backup og meta

เด็กท้องผูก เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    เด็กท้องผูก เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลอย่างไร

    เด็กท้องผูก มักทำให้เด็กขับถ่ายยาก เจ็บปวดเมื่อขับถ่าย มีเลือดออก หรือปวดท้องมาก ซึ่งอาการท้องผูกมักเกิดขึ้นเมื่อลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง จนทำให้อุจจาระแห้งและแข็ง ซึ่งปัญหาเด็กท้องผูกเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและสามารถป้องกันได้ การฝึกฝนให้เด็กขับถ่ายเป็นเวลา รับประทานอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย และการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อาจช่วยบรรเทาและป้องกันปัญหาเด็กท้องผูก

    คำจำกัดความ

    เด็กท้องผูก คืออะไร

    เด็กท้องผูกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กอาจรับประทานอาหารที่มีเกากใยน้อย ไม่ได้รับการฝึกในการเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา สถานที่ในการขับถ่ายแปลกออกไปจนอาจทำให้เด็กไม่กล้าขับถ่าย หรืออาจเกิดจากปัญหาอื่น ๆ เช่น รู้สึกเจ็บปวดขณะขับถ่าย มีเลือดออกขณะขับถ่าย พันธุกรรม แพ้นมวัว เมื่อสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือเป็นเวลานาน อาจทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อย ลำไส้ใหญ่ดูดน้ำกลับจากอุจจาระมากขึ้นจนทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง ส่งผลให้เด็กขับถ่ายยากและมีอาการท้องผูกได้

    อาการ

    อาการของเด็กท้องผูก

    อาการของเด็กท้องผูกที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้

    • อุจจาระแข็ง และรู้สึกเจ็บปวดเมื่อขับถ่าย
    • อุจจาระก้อนใหญ่มาก
    • ไม่ขับถ่ายเป็นเวลาหลายวัน หรือน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
    • มีเลือดออกขณะขับถ่าย
    • ปวดท้องมาก เป็นตะคริว และมีอาการคลื่นไส้
    • อาจมีคราบของอุจจาระเหลวที่ไหลออกมาติดในกางเกงในของเด็ก ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีอุจจาระอยู่มากในทวารหนัก

    ควรเข้าพบคุณหมอหากพบว่าเด็กท้องผูกเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ พร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ ไม่อยากอาหาร ท้องบวม น้ำหนักลดลง

    สาเหตุ

    สาเหตุของเด็กท้องผูก

    อาการท้องผูกในเด็กมักเกิดขึ้นเมื่อลำไส้มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้อุจจาระตกค้างในลำไส้เป็นเวลานาน ถูกดูดน้ำกลับเข้าร่างกายจนอุจจาระแห้งและแข็งส่งผลให้เด็กท้องผูกในที่สุด ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • การรับประทานอาหาร เช่น ผักและผลไม้ที่มีใยอาหารน้อย หรือการดื่มน้ำน้อย อาจทำให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก และท้องผูกได้
    • กิจวัตรประจำวัน เด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินทาง อากาศร้อน ความเครียด หรือเด็กที่ขยับร่างกายน้อย อาจส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ จนทำให้เด็กท้องผูกได้
    • เด็กอั้นอุจจาระ เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีความรู้สึกกลัวการเข้าห้องน้ำ ไม่อยากหยุดพักระหว่างเล่น หรือเด็กอาจไม่เคยชินกับการเข้าห้องน้ำนอกบ้าน จึงทำให้เด็กอั้นอุจจาระไว้จนท้องผูก
    • เด็กเจ็บปวดเมื่อถ่ายอุจจาระ อาการท้องผูกที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กมีประสบการณ์ไม่ดีในการเข้าห้องน้ำ โดยอาจมีอาการเจ็บปวดหรือเลือดออกขณะอุจจาระ ทำให้เด็กพยายามหลีกเลี่ยงในการขับถ่าย
    • เด็กมีปัญหาในการฝึกเข้าห้องน้ำ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็กเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรบังคับจนเด็กรู้สึกอึดอัด เพราะอาจเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีจนทำให้เด็กไม่อยากที่จะขับถ่ายได้
    • การแพ้นมวัว เด็กบางคนที่มีอาการแพ้นมวัว หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมมากเกินไป อาจทำให้เด็กท้องผูกได้
    • พันธุกรรม สมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาท้องผูกบ่อยครั้ง อาจสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมทำให้เด็กท้องผูกได้

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของเด็กท้องผูก

    เด็กที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ มักมีพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

    • ไม่ค่อยชอบเคลื่อนไหวร่างกาย
    • ไม่กินผักและผลไม้
    • ดื่มน้ำน้อย
    • ความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล
    • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคท้องผูกเรื้อรัง ความผิดปกติของระบบย่อยอาหารและการดูดซึม ภาวะลำไส้แปรปรวน

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยเด็กท้องผูก

    หากพบว่าเด็กท้องผูกเป็นเวลานาน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ซักถามประวัติและอาการ โดยคุณหมอจะสอบถามประวัติความเจ็บป่วยต่าง ๆ และถามเกี่ยวกับอาการท้องผูกของเด็ก
    • ตรวจร่างกาย คุณหมออาจทำการตรวจช่องท้องและทวารหนัก โดยการสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนักเพื่อตรวจหาความผิดปกติ หรือตรวจอุจจาระและเลือดที่พบในทวารหนัก

    สำหรับเด็กที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังหรือเป็นรุนแรงมาก ซึ่งพบได้น้อยมาก คุณหมออาจขอตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

    • เอกซเรย์ช่องท้อง เพื่อตรวจสอบการอุดตันของอุจจาระในลำไส้
    • ตรวจการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร โดยการใช้สายสวนสอดเข้าไปในลำไส้เพื่อวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการถ่ายอุจจาระ
    • การตรวจชิ้นเนื้อทางทวารหนัก โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเยื่อบุทวารหนักเพื่อดูความผิดปกติของเซลล์ประสาท
    • การตรวจเลือด เพื่อดูความผิดปกติของสารต่าง ๆ ในเลือดที่อาจส่งผลต่อการขับถ่าย เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์

    การรักษาเด็กท้องผูก

    คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับช่วงอายุและสภาพร่างกายของเด็ก ดังนี้

    • อาหารเสริมใยอาหาร และการดื่มน้ำ คุณหมออาจแนะนำอาหารเสริมใยอาหารสำหรับเด็กที่ได้รับใยอาหารในอาหารน้อยหรือไม่ชอบกินผัก และอาจแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 ลิตร/วัน เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้ดีขึ้น
    • ยารับประทานหรือยาเหน็บทางทวารหนัก ช่วยให้อุจจาระนิ่มลง หรือเพิ่มการบีบตัวของลำไส้
    • ยาระบายหรือการสวนทวาร ใช้สำหรับการรักษาเมื่อมีอุจจาระสะสมในลำไส้มากจนเกิดการอุดตัน เพื่อช่วยขจัดอุจจาระและสิ่งอุดตันในลำไส้ เช่น โพลิเอทิลีนไกลคอล (Polyethylene Glycol หรือ PGE) เพิ่มปริมาณน้ำในอุจจาระ น้ำมันแร่ (Mineral Oil) ช่วยการหล่อลื่น

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับอาการของเด็กท้องผูก

    การดูแลสุขภาพของเด็กอาจช่วยป้องกันอาการของเด็กท้องผูกได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจทำได้ ดังนี้

    • ควรให้เด็กรับประทานอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว ซีเรียล ขนมปังโฮลเกรน ที่อาจช่วยเพิ่มมวลอุจจาระและช่วยให้อุจจาระนิ่มลง ส่งผลให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น โดยปริมาณใยอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก คือ ประมาณ 20 กรัม/วัน
    • ควรให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นประมาณ 1 ลิตร/วัน เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่าย
    • ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้เป็นปกติ
    • สร้างนิสัยและกิจวัตรในการเข้าห้องน้ำ โดยควรจัดเวลาให้เด็กเข้าห้องน้ำในทุกเช้าเป็นประจำ และควรใช้ที่รองเท้าหรือโถขับถ่ายที่เหมาะกับเด็ก เพื่อให้ท่าทางในการขับถ่ายของเด็กมีความเหมาะสม ขับถ่ายสบายขึ้น
    • สอนให้เด็กเข้าใจถึงสัญญาณของอาการปวดท้องเข้าห้องน้ำ เพื่อให้เด็กรู้ตัวและเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อมีอาการปวดท้อง ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาการอั้นอุจจาระได้
    • ควรให้เด็กใช้ยารักษาอาการท้องผูกตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา