backup og meta

Sleep apnea หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    Sleep apnea หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    Sleep apnea หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะที่การหายใจหยุดลงชั่วขณะระหว่างการนอนหลับ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย และอาจพบในเด็กได้ด้วย สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะนี้ในเด็กคือต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ขยายใหญ่ขึ้นและอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการหายใจแผ่ว หยุดหายใจช่วงสั้น ๆ ขณะนอนหลับ มีอาการหายใจลำบากขณะนอนหลับ หรือปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น หากพบว่าเด็กมีอาการที่เข้าข่ายภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือมีปัญหาการหายใจที่ทำให้นอนไม่ได้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

    Sleep apnea ในเด็ก คืออะไร

    ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก เป็นความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากมีสิ่งกีดขวางในทางเดินหายใจ ทำให้เด็กหยุดหายใจชั่วขณะในระหว่างนอนหลับ มักพบในเด็กอายุระหว่าง 2-6 ปี ภาวะนี้ส่งผลให้เด็กนอนหลับไม่สนิท มีภาวะหลับ ๆ ตื่น ๆ เมื่อสมองรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย สมองจะส่งสัญญาณไปยังปอดเพื่อพยายามหายใจเข้า ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเพียงครู่เดียว จากนั้นเด็กก็จะกลับไปหลับต่อ และอาจตื่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น อ่อนเพลียง่วงนอนระหว่างวัน เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ ในบางรายที่เป็นรุนแรง อาจมีผลกระทบต่อการเรียน หรือมีภาวะซน สมาธิสั้นร่วมด้วยได้

    สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

    สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก คือ ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ขยายใหญ่ขึ้นจนปิดกั้นทางเดินหายใจและขัดขวางการหายใจระหว่างการนอนหลับ ในช่วงกลางวัน กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและลำคอจะเปิดทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น ทำให้ไม่เป็นปัญหาในการหายใจตามปกติ แต่ในช่วงกลางคืน ความตึงตัวของกล้ามเนื้อจะน้อยลง ทำให้เนื้อเยื่อหดตัว ส่งผลให้ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์มีขนาดใหญ่ขึ้นและปิดกั้นทางเดินหายใจ จนส่งผลให้เด็กเกิดปัญหาการหายใจผิดปกติ

    สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กได้ อาจมีดังนี้

    • โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วน
    • โครงสร้างกระดูกใบหน้าแคบ
    • เด็กมีกรามขนาดเล็ก
    • เด็กมีประวัติเคยเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่มาก่อน
    • กล้ามเนื้ออยู่สูงกว่าปกติ เช่น เด็กที่สมองพิการ เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม
    • เด็กมีเนื้องอกในทางเดินหายใจ

    สัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

    สัญญาณที่แสดงว่าเด็กอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีดังนี้

    • หายใจเสียงดัง กรน หรือหายใจทางปากขณะหลับ
    • หยุดหายใจช่วงสั้น ๆ ขณะนอนหลับหรือหายใจลำบากขณะนอนหลับ
    • นอนหลับไม่สนิท พลิกตัวไปมาหลายครั้งตอนนอน
    • เหงื่อออกมากขณะนอนหลับ
    • ปัสสาวะรดที่นอน
    • นอนในท่าแปลก ๆ เช่น นอนคอยื่นในท่าที่ผิดปกติ
    • ไม่มีสมาธิในการเรียน หรือเผลอหลับเวลาอยู่ที่โรงเรียน
    • ผลการเรียนแย่ลง
    • อารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว หรือมีปัญหาด้านพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น ซนมาก มีสมาธิน้อย
    • ปวดศีรษะในตอนเช้า

    การวินิจฉัย Sleep apnea

    ในการวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก คุณหมอจะสอบถามอาการของเด็ก ประวัติทางการรักษา และตรวจร่างกายบริเวณ คอ ปาก ลิ้น ต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์ โดยอาจมีการตรวจดังนี้

    • การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography หรือ PSG) คุณหมอจะประเมินอาการของเด็กในระหว่างนอนหลับ ด้วยการใช้เซนเซอร์ที่บันทึกกิจกรรมของคลื่นสมอง รูปแบบการหายใจ การกรน ระดับออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อขณะนอนหลับ
    • การบันทึกระดับออกซิเจน (Oximetry) มักใช้ในกรณีที่เด็กมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับสูง และไม่สามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจการนอนหลับได้ ในเบื้องต้นอาจให้คุณพ่อคุณแม่บันทึกระดับออกซิเจนข้ามคืนด้วยตัวเองที่บ้าน
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) คุณหมอจะใช้แผ่นแปะบริเวณหน้าอกของเด็ก เพื่อวัดสัญญาณไฟฟ้าของคลื่นหัวใจ และอาจใช้การทดสอบรูปแบบนี้ในการตรวจสอบความผิดปกติของโรคเกี่ยวกับหัวใจอื่น ๆ ด้วย

    วิธีการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก

    วิธีรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก อาจมีดังนี้

    • การใช้ยารักษา เช่น ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ (Nasal corticosteroids) อย่าง ฟลูติคาโซน (Fluticasone) บูเดโซไนด์ (Budesonide) ยาแก้ภูมิแพ้หรือยาลดน้ำมูก (Anti-histamine) สำหรับเด็กที่เป็นภูมิแพ้ ยากลุ่มมอนเทลูคาสท์ (Montelukast) อาจช่วยบรรเทาอาการได้เมื่อใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับยาพ่นจมูก การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กด้วยการใช้ยาอาจต้องรักษาต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์ (ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาทุกราย)
    • การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ การผ่าตัดปรับโครงสร้างใบหน้าที่ผิดปกติ การจี้เยื่อบุในจมูกด้วยคลื่นความถี่วิทยุ การปรับตำแหน่งของฟันที่เรียงตัวไม่ดี การผ่าตัดเป็นการรักษาด้วยการแก้ไขที่ต้นเหตุของภาวะหายใจไม่ผิดปกติ ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยเฉพาะราย
    • การใช้เครื่องช่วยหายใจซีแพพ (CPAP) คุณหมออาจใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่องผ่านท่อโดยใช้หน้ากากครอบจมูกหรือครอบทั้งจมูกและปาก เครื่องจะส่งแรงดันอากาศไปที่ส่วนหลังของคอเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้เด็กหายใจสะดวกขึ้น คุณหมอมักใช้วิธีนี้ เมื่อใช้ยารักษาหรือผ่าตัดต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ทั้งนี้ การเลือกหน้ากากให้พอดีกับรูปหน้าของเด็ก และเปลี่ยนขนาดหน้ากากตามการเจริญเติบโต อาจช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวและคุ้นชินกับการใส่หน้ากากขณะนอนหลับได้
    • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจช่วยควบคุมและบรรเทาอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา