู่อาจเกิดความเคยชินจนละเลยความรู้สึกของคนข้างตัว ดังนั้น จึงควรหมั่นเติมความหวานและความห่วงใยด้วยการถามสารทุกข์สุกดิบกันทุก ๆ วัน บอกรัก หรือแสดงความรักกันอยู่เสมอ เช่น กอด หอมแก้ม ห่มผ้าห่มให้อีกฝ่าย การแสดงความใส่ใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่คู่รักสามารถทำให้กันได้ในทุกวัน ซึ่งอาจช่วยให้รู้สึกว่ายังมีความห่วงใยและความรักให้กันเหมือนเดิม นอกจากนี้ กิจกรรมทางเพศก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตคู่ เพราะอาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้มั่นคง ไม่จืดจางไปตามกาลเวลา และหากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ หรือมีความต้องการทางเพศที่ไม่ตรงกัน ควรหาทางปรับหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากปล่อยไว้ อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ได้

    สื่อสารกันเป็นประจำ

    การสื่อสารคือกุญแจสำคัญสำหรับทุกความสัมพันธ์ รวมไปถึงการใช้ชีวิตคู่ด้วย หากมีเรื่องไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น คู่รักควรสื่อสารกันตรง ๆ และรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย ไม่ใช้อารมณ์ เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง และรีบหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากพูดคุยทำความเข้าใจกันแล้ว ควรปรับตัวเข้าหากันด้วย การสื่อสารที่ดีระหว่างคู่รักจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เนื่องจากต่างคนต่างเข้าใจในเหตุผลของกันและกันมากขึ้น

    เคารพและให้เกียรติกัน

    คู่รักควรมีความเคารพและให้เกียรติกันในเรื่องต่าง ๆ  เช่น

  • เคารพความเป็นส่วนตัว ทุกคนต่างต้องการพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองบ้างในบางครั้ง ควรปล่อยให้คู่รักของตัวเองมีเวลาส่วนตัว ไม่กดดันหรือบังคับให้ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา เพราะอาจทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยมีระยะห่างอย่างพอดี อาจทำให้แต่ละฝ่ายสบายใจขึ้น และช่วยเสริมสร้างความเชื่อใจกัน ซึ่งอาจช่วยให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนขึ้นได้
  • เคารพความคิดเห็นของกันและกัน เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ควรเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ออกความเห็น และไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าความเห็นของตัวเองไม่สำคัญ การเคารพและใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่ายจะทำให้เกิดความรู้สึกเท่าเทียมกัน และส่งผลให้ต่างคนต่างรับฟังและให้คุณค่ากับความคิดเห็นของกันและกันเสมอในทุกครั้งที่พูดคุยกัน
  • พยายามใช้เวลาร่วมกันบ่อย ๆ

    บางครั้งการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยในแต่ละวัน หรือการทุ่มเทเวลาเลี้ยงลูกอาจทำให้คู่รักได้ใช้เวลาร่วมกันน้อยลง จนเกิดความห่างเหินกันและทำให้ความหวานที่มีจืดจางลงได้ เมื่อกลับถึงบ้าน ควรพูดคุยกันหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เจอในแต่ละวันบ้าง และอาจหาเวลาว่างหลังเลิกงานหรือวันหยุด เพื่อไปทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกัน เช่น การรออกไปเที่ยวนอกบ้าน การไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ การไปซื้อของเข้าบ้านด้วยกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มั่นคง

    ปัญหาชีวิตคู่ที่อาจต้องขอความช่วยเหลือ

    ปัญหาชีวิตคู่ที่เป็นสัญญาณว่าอาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือจิตแพทย์ หรืออาจต้องเข้ารับการบำบัดเกี่ยวกับชีวิตคู่ อาจมีดังนี้

    • มีปัญหาเรื่องอารมณ์หึงหวงที่รุนแรง คิดเสมอว่าอีกฝ่ายมีคนอื่นหรือนอกใจ
    • มีการใช้ความรุนแรง เมื่อเกิดปัญหาภายในบ้าน
    • รู้สึกไม่มีความสุขจนไม่อยากอยู่ในความสัมพันธ์อีกต่อไป
    • มีปัญหาด้านความผูกพันทางอารมณ์ (Attachment anxiety) ทำให้รู้สึกกังวลและไม่มั่นคงเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ รู้สึกว่าตัวเองไม่สมควรได้รับความรัก จึงไม่แน่ใจในความรักที่คนอื่นมอบให้ และกังวลว่าจะโดนทอดทิ้งในภายหลัง จนเกิดความรู้สึกแง่ลบต่อทั้งตัวเองและคู่รัก และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา