backup og meta

นิทาน เด็ก เสริมสร้างพัฒนาการเด็กอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    นิทาน เด็ก เสริมสร้างพัฒนาการเด็กอย่างไร

    นิทาน เด็ก เป็นหนังสือที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการทางสติปัญญา การฟัง การพูด ภาษา อารมณ์ จิตใจและสังคม รวมถึงช่วยให้เด็กมีจินตนาการ ช่วยขัดเกลาจิตใจ เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้อีกด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่านิทานให้เด็กฟังได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับวัย จะยิ่งสามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในทุกด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    นิทาน เด็ก สามารถเริ่มเล่าได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

    การเล่านิทานให้เด็กฟังอาจช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่านิทานให้เด็กฟังได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ เนื่องจากการพูดคุยกับทารกในครรภ์อาจจะช่วยทำให้สมองและระบบประสาทที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่านิทานเด็กด้วยการใช้น้ำเสียง อารมณ์ และความรู้สึกเข้าไปในเนื้อเรื่อง ซึ่งทารกในครรภ์จะสามารถสัมผัสได้และอาจตอบสนองออกมาด้วยการดิ้นและเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดี และเมื่อทารกคลอดออกมาจนกระทั่งเติบโตขึ้น เด็กจะเริ่มมีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น มีความสนใจสิ่งแวดล้อมและหนังสือตรงหน้า การเลือกนิทานเด็กให้เหมาะสมกับวัยและวิธีการเล่านิทานให้น่าสนใจก็สามารถช่วยดึงดูดใจและช่วยเสริมทักษะของเด็กในด้านอื่น ๆ ได้ด้วย

    นิทาน เด็ก มีประโยชน์อย่างไร

    ประโยชน์ของนิทานเด็ก อาจมีดังนี้

  • ช่วยเพิ่มจินตนาการ นิทานเด็กอาจช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น รวมถึงช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก เนื่องจาก เด็กแต่ละคนมีความคิดและจินตนาการไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจนำนิทานไปเชื่อมโยงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือบางคนอาจสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ ขึ้นมา จึงสามารถช่วยพัฒนาทักษะทางความคิดและสมองของเด็กได้
  • ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา การอ่านนิทานให้เด็กฟังทำให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จึงอาจช่วยให้เด็กได้ฝึกพูดและฝึกออกเสียงคำนั้น ๆ หรืออาจเริ่มเชื่อมประโยคได้ ทำให้ทักษะทางภาษาและการสื่อสารดีขึ้น
  • ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ นิทานที่มีเนื้อเรื่องแนวผจญภัย การสำรวจหรือมีเกร็ดความรู้ อาจช่วยเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจตั้งคำถามง่าย ๆ ในระหว่างเล่านิทานเพื่อให้เด็กฝึกคิดตาม  และได้มีส่วนร่วมในการตอบคำถาม เช่น คิดว่าเจ้าชายจะช่วยเจ้าหญิงได้อย่างไร เจ้าหมีจะสามารถช่วยเพื่อนได้หรือไม่ เพื่อให้เด็กแสดงความคิดเห็น และใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งช่วยเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยสร้างสมาธิ การเลือกนิทานเด็กที่สนุกเหมาะกับวัย พร้อมกับการใช้น้ำเสียงงเล่านิทานที่ดึงดูดใจ จะช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น รวมถึงอาจช่วยทำให้เด็กรู้สึกอยากรู้อยากเห็น อยากติดตามว่าหน้าต่อไปจะมีเรื่องราวอะไรรออยู่และตอนจบจะเป็นอย่างไร
  • ช่วยเสริมพัฒนาการทางอารมณ์  การเล่านิทานเด็กโดยใช้นำเสียงเหมาะสม สนุกสนานตามเนื้อเรื่อง อาจช่วยทำให้เด็กรู้สึกมีความสุขและสนุกสนาน ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความเครียดทางจิตใจและอารมณ์ รวมถึงอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของเด็กได้ด้วย
  • ช่วยขัดเกลาจิตใจและศีลธรรม นิทานเด็กส่วนใหญ่จะสอดแทรกคุณธรรม คติธรรมและจริยธรรมเข้าไปในเรื่องด้วย ซึ่งอาจช่วยขัดเกลาจิตใจของเด็กได้ นอกจากนี้ ในระหว่างเล่านิทานคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถแนะนำหรือเพิ่มคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของคุณธรรมให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
  • ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคม การเล่านิทานให้เด็กฟังอาจช่วยเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะการได้ใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครับอาจทำให้ความรักและความสัมพันธ์ของคุณพ่อคุณแม่กับลูกแน่นแฟ้นมากขึ้น
  • ประเภทของนิทานที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

    เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกนิทานเด็กให้เหมาะสมกับวัย ซึ่งอาจมีดังนี้

    • นิทานเด็กแรกเกิด ควรเลือกหนังสือนิทานเด็กที่มีสีสันสดใส เป็นรูปภาพ มีขนาดใหญ่ เพราะจะช่วยดึงดูดเด็กแรกเกิดและช่วยพัฒนาการมองเห็นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ อาจเลือกนิทานเด็กที่มีลักษณะรูปร่างและพื้นผิวที่แตกต่างกัน หรือมีเสียงประกอบ เพื่อให้เด็กได้ฝึกการสัมผัส การได้ยินและการมองเห็น ไม่จำเป็นต้องเน้นการเล่าเนื้อเรื่องจนจบ
    • นิทานเด็กทารกและเด็กเล็ก อายุ 12-18 เดือน เด็กในวัยนี้มักให้ความสนใจกับหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเป็นคำง่าย ๆ มีจังหวะ คล้องจองหรือมีเสียงดนตรีประกอบ คุณพ่อคุณแม่จึงอาจเลือกหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับอาหาร สัตว์ รถ หรือมีรูปคน รวมถึงอาจมีลักษณะที่เป็นภาพประกอบแบบป๊อปอัพ มีพื้นผิวที่แตกต่างกัน และมีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งอาจช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ภาษา การมองเห็นและการฟังได้
    • นิทานเด็กวัยหัดเดิน อายุ 18 เดือน ถึง 3 ปี เด็กวัยนี้ควรเลือกหนังสือนิทานที่มีเนื้อเรื่องยาวมากขึ้น และมีคำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาจเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบ ภาพป๊อปอัพ มีเสียงและมีพื้นผิวแตกต่างกัน โดยอาจเป็นหนังสือให้ความรู้ หนังสือเกี่ยวกับการผจญภัย เช่น เจ้าชายกับเจ้าหญิง นางฟ้า สัตว์ ดวงดาว รถยนต์ ซึ่งอาจช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและเสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็ก
    • นิทานเด็กก่อนวันเรียน เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกหนังสือนิทานที่มีตัวหนังสือมากขึ้น สามารถเล่าเรื่องได้ยาวขึ้น หรืออาจมีความซับซ้อนของเรื่องราว เพราะอาจช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เด็กมักพบเจอเพื่อให้เด็กหัดขบคิดแก้ปัญหา และะช่วยเสริมทักษะทางภาษาและการสื่อสาร หรืออาจเลือกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กได้พัฒนาความถนัดและความชอบของตัวเอง หรือเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับโรงเรียน เพื่อน ครอบครัว เพื่อให้เด็กเรียนรู้การเข้าสังคม

    วิธีการเล่านิทานให้เด็กฟัง

    การเล่านิทานให้เด็กฟังอาจช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และอาจช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกกับนิทานเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการเล่าต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก

  • ควรเลือกสถานที่และบรรยากาศประจำในการอ่านหนังสือ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาในการอ่านนิทานอย่างน้อย 1 เล่ม ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อทำให้เด็กคุ้นชินและเพิ่มความสนใจในการอ่านหรือฟังนิทาน
  • ควรปิดโทรทัศน์ วิดีโอเกม โทรศัพท์ และสร้างบรรยากาศให้เงียบสงบในระหว่างเล่านิทาน เพื่อไม่ให้มีสิ่งรบกวนและช่วยทำให้เด็กมีสมาธิอยู่กับนิทาน
  • ควรให้เด็กนั่งบนตักหรือบริเวณที่สามารถมองเห็นหนังสือนิทานได้อย่างชัดเจน หรือกึ่งนอนกึ่งนั่งอย่างสบายๆ
  • ควรใช้น้ำเสียงและอารมณ์ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เพื่อดึงดูดให้เด็กสนใจในนิทานมากขึ้น
  • ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในนิทาน โดยอาจตั้งคำถามระหว่างเล่า เน้นคำที่ต้องการให้เด็กจดจำ หรือให้เด็กชี้รูปภาพตาม เพื่อเพิ่มจิตนาการ สมาธิ การคิดวิเคราะห์และความสนุก
  • เมื่อเด็กโตขึ้นและสามารถตัดสินใจเองได้ ควรให้เด็กเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบและเล่าให้เด็กฟัง เพราะอาจจะช่วยฝึกให้เด็กกล้าตัดสินใจและอาจช่วยเพิ่มความสนใจในนิทานได้ด้วย
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา