backup og meta

ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ และวิธีดูแลฟันของเด็กให้สุขภาพดี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ และวิธีดูแลฟันของเด็กให้สุขภาพดี

    การทราบว่า ฟันน้ำนมมีกี่ซี่ และจะขึ้นพ้นเหงือกเมื่อไหร่ อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมดูแลสุขภาพฟันเด็กได้ดีขึ้น ปกติแล้ว ฟันน้ำนมของเด็กมีทั้งหมด 20 ซี่ ประกอบไปด้วยฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ ฟันน้ำนมอาจเริ่มโผล่พ้นเหงือกตอนเด็กอายุ 6-12 เดือน และแม้ว่าฟันน้ำนมจะไม่ใช่ฟันแท้หรือฟันถาวรที่จะอยู่กับร่างกายไปตลอดชีวิต แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรฝึกให้เด็ก ๆ หมั่นดูแลความสะอาดของฟันน้ำนมอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันเป็นประจำอย่างน้อย 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน กินขนมหวานแต่น้อย เป็นต้น เพราะหากฟันน้ำนมเกิดปัญหา เช่น ผุจนต้องถอนหรือหลุดออกไปเร็วกว่าปกติ ก็อาจส่งผลต่อการเรียงตัวของฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่ในภายหลังได้ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปหาหมอฟันเพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุกปี โดยอาจเริ่มตั้งแต่เด็กมีฟันซี่แรก หากพบว่ามีความผิดปกติใด ๆ ภายในช่องปากจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

    ฟันน้ำนมมีกี่ซี่

    ฟันน้ำนม (Primary teeth หรือ Baby tooth) เป็นฟันชุดแรกในชีวิตของมนุษย์ มีสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม และมีจำนวน 20 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง 10 ซี่ ฟันน้ำนมของเด็กแต่ละประเภทมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่งและขนาดของฟัน และจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยในเคี้ยวอาหาร อีกทั้งการเรียงของฟันยังส่งผลต่อรูปหน้าด้านล่างของคนเราอีกด้วย

    ประเภทของฟันน้ำนม อาจมีดังนี้

    • ฟันหน้าหรือฟันตัดซี่กลาง (Central incisor) มีทั้งหมด 4 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 2 ซี่ และฟันล่าง 2 ซี่ อยู่ตรงกลางด้านหน้าสุดของช่องปาก ลักษณะแบนและบาง ทำหน้าที่ตัดและฉีกอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทั้งยังช่วยในการออกเสียงและพยุงลิ้น เป็นฟันที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขณะพูดคุย ยิ้ม และกินอาหาร
    • ฟันหน้าหรือฟันตัดซี่ข้าง (Lateral incisor) มีทั้งหมด 4 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 2 ซี่ และฟันล่าง 2 ซี่ อยู่ถัดจากฟันหน้าซี่กลาง ทำหน้าที่กัดและตัดอาหารให้เล็กลง
    • ฟันเขี้ยว (Canines) มีทั้งหมด 4 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 2 ซี่ และฟันล่าง 2 ซี่ อยู่ถัดจากฟันหน้าซี่ข้าง ลักษณะเป็นซี่แหลมคล้ายทรงกรวย ทำหน้าที่ฉีกและเคี้ยวอาหาร
    • ฟันกราม (Molars) มีทั้งหมด 4 ซี่ แบ่งเป็นฟันบน 2 ซี่ และฟันล่าง 2 ซี่ อยู่ด้านในสุดของช่องปาก เป็นฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่ฉีกและบดเคี้ยวอาหารให้ละเอียด

    ฟันน้ำนมขึ้นเมื่อไหร่

    ฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กจะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 6-12 เดือน และอาจขึ้นครบ 20 ซี่เมื่ออายุได้ 2-3 ขวบ และฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดออกไปทีละซี่เมื่ออายุได้ 6 ปี โดยเริ่มจากฟันหน้าซี่กลาง จากนั้นฟันแท้ (Permanent Teeth) ซึ่งเป็นฟันชุดที่ 2 ที่มีขนาดใหญ่และมีสีออกเหลืองกว่าฟันน้ำนม และเป็นชุดฟันที่อยู่กับร่างกายไปตลอดชีวิตจะค่อย ๆ ขึ้นมาแทนที่ โดยลำดับของการขึ้นของฟันน้ำนม อาจมีดังนี้

  • ฟันหน้าซี่กลางล่าง 2 ซี่ อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 6-10 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 6-7 ปี
  • ฟันหน้าซี่กลางบน 2 ซี่ อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 8-12 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 6-7 ปี
  • ฟันหน้าซี่ข้างบน 2 ซี่ อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 9-13 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 7-8 ปี
  • ฟันหน้าซี่ข้างล่าง 2 ซี่ อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 10-16 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 7-8 ปี
  • ฟันเขี้ยวบน 2 ซี่ อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 16-22 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 10-12 ปี
  • ฟันเขี้ยวล่าง 2 ซี่ อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 17-23 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 9-12 ปี
  • ฟันกรามบน 2 ซี่แรก อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 13-19 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 9-11 ปี
  • ฟันกรามล่าง 2 ซี่แรก อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 14-18 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 9-11 ปี
  • ฟันกรามล่าง 2 ซี่ในสุด อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 23-31 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 10-12 ปี
  • ฟันกรามบน 2 ซี่ในสุด อาจเริ่มงอกพ้นเหงือกตั้งแต่อายุ 25-33 เดือน และอาจหลุดตอนอายุ 10-12 ปี
  • อาการฟันน้ำนมขึ้น เป็นอย่างไร

    อาการที่แสดงว่าฟันน้ำนมของเด็กกำลังขึ้น อาจมีดังนี้

    • ปวดเหงือก และเหงือกบริเวณที่ฟันกำลังจะขึ้นเป็นสีแดง
    • มีไข้ปานกลาง ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส
    • แก้มแดงข้างเดียว
    • มีผื่นขึ้นบนใบหน้า
    • มีน้ำลายไหลมากกว่าปกติ
    • ชอบกัดและเคี้ยวสิ่งของ เช่น นิ้วมือ ของเล่น หรือที่เรียกว่า คันเหงือก
    • หงุดหงิดหรืองอแงมากกว่าปกติ
    • นอนไม่ค่อยหลับ

    วิธีดูแลฟันน้ำนมของเด็ก

    วิธีดูแลฟันน้ำนมของเด็ก อาจทำได้ดังนี้

    • เริ่มแปรงฟันให้เด็กทันทีที่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ด้วยการใช้แปรงสีฟันขนละเอียด และแต้มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้ติดแปรงเล็กน้อย
    • ดูแลให้เด็กแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 2 นาที ในตอนเช้าและก่อนนอน
    • ทำความสะอาดจุกนมและจุกหลอกทุกครั้งก่อนนำไปให้เด็กใช้ เพื่อลดการสะสมของคราบแบคทีเรียที่อาจสะสมอยู่บริเวณจุกหลอกที่อาจทำให้ฟันผุ
    • พาเด็กไปพบหมอฟันตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถเริ่มไปหาหมอฟันได้ตั้งแต่เด็กมีฟันขึ้นเป็นซี่แรก
    • ฝึกให้เด็กกินขนมหวานแต่น้อยและให้กินผลไม้เป็นอาหารว่างแทน เช่น มะละกอ ส้ม แคนตาลูป และหลีกเลี่ยงการกินขนมหวานที่มีน้ำตาลสูง เช่น อมยิ้ม ลูกอม ขนมเค้ก คุกกี้ เพราะน้ำตาลอาจติดอยู่ตามผิวฟัน หากไม่แปรงฟันให้สะอาด อาจทำให้ฟันผุได้ และลดความเสี่ยงที่เด็กจะติดหวานและพัฒนาไปเป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็ก
    • ควรให้เด็กแปรงฟันทุกครั้งหลังกินขนมหวาน และแปรงฟันเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนนอน เพื่อลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในช่องปากที่ทำให้เกิดฟันผุ
    • ไม่ควรให้เด็กเข้านอนหรือหลับไปทั้งที่ยังดูดขวดนม และไม่ควรให้เด็กดื่มน้ำผลไม้ นม และน้ำอัดลมในห้องนอน เพราะเด็กอาจลืมแปรงฟันก่อนเข้านอนจนทำให้ฟันผุได้
    • ให้เด็กกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมวัวจืด นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม โยเกิร์ตไขมันต่ำ บรอกโคลีต้ม แกงจืดตำลึงเต้าหู้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของฟัน

    ปัญหาสุขภาพช่องปากของเด็กที่ควรพาไปพบคุณหมอ

    หากเด็กมีอาการดังต่อไปนี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ ที่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ

    • เด็กปวดฟัน เสียวฟัน
    • เด็กมีเลือดออกภายในช่องปาก หรือเหงือกบวมผิดปกติ
    • เด็กมีคราบหรือจุดดำบนฟัน
    • เด็กมีกลิ่นปากรุนแรงผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา