backup og meta

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำคัญอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    ของเล่นเสริมพัฒนาการ สำคัญอย่างไร

    ของเล่นเสริมพัฒนาการ เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะด้านร่างกาย การเรียนรู้ อารมณ์และสังคมได้อย่างสนุกสนาน ช่วยสร้างคุณค่าในตนเอง ทำให้เด็กรู้สึกถึงความสามารถและรู้สึกดีกับตัวเอง โดยของเล่นเสริมพัฒนาการอาจแบ่งเป็นของเล่นกิจกรรมสร้างสรรค์และเสริมการเรียนรู้ ซึ่งความยากง่ายและรูปแบบของเล่นอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และพัฒนาการที่เหมาะสมในช่วงวัยนั้น

    ของเล่นเสริมพัฒนาการสำคัญอย่างไร

    การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกช่วงวัย เนื่องจากช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางด้านสุขภาพกายใจ การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ภาษา และความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและเพื่อนฝูง เด็กจะใช้จินตนาการเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน เคารพและเข้าใจการอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กและใหญ่ผ่านการเล่น

    จากงานวิจัย The Efficiency of Infants’ Exploratory Play Is Related to Longer-Term Cognitive Development 2018 ระบุว่า การเล่นเชิงสำรวจในวัยเด็กมีส่วนช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทักษะทางสติปัญญา อารมณ์และสังคม นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว (IQ) ของเด็กในด้านต่าง ๆ เช่น ความสามารถทางการพูดและการสื่อสาร ความจำและการแก้ปัญหา

    การเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจะยิ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ เช่น เด็กวัยทารกรู้จักจ้องมอง ใช้กล้ามเนื้อหยิบจับสิ่งของ ฟังเสียงเพื่อเรียนรู้อารมณ์และความรู้สึก เด็กวัยหัดเดินรู้จักแก้ปัญหาผ่านของเล่นต่อภาพ เรียนรู้รูปทรงต่างๆ สร้างเสริมจินตนาการด้วยชุดของเล่นงานฝีมือ

    ประเภทของเล่นเสริมพัฒนาการ

    ของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างความสมดุลร่างกายและเสริมสร้างทักษะของเด็กอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ของเล่นการเรียนรู้ ได้แก่ หนังสือ วิดีโอ คอมพิวเตอร์ ปริศนา และเกมกระดาน เกมเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งทางภาษา ทักษะการอ่านและคิดวิเคราะห์ รวมถึงความสนุกในการรับชมทั้งโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ช่วยให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเพิ่มความสัมพันธ์
  • ของเล่นกิจกรรม เช่น ลูกบอล รสสามล้อ จักรยาน รองเท้าสเก็ต กระโดดเชือก ช่วยพัฒนาการประสานงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และมัดเล็ก ระบบประสาท รวมถึงความสมดุลในการทรงตัว นอกจากนี้ อาจเพิ่มกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เช่น ทำสวน สำรวจสิ่งแวดล้อม เดินชมธรรมชาติร่วมกัน เพื่อเสริมประสบการณ์ให้กับเด็ก นอกจากเด็กๆได้ความสนุกแล้ว ผู้ปกครองยังสามารถสอดแทรกกิจกรรมคิดแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
  • ของเล่นสร้างสรรค์ เป็นของเล่นที่กระตุ้นการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก โดยให้เด็กสร้างสรรค์ผลงานด้วยดินสอสี สีน้ำ ดินเหนียว ดินน้ำมัน หรือชุดงานฝีมือ เด็กจะเรียนรู้มากขึ้นจากคำแนะนำของผู้ปกครอง และรู้สึกภูมิใจมากขึ้นเมื่อผลงานสำเร็จและได้รับคำชื่นชม
  • ของเล่นเสริมพัฒนาการแต่ละช่วงวัย

    ของเล่นเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และพัฒนาการที่เหมาะสมในช่วงวัยนั้น ดังนี้

    ของเล่นสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน

    วัยทารกเป็นวัยที่ชอบมองผู้คนและสิ่งรอบตัว มักตื่นเต้นและให้ความสนใจกับสิ่งที่มือหรือเท้าสัมผัสได้ หรือเสียงที่ได้ยิน ของเล่นที่เหมาะกับเด็กในช่วงวัยนี้ ได้แก่

    • สิ่งของที่เด็กสามารถหยิบจับ ดูด เขย่า มีเสียง เช่น ของเล่นที่บีบได้ เขย่าแล้วมีเสียง ของเล่นที่กัดได้ ตุ๊กตา หรือลูกบอลที่มีลักษณะแปลกตา
    • เนื้อสัมผัสแบบต่างๆ
    • สิ่งของที่เด็กดูได้ เช่น ภาพวาดรูปสัตว์ รูปการ์ตูน ของเล่นรูปร่างต่าง ๆ สีสันสดใสที่แขวนไว้ที่สูง ของเล่นที่ขยับได้ช่วยกระตุ้นความสนใจได้ดี
    • สิ่งที่ใช้ฟัง เช่น เพลงกล่อมเด็กนอน (คุณพ่อคุณแม่สามารถร้องกล่อมเด็กได้เช่นกัน) หนังสือนิทานเสียง

    ของเล่นสำหรับเด็กอายุ 7-12 เดือน

    เด็กในช่วงวัยนี้ชอบเคลื่อนไหว เช่น นั่ง คลาน พลิกตัว เด็กเริ่มเข้าใจคำศัพท์บางคำ สามารถระบุสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่

    • ของเล่นที่เป็นเหมือนเพื่อน เช่น ตุ๊กตาทารก หุ่นยนต์ รถไขลาน
    • ของเล่นที่กลิ้งได้หรือต้องใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ลูกบอล ของเล่นสร้างบ้าน
    • ของเล่นที่ต้องใช้ความสร้างสรรค์ เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้สร้างสรรค์
    • ของเล่นที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ลูกบอลขนาดใหญ่ ของเล่นที่ต้องใช้แรงผลักและดึง เครื่องเล่นที่ต้องใช้การย่อตัวหรือคลาน

    ของเล่นสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบ

    เด็กช่วงวัยนี้ชอบเดินไปรอบ ๆ เพื่อสำรวจ ชอบฟังนิทาน ชอบพูด และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่

    • หนังสือนิทานเรื่องสั้น ๆ หรือหนังสือให้ความรู้พร้อมภาพประกอบที่เข้าใจง่าย หรือรูปถ่ายจากของจริง
    • นิทานเสียง เรื่องเล่า หรือเพลงที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย พร้อมรูปภาพประกอบ
    • ของเล่นที่ให้เด็กสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง เช่น กระดานวาดรูป ดินสอสี
    • ของเล่นที่สร้างความสนุกและเพลิดเพลิน เช่น โทรศัพท์ของเล่น ตุ๊กตา รถเข็นเด็ก อุปกรณ์แต่งตัว รถจำลองสำหรับเด็กที่ทำจากไม้และพลาสติกที่ปลอดภัย
    • ของเล่นที่ต้องใช้ทักษะการสร้างหรือต่อ เช่น ตัวต่อ บล็อกไม้สร้างสรรค์รูปทรงต่าง ๆ
    • สิ่งของสำหรับใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก เช่น ลูกบอลขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก

    ของเล่นสำหรับเด็กวัยหัดเดิน อายุ 2 ขวบ

    เด็กวัยหัดเดินเป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้ภาษาอย่างรวดเร็ว และอาจชอบเล่นหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังกาย เช่น กระโดดจากที่สูง ปีนป่าย กลิ้งตัว ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่

    • ของเล่นที่เสริมทักษะการแก้ปัญหา เช่น จิ๊กซอว์ไม้ จิ๊กซอว์ภาพง่าย ๆ
    • ของเล่นที่ต้องใช้ทักษะการสร้างหรือต่อ ใช้ความจำในการเล่นเลียนแบบชีวิตประจำวัน เช่น ชุดก่อสร้าง เสื้อผ้าแต่งตัว ตุ๊กตาพร้อมเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก เช่น ชุดครัว เก้าอี้ ของกินเล่น
    • ของเล่นเสริมทักษะด้านศิลปะ เช่น ดินสอสี ปากกามาร์คเกอร์ปลอดสารพิษ แปรงทาสี กระดานหรือกระดาษขนาดใหญ่สำหรับวาดภาพและระบายสี เครื่องดนตรีของเล่น
    • หนังสือภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น
    • เครื่องเล่นเสียง หรือวิดีโอการ์ตูน หรือเพลง ที่สอดแทรกความรู้ง่ายๆ เช่นการชี้บอกอวัยวะต่างๆของร่างกายตนเอง
    • สิ่งของที่ใช้กล้ามเนื้อขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น ลูกบอลสำหรับเตะและขว้าง อุปกรณ์นั่งเล่น อุโมงค์ที่นิ่มและปลอดภัยให้เด็กสามารถย่อตัวเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

    ของเล่นสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนและอนุบาล อายุ 3-6 ขวบ

    เด็กวัยเรียนจะเริ่มพูดคุยและมีคำถามมากมาย ของทดลองกับสิ่งของและมีทักษะทางร่างกายเพิ่มขึ้น ชอบการเล่นกับเพื่อนและการเอาชนะ ของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ได้แก่

    • อุปกรณ์เสริมทักษะด้านศิลปะ เช่น ดินสอสี ปากกามาร์กเกอร์ปลอดสารพิษ พู่กัน กระดานหรือกระดาษขนาดใหญ่และขนาดเล็กสำหรับวาดภาพและระบายสี กรรไกรสำหรับเด็ก ดินเหนียว แป้งโดว์ เครื่องดนตรี
    • ของเล่นฝึกทักษาการแก้ปัญหา เช่น ปริศนาที่ยากมากขึ้น ของเล่นที่ใช้การจัดเรียงวัตถุตามความยาว ความกว้าง ความสูง รูปร่าง สี กลิ่น ปริมาณ
    • ของเล่นที่ต้องใช้ทักษะการสร้างหรือต่อเพิ่มขึ้น เช่น ตัวต่อ ชุดก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก เสื้อผ้าแต่งตัว ตุ๊กตาพร้อมเครื่องประดับ
    • เครื่องเล่นเสียง หรือวิดีโอการ์ตูน หรือเพลง
    • ที่อาจสอดแทรกจริยธรรมง่ายๆ เช่น การแบ่งปัน
    • หนังสือภาพที่มีคำและภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น ใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อยเพื่อกระตุ้นการสื่อสารที่ดี
    • สิ่งของที่ใช้กล้ามเนื้อขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น ลูกบอลใช้สำหรับเตะ ขว้างและจับ อุปกรณ์นั่งเล่น เช่น รถสามล้อ ไม้ตีและลูกบอลพลาสติก ปาเป้าพลาสติก อุโมงค์ที่นิ่มและปลอดภัยให้เด็กสามารถย่อตัวเสริมสร้างกล้ามเนื้อ อุปกรณ์เลียนแบบการทำงานในชีวิตประจำวันได้จริง เช่น ไม้กวาดเด็ก จอบพรวนดินเล็กๆ ที่ตักทราย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา