backup og meta

ครีมทาหน้าเด็ก จำเป็นไหมและควรเลือกใช้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    ครีมทาหน้าเด็ก จำเป็นไหมและควรเลือกใช้อย่างไร

    ครีมทาหน้าเด็ก คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับทารกที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังทารกที่อาจแพ้และแห้งง่าย เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีผิวที่ละเอียดอ่อน บอบบางและยังกักเก็บความชื้นได้ไม่ดีนัก ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกซื้อครีมทาหน้าเด็กที่อ่อนโยนที่สุด มีส่วนผสมที่ปราศจากน้ำหอม สีสังเคราะห์ พืช สมุนไพร และสารกันบูด เพื่อปกป้องผิวหนังของทารกจากอาการระคายเคือง หรืออาการแพ้

    ครีมทาหน้าเด็ก มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

    ครีมทาหน้าเด็กคือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับทารก มักมีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ เช่น กรดไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) เซราไมด์ (Ceramide) กลีเซอรอล (Glycerol) ซึ่งมีสรรพคุณเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังของทารก

    ครีมทาหน้าเด็ก จำเป็นหรือไม่ ควรใช้เมื่อใด

    ครีมทาหน้าเด็กสามารถใช้ได้ทุกวันหลังอาบน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังทารก รวมทั้งเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เหล่านี้

    • อาการผิวแห้ง โดยทั่วไป ผิวหนังของทารก มักมีความหนาเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของผิวหนังผู้ใหญ่ รวมถึงมีเซลล์ผิวซึ่งเรียงตัวกันไม่หนาแน่นนัก จึงกักเก็บความชื้นได้ไม่นาน หรือแห้งได้ง่าย โดยครีมทาหน้าเด็ก เป็นตัวเลือกหนึ่งเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนังทารก อย่างไรก็ตาม อาการผิวแห้งและลอกที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทารกมีอายุประมาณ 1 หรือ 2 สัปดาห์จะหายเองได้โดยไม่ต้องทาครีม แต่หากผิวแห้งถึงขั้นปริแตก คุณพ่อคุณแม่อาจทาครีมหรือโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้
    • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังของทารกที่มีความละเอียดและบอบบางรู้สึกไวต่อสารก่อภูมิแพ้ และส่วนผสมที่ทำให้เกิดระคายเคือง ทั้งนี้ อาการโดยทั่วไปของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ประกอบด้วยผื่นแดง อาการคัน รวมถึงผิวแห้ง ซึ่งหากผิวแห้งมาก ผื่นแดงและอาการคันจะยิ่งรุนแรง การใช้ครีมทาหน้าเด็กซึ่งมีส่วนผสมของมอยส์เจอไรซ์เซอร์จะช่วยฟื้นฟูผิวแห้งกลับมาชุ่มชื้นขึ้นได้

    ครีมทาหน้าเด็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

    การใช้ครีมทาหน้าเด็กสามารถทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าทารกให้สะอาดด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง และสบู่สำหรับทำความสะอาดผิวหนังทารก ซึ่งมีฤทธิ์อ่อน ไม่ทำให้ผิวระคายเคืองได้ง่าย
  • ซับหน้าทารกให้แห้ง ด้วยผ้าเช็ดตัวที่สะอาดและอ่อนนุ่ม
  • ทาครีมให้ทารก โดยใช้ในปริมาณน้อย แล้วค่อย ๆ ลูบไล้ให้ทั่วใบหน้าทารกพร้อมนวดเบา ๆ เพื่อช่วยให้ครีมซึมเข้าไปในผิวหนัง รวมทั้งบริเวณลำคอและลำตัวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังทารก (สำหรับทารกที่ผิวแห้ง แนะนำอาบน้ำวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ)
  • เลือกครีมทาหน้าเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยต่อผิวทารก

    คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกครีมทาหน้าเด็กที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • ต้องไม่ผสมสารที่อาจทำให้ผิวระคายเคือง อาทิ น้ำหอม สีสังเคราะห์ และสารกันเสีย เช่น พาราเบน (Paraben) โดยเลือกหาฉลากหรือสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า Paraben Free ฟีน็อกซ์ซีเอธานอล (Phenoxyethanol) เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone) นอกจากนี้ ผู้ปกครองไม่ควรซื้อครีมที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เพราะจะทำให้ผิวทารกเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย รวมทั้งครีมที่อาจมีส่วนผสมของพืช สมุนไพร เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะในครอบครัวที่สมาชิกมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด
  • ผ่านการรับรองที่ได้มาตรฐานจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ควรเลือกซื้อครีมทาหน้าเด็กที่บนฉลากระบุว่า “Dermatologically Tested” ซึ่งหมายถึงว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยต่อผิวหนัง โดยผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนังแล้ว หรือ “Hypoallergenic Tested” ซึ่งหมายความว่า ผลิตภัณฑ์นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย เนื่องจากไม่มีส่วนผสมที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้แพ้เลย เพียงแต่มีโอกาสทำให้แพ้น้อยกว่าผลิตภัณฑ์โดยทั่วไปเท่านั้น
  • ผลิตจากสารธรรมชาติ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค เพราะมีแนวโน้มปลอดภัยต่อทารกมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงครีมทาหน้าเด็กที่มีส่วนผสมของสมุนไพร พืช หรือแร่ธาตุ เพราะอาจเกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน
  • ใช้ครีมทาหน้าเด็กที่มีสารกันแดดได้เมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป วิทยาลัยผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Dermatology) แนะนำว่า ทารกอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป อาจใช้ครีมกันแดดได้ แต่ควรมีส่วนผสมของ ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) หรือ ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) เป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยลดโอกาสเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา