backup og meta

สบู่อาบน้ำเด็ก เลือกใช้อย่างไรให้ดีกับลูกน้อย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    สบู่อาบน้ำเด็ก เลือกใช้อย่างไรให้ดีกับลูกน้อย

    ทารกหรือเด็กอายุน้อย ๆ อาจไม่จำเป็นต้องอาบน้ำทุกวัน เนื่องจากยังมีผิวที่บอบบาง อาจจะใช้วิธีการเช็ดตัวลูกให้สะอาด เน้นบริเวณผิวหน้า ลำคอ มือและส่วนใต้ผ้าอ้อมของเด็ก ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในการเลือกสบู่อาบน้ำเด็กเหมาะสมและอ่อนโยนต่อผิวที่บอบบางของเด็กมากที่สุด ช่วงเวลาอาบน้ำเด็กอาจจะเลือกช่วงที่เด็กกำลังตื่นและอารมณ์ดี อุณหภูมิอุ่นพอเหมาะ ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป เตรียมอุปกรณ์อาบน้ำไว้ให้พร้อม เช่น อ่างอาบน้ำ ผ้าขนหนู ผ้าอ้อม สำลีเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดตัวเปียกหรือฟองน้ำ และเสื้อผ้าใหม่ สำหรับหยิบใช้งานได้ทันที และไม่ควรให้เด็กอยู่ในอ่างอาบน้ำเพียงลำพังแม้แต่เพียงวินาทีเดียว เพราะอาจจมน้ำได้

    การเลือกสบู่อาบน้ำเด็ก

    สบู่อาบน้ำเด็กที่เหมาะกับผิวเด็กควรเลือกใช้ดังนี้

    • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว สบู่อาบน้ำเด็กควรมีส่วนผสมที่อ่อนโยนและเหมาะสมกับสภาพผิวที่บอบบางของเด็กมากที่สุด มีสารสกัดธรรมชาติ และอาจใช้สบู่อาบน้ำเด็กสูตรไม่มีสารเคมี เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการแพ้หรือระคายเคืองผิว และไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลากหลายเกินไป เพราะอาจจะไม่ช่วยในเรื่องของความสะอาด และยังทำให้ผิวเด็กสัมผัสกับสารเคมีที่ไม่จำเป็น
    • หลีกเลี่ยงน้ำหอม น้ำหอมในสบู่อาบน้ำเด็กอาจจะทำให้เกิดปัญหาผิว เช่น ทำให้ผิวแห้งกร้าน ระคายเคือง ควรใช้สบู่ที่ไม่แต่งกลิ่นเพิ่มเติม
    • ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่อาบน้ำเด็กที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้เพียงสบู่อาบน้ำเด็กธรรมดา ก็สามารถอาบน้ำให้กับลูกน้อยได้อย่างสะอาดหมดจดได้เหมือนกับสบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียแล้ว ทั้งยังปลอดจากสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้
    • เลือกใช้สบู่อาบน้ำเด็กที่มีส่วนผสมธรรมชาติ เช่น เลือกสบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำมันธรรมชาติอย่างน้ำมันมะกอก น้ำมันอัลมอนด์ ว่านหางจระเข้ ซึ่งดีต่อผิวที่บอบบาง และไม่ระคายเคืองผิวและตาของเด็ก ควรหลีกเลี่ยงสบู่อาบน้ำเด็กที่มีสารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น พาราเบน (Paraben)  สารกลุ่มพาทาเลต (Phthalate) ซึ่งเป็นสารที่อาจไปเปลี่ยนระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกได้

    วิธีการอาบน้ำให้เด็ก

    1. ควรใช้น้ำอุ่นในการอาบน้ำเด็ก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกสบายตัว ขั้นตอนแรกเติมน้ำอุ่นลงในอ่างให้สูงประมาณ 2-3 นิ้ว ให้คุณพ่อคุณแม่เช็กอุณหภูมิของน้ำด้วยมือก่อน ไม่ให้ร้อนเกินไปจนลวกผิวเด็ก อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส
    2. ล้างหน้าของเด็กด้วยการใช้ผ้าเช็ดตัวเปียกหรือฟองน้ำเช็ดเบา ๆ เพื่อทำความสะอาดบริเวณใบหน้าและตาของเด็ก โดยเช็ดจากหัวตาออกไปทางแก้มของทั้งสองข้าง ในขั้นตอนนี้ใช้เพียงน้ำเปล่าเท่านั้น
    3. วางตัวเด็กลงไปในอ่างอาบน้ำด้วยความระมัดระวัง ใช้มือข้างหนึ่งยึดแขนด้านบนเพื่อประคองหัวและไหล่ และใช้อีกข้างหนึ่งวักน้ำใส่ตัวเด็กเบา ๆ ระวังไม่ให้ศีรษะของเด็กลงไปในน้ำ
    4. ใช้ผ้าเช็ดตัวเปียกหรือฟองน้ำผสมสบู่อาบน้ำเด็กเล็กน้อย และทำความสะอาดร่างกายเด็กจากข้างบนลงมาข้างล่าง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตามข้อพับต่าง ๆ ของร่างกาย และทำความสะอาดบริเวณใต้ผ้าอ้อมอย่างพิถีพิถันเป็นส่วนสุดท้าย
    5. ขณะอาบน้ำให้เด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาพูดคุยเล่นกับเด็ก หรือใส่ของเล่นให้เด็กเล่นไปด้วย จะช่วยให้เด็กผ่อนคลายและรู้สึกมีความสุขในการอาบน้ำ
    6. เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว ยกตัวเด็กขึ้นจากอ่างอาบน้ำ ประคองด้านล่างของตัวเด็กด้วยหนึ่งมือ โดยอีกมือประคองบริเวณศีรษะและคอ พยายามอุ้มอย่างมั่นคง เพื่อไม่ให้เด็กหลุดมือ
    7. เมื่อขึ้นจากอ่างแล้วให้ห่อตัวเด็กไว้ในผ้าเช็ดตัวและค่อย ๆ ซับน้ำให้ตัวแห้ง

    เรื่องที่ต้องระวังเมื่ออาบน้ำเด็ก

    • สำหรับเด็กทารก ในหนึ่งสัปดาห์ไม่ควรอาบน้ำเกิน 3 ครั้ง เนื่องจากจะทำให้ผิวของเด็กแห้งเกินไป
    • ระวังไม่ให้สบู่อาบน้ำเด็กหรือน้ำเปล่าเข้าตาเด็กขณะที่กำลังอาบน้ำ
    • ควรใช้น้ำอุ่นอาบน้ำ ระวังไม่ให้น้ำร้อนเกินไป ให้ใช้ข้อศอกแตะผิวน้ำเพื่อทดสอบอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนให้ลูกลงไปในอ่างหรืออุปกรณ์อาบน้ำ
    • ใช้ผ้าเช็ดเท้าเด็กให้แห้ง รวมถึงเช็ดพื้นหรือบริเวณที่ใช้อาบน้ำเด็กให้แห้งสนิททุกครั้งหลังอาบน้ำเสร็จ
    • อย่าทิ้งให้ลูกอยู่เพียงลำพังในห้องน้ำเป็นอันขาด ให้นำอุปกรณ์อาบน้ำทั้งหมดมาวางไว้ใกล้ ๆ ที่อาบน้ำ เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบมาใช้งาน
    • คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ใกล้อ่างอาบน้ำมากที่สุด เพื่อจะได้เอื้อมมือไปหาลูกได้ทัน หากมีการลื่นหรือล้มในอ่างอาบน้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา