backup og meta

ลูกผิวแห้ง ปัญหากวนใจ ที่คุณแม่ไม่อาจละเลย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/05/2022

    ลูกผิวแห้ง ปัญหากวนใจ ที่คุณแม่ไม่อาจละเลย

    ลูกผิวแห้ง อาจเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก โดยสาเหตุที่ทำให้ลูกผิวแห้งอาจขึ้นตามธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่ในบางครั้ง อาการผิวแห้งที่เกิดขึ้นก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคทางพันธุกรรม ดังนั้น การดูแลทำความสะอาดผิว รวมถึงการบำรุงผิวอย่างถูกต้อง อาจช่วยแก้ปัญหาผิวแห้งและทำให้สุขภาพผิวของลูกแข็งแรง

    ลูกผิวแห้ง เป็นอันตรายอะไรหรือไม่

    อาการผิวแห้งของลูกอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจ หรือไม่แน่ใจว่าอาการผิวแห้งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณของภาวะที่เป็นอันตรายหรือไม่ โดยปกติแล้ว อาการผิวแห้งของเด็กมักจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นประจำ และสามารถจัดการได้ง่าย ๆ เพียงแค่บำรุงผิวให้ถูกต้อง

    ในบางครั้ง อาการผิวแห้งของลูกอาจมีสาเหตุมาจากโรคผิวหนังอักเสบหรือโรคทางพันธุกรรม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาโรคอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ คุณหมอยังอาจตรวจสอบดูว่ามีสัญญาณของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น มีหนอง มีอาการบวมตามรอยแตกแห้งของผิวด้วยหรือไม่

    สาเหตุที่ทำให้ลูกผิวแห้ง

    ผิวของทารกและเด็กเล็กมีความบอบบางเป็นอย่างมาก ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง และความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จนอาจนำไปสู่ปัญหาผิวแห้งได้ โดยสาเหตุที่อาจทำให้ลูกผิวแห้งอาจมีดังนี้

    สภาพอากาศ

    อากาศที่เย็นและแห้งอาจทำลายชั้นไขมันที่ปกป้องผิว ทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดเป็นผิวแห้ง แตก และกระด้าง นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนจัดก็อาจทำให้ผิวของเด็กเกิดอาการแห้งได้เช่นกัน เนื่องจากแสงแดดในช่วงหน้าร้อน อากาศในห้องปรับอากาศ และการสูญเสียเหงื่อที่มากจนเกินไป อาจทำให้เด็กขาดน้ำ และส่งผลให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นและแห้ง

    เป็นตั้งแต่แรกเกิด

    เด็กทารกหลายคนอาจจะมีผิวแห้งและลอกทันทีตั้งแต่หลังคลอด โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ขึ้นไป และอาการอาจดีขึ้นเองเมื่อโตขึ้น

    อาบน้ำบ่อยเกินไป

    การอาบน้ำให้ลูกบ่อยเกินไปอาจเป็นการทำลายน้ำมันตามธรรมชาติบนผิวหนัง ทำให้ผิวหนังไม่สามารถกักเก็บความชุ่นชื้นไว้ได้ และเกิดเป็นอาการผิวแห้ง หรืออาจจะทำให้ผิวที่แห้งอยู่แล้ว มีอาการรุนแรงขึ้น

    โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema)

    ในบางครั้ง อาการผิวแห้งของลูกอาจเกิดจากโรคผิวหนังอักเสบ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดอาการผิวแห้ง แดง และมีอาการคัน สาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังอักเสบนั้นยังไม่เป็นทราบอย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคผิวหนังอักเสบกำเริบ คือ การเปิดรับกับสารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น สบู่ ยาสระผม หรืออาจจะเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมและถั่วเหลืองต่าง ๆ

    โรคหนังเกล็ดปลา (Ichthyosis)

    อาการผิวแห้งและผิวลอกอาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมอย่างโรคหนังเกล็ดปลา ซึ่งอาจทำให้ผิวเกิดอาการคัน ตกสะเก็ด และลอกออก ดูคล้ายกับเกล็ดปลา โดยโรคนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งตัว หรือเป็นเพียงแค่บางส่วนของผิวนั้น ทั้งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการเท่านั้น

    เทคนิคการดูแลเมื่อลูกผิวแห้ง

    อย่าอาบน้ำนาน

    การอาบน้ำจะชะล้างคราบสกปรก รวมไปถึงน้ำมันตามธรรมชาติบนผิวหนัง ที่ช่วยปกป้องผิวและกักเก็บความชุ่มชื้นของผิว ดังนั้น จึงไม่ควรอาบน้ำให้ลูกนานจนเกินไป ระยะเวลาการอาบน้ำที่เหมาะสม คือ ประมาณ 10 นาที นอกจากนี้ น้ำที่ใช้อาบก็ไม่ควรใช้น้ำร้อน แต่เลือกเป็นน้ำอุ่นที่ผสมสบู่เล็กน้อย

    หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ผสมน้ำหอม

    ในการอาบน้ำให้ลูกน้อย ควรเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวของเด็ก ไม่ผสมน้ำหอม หรือสารเคมีที่อาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิว นอกจากนี้ อาจผสมเบบี้ออยล์ลงไปในน้ำที่อาบเล็กน้อย เพื่อให้น้ำมันช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวได้ดียิ่งขึ้น และอาจช่วยป้องกันปัญหาผิวแห้ง

    บำรุงผิวด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์

    หลักจากที่อาบน้ำให้ลูกเสร็จแล้ว ควรซับน้ำให้แห้งด้วยผ้าขนหนูที่สะอาด แล้วทามอยเจอร์ไรเซอร์หรือเบบี้ออยล์ให้ทั่วร่างกาย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของผิว รวมทั้งไม่ทำให้ผิวสูญเสียความร้อนและน้ำมากจนเกินไป โดยควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ที่เหมาะสมกับผิวของลูก ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือทำให้รู้สึกแสบขณะใช้

    ดื่มน้ำให้เพียงพอ

    ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และรักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย หากลูกได้รับน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น เหี่ยวย่น และผิวแห้งได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา