backup og meta

วิธีฝึกให้ ลูกคิดบวก มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/10/2022

    วิธีฝึกให้ ลูกคิดบวก มีอะไรบ้าง

    การคิดบวกต่อประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้รู้จักรับมือและแก้ไขปัญหาได้ การคิดบวกนี้สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาเทคนิคการสอนให้ ลูกคิดบวก เพื่อเตรียมตัวให้ลูกสามารถเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริงด้วยทัศคติที่ดีเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

    ลูกคิดบวก ดียังไง

    การสอนให้ลูกคิดบวก หมายถึง การชี้แนะและเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือในทางที่สร้างสรรค์ เป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูกตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ ยอมรับ และคิดหาวิธีจัดการกับสถานการณ์นั้น ๆ โดยไม่ย่อท้อหรือหมดกำลังใจไปก่อน นอกจากนั้น การสอนให้ลูกคิดบวกยังมีประโยชน์ ดังนี้

    • รับมือกับความเป็นจริงได้ดีกว่า

    การสอนให้ลูกคิดบวกเป็นการเตรียมพร้อมให้ลูกเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม โดยจะทำให้ลูกมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเข้าใจ มองเห็นหรือพยายามทางหาออกเมื่อเกิดปัญหา และสามารถแก้ไขได้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เมื่อมีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต จะช่วยให้ลูกมีทักษะการจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัว พร้อมรับมือกับแรงกดดันและความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น

    • ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่ายนัก

    เมื่อฝึกให้ลูกมองโลกในแง่บวก ลูกจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะถูกชักจูงไปในทางเสียหาย เช่น การใช้ยาเสพติด การเล่นการพนัน ทำให้ชีวิตมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ มีอนาคตที่สดใส และมีความสุขได้ง่าย

    ตัวอย่างแนวคิดที่สะท้อนการคิดบวก

    ผู้ที่คิดบวกมักมีแนวคิดและทัศนคติในการมองโลก ดังนี้

    • มองเห็นข้อดีของสถานการณ์ต่าง ๆ
    • พยายามที่จะหาทางออกให้ปัญหามากกว่าจมอยู่กับปัญหา
    • รู้สึกซาบซึ้งกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
    • มีความสุขในสิ่งที่ตนเองมี
    • รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง
    • เข้าใจความต้องการของผู้อื่นด้วยการเปิดใจรับฟังความคิดเห็น
    • ไม่บ่นพร่ำเพรื่อหรือบ่อยเกินไป
    • รื่นรมย์และแสวงหาความสุขกับการใช้ชีวิต

    สอนลูกให้คิดบวก ทำได้อย่างไร

    การคิดในเชิงบวกนั้นเป็นความสามารถที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในช่วงวัยเด็ก เช่น หากได้เล่น จะทำให้รู้สึกสนุก หากโดนดุ จะทำให้รู้สึกเศร้า หากคิดบวกจะช่วยให้มองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาได้ การสอนให้เด็กรู้จักการคิดบวกในช่วงอายุก่อน 5 ขวบ จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาการทางความคิดและทัศนคติของเด็ก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองอาจฝึกให้ลูกคิดบวกด้วยวิธีต่อไปนี้

    เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูก

    เด็กจะซึมซับและเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ มาจากทั้งพ่อและแม่ โดยเฉพาะการกระทำที่พ่อแม่แสดงออกให้ลูกเห็น จะมีอิทธิพลมากกว่าคำสอน ดังนั้น พ่อกับแม่จึงควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก โดยการซักถามพูดคุยแล้วแสดงความคิดเห็นในแง่บวก เพื่อให้ลูกซึมซับแนวคิดและการกระทำนั้น ๆ

    สอนให้ลูกรู้จักยอมรับการทำผิดพลาด

    การคิดบวกนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องละเลยกับสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในทางกลับกัน ควรสอนให้ลูกรู้จักยอมรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์ เด็กควรจะเข้าใจว่า การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ และอาจทำให้เขารู้สึกเศร้า เจ็บปวด หรือโมโห แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจัดการกับความรู้สึกและปัญหาเหล่านั้น หากเด็กได้เรียนรู้ที่จะยอมรับและหาทางแก้ไขปัญหา เขาก็จะเกิดความคิดที่ว่า ทุกปัญหาย่อมมีทางออก และพร้อมที่จะแก้หาทางแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก

    สอนให้รู้จักอารมณ์ในทางบวก

    เด็กนั้นจะไวต่อความรู้สึกของพ่อและแม่ เขาสามารถรับรู้ได้ว่าพ่อแม่กำลังมีความรู้สึกเศร้า หรืออารมณ์เสีย อารมณ์ต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้ หากพ่อแม่เคร่งเครียด ลูกก็จะรู้สึกเครียดและวิตกกังวลตามไปด้วย นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกได้รู้จักกับอารมณ์และความรู้สึกที่สวยงาม เช่น ความรัก สอนให้ลูกรู้จักรักและแบ่งปันต่อผู้อื่น ความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้จะช่วยให้ลูกมองเห็นข้อดีของความรัก ความรู้สึกในแง่บวก ส่งเสริมให้เขาต้องการส่งต่อความรู้สึกดี ๆ เหล่านั้นต่อไป

    ให้รางวัลเมื่อลูกเกิดคิดดีและทำดี

    พ่อแม่อาจให้รางวัลลูก หรือชมลูกเมื่อลูกทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จ อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ทำการบ้านเสร็จ ช่วยทำงานบ้าน หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การแข่งขัน หรือการใช้ชีวิต พวกเขาจะจดจำและรับรู้ว่าการคิดดีทำดีส่งผลให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ ความรู้สึกดี ๆ กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ต้องการคิดดีและทำดีมากยิ่งขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา