backup og meta

ทักษะชีวิต ที่เด็กแต่ละช่วงวัยควรเรียนรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    ทักษะชีวิต ที่เด็กแต่ละช่วงวัยควรเรียนรู้

    คนเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ แต่นอกจากทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน หรือวิชาเรียนในตำรา เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ที่เด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่แล้ว ทักษะชีวิต ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เด็ก ๆ ควรเรียนรู้เอาไว้ เพื่อให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

    ทักษะชีวิต สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย

    เด็กวัยเตาะแตะ และเด็กก่อนวัยเรียน (เด็กเล็ก)

    • เก็บของเล่นใส่ตะกร้า

    เด็กวัยเตาะแตะเป็นวัยที่ชอบหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ใส่ลงตะกร้า เราเลยอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองฝึกให้เขาได้ลองเก็บของเล่นใส่ตะกร้า และหยิบของเล่นออกจากตะกร้า เพราะวิธีนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างทักษะการหยิบจับสิ่งของให้กับลูกน้อยแล้ว ยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือให้กับลูกได้ด้วย

    • แต่งตัวเอง

    คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะอยากให้ลูกแต่งตัวเข้าชุดกัน เพราะรู้สึกว่าดูน่ารักน่าเอ็นดู ก็เลยเป็นคนเลือกเสื้อผ้าให้ลูกใส่เองมาโดยตลอด แต่เราอยากบอกว่า ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้แต่งตัวเองดูบ้าง โดยอาจจะคอยแนะนำเขาว่า เสื้อผ้าชิ้นนี้ต้องใส่อย่างไร แต่อย่าไปกะเกณฑ์หรือบังคับให้เขาเลือกเสื้อตัวนี้กับกางเกงตัวนั้น เพราะเห็นว่ามันเข้ากันดี แม้ในช่วงแรก ๆ การมิกซ์แอนด์แมทช์เสื้อผ้าของลูกอาจจะดูไม่โอเคเท่าไหร่ แต่ก็อย่าไปปิดกั้นจินตนาการของเขา เพราะนานวันไป ทักษะในการแมทช์เสื้อผ้าของเขาก็จะพัฒนาขึ้นเอง และจะส่งผลดีต่อการเลือกสรรสิ่งอื่น ๆ ของเขาด้วย

    • เก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้วลงตะกร้า

    หลายคนอาจคิดว่า การเก็บเสื้อผ้าที่ใส่แล้วลงตะกร้าดูจะเป็นภารกิจที่หนักเกินไปสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ หรือเด็กก่อนวัยเรียน แต่จริง ๆ แล้ว การสอนให้ลูกรู้จักเก็บเสื้อผ้าที่ตัวเองใส่แล้วลงในตะกร้าตั้งแต่ยังเด็ก เป็นอีกหนึ่งวิธีในการฝึกความรับผิดชอบให้ลูกได้อย่างดีมาก นี่จึงเป็นทักษะชีวิตอีกหนึ่งอย่างที่ควรฝึกให้เขาทำเป็นเองตั้งแต่ยังเด็ก

    เด็กประถม

    • จดจำเบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่

    ความสามารถพื้นฐานอย่างหนึ่งของโทรศัพท์มือถือก็คือ การบันทึกเบอร์ติดต่อ ซึ่งถือเป็นฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกให้กับคนทุกเพศทุกวัยได้เป็นอย่างดี แต่ความสะดวกนี้ก็มาพร้อมกับผลเสียก็คือ ทำให้คนส่วนใหญ่จดจำเบอร์โทรศัพท์สำคัญ หรือแม้แต่เบอร์ของคนใกล้ตัวไม่ได้ หากโทรศัพท์มือถือเกิดแบตเตอรีหมดขึ้นมา ก็ติดต่อใครไม่ได้เลย เพราะจำเบอร์ไม่ได้

    เพราะเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกจดจำเบอร์โทรศัพท์เอาไว้ให้ขึ้นใจ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือ สมุดโน้ต หรือเครื่องมือช่วยจำอื่น ๆ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ผลัดหลงกัน เขาจะได้ไหว้วานให้ผู้อื่นช่วยติดต่อให้ได้

    • รับมือกับเหตุฉุกเฉิน

    ทักษะการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะชีวิตที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเรียนรู้ไว้แต่เนิ่น ๆ ควรให้ลูกฝึกรับมือกับเหตุฉุกเฉินหากเขาอยู่ตามลำพัง เช่น ไฟไหม้ ได้รับบาดเจ็บ และอย่าลืมให้เขาจดจำเบอร์ฉุกเฉินต่าง ๆ เอาไว้ด้วย เช่น 191 (แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย) 199 (แจ้งอัคคีภัย) และทางที่ดี ควรให้ลูกได้ฝึกในสถานการณ์จำลอง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมา เขาจะได้ไม่ตื่นตระหนก และรับมือได้อย่างดีที่สุด

    เด็กมัธยมต้น

    • รู้จักเอ่ยคำว่า “ขอโทษ”

    คำว่า “ขอโทษ” น่าจะเป็นคำที่พูดออกมาได้ยากมากที่สุดคำหนึ่งสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่เนื่องจากคำนี้ถือเป็นอีกหนึ่งคำพูดที่สำคัญมากในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และเด็กในวัยมัธยมต้นก็ถือเป็นวัยที่เริ่มเข้าสังคมมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกในวัยนี้กล้าเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ออกมาเมื่อเขารู้ตัวว่าทำผิด และหากอยากให้ลูกรู้ว่าควรเอ่ยคำว่าขอโทษในสถานการณ์ใดบ้าง เราแนะนำให้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขา จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วยิ่งขึ้น

    • เรียนรู้และยอมรับในความแตกต่าง

    อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า เด็กวัยมัธยมต้นเริ่มเข้าสังคมมากขึ้น นั่นทำให้เขาอาจได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมากมาย เช่น เห็นคนที่นั่งรถวีลแชร์ เห็นคนต่างเชื้อชาติต่างสีผิว จึงควรสอนให้เขารู้จักเรียนรู้และยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น ให้เขาได้รับรู้ว่า ทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน แม้จะแตกต่างกันไปบ้าง ก็อยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องโดนบูลลี่ (ฺBully) หรือโดนมองว่าไม่เข้าพวก

    สอน ทักษะชีวิต ให้ลูกยังไงให้ทำได้จริง

    นอกจากทักษะชีวิตที่เรากล่าวถึงข้างต้นแล้ว ก็ยังมีทักษะอีกมากมายที่ควรให้เด็กแต่ละช่วงวัยเรียนรู้เอาไว้ และเคล็ดลับที่เรานำมาฝากต่อไปนี้ ก็จะช่วยให้ฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็นให้กับลูกได้ง่ายยิ่งขึ้น

    • ควรรอจนรู้สึกว่าลูกพร้อมเรียนรู้ทักษะนั้น ๆ แล้วจริง ๆ อย่ายัดเยียด หรือบีบบังคับ
    • ทำตัวเป็นแบบอย่าง เพราะจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
    • อย่าโมโห หรือโวยวาย หากลูกยังทำสิ่งที่สอนยังไม่ได้ เพราะทักษะต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ฝึกฝนทั้งสิ้น
    • ให้กำลังใจหรือให้รางวัลลูกบ้าง เขาจะได้รู้ว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง อย่าเอาแต่ดุด่าว่ากล่าวเวลาที่เขาทำผิด เพราะจะยิ่งทำให้เขาเข็ดขยาด และไม่อยากทำกิจกรรมนั้น ๆ อีก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา