backup og meta

ประโยชน์และข้อควรรู้ของการดูแลผิวเด็กด้วยน้ำมันมะพร้าว

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/03/2022

    ประโยชน์และข้อควรรู้ของการดูแลผิวเด็กด้วยน้ำมันมะพร้าว

    การดูแลผิวเด็กด้วยน้ำมันมะพร้าว อาจช่วยให้ผิวของเด็กชุ่มชื้นอย่างยาวนาน ช่วยป้องกันปัญหาผิวแห้ง ผดผื่น  อาการคัน ลดสิว และอาจช่วยบรรเทาอาการของผิวหนังอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้น้ำมันมะพร้าวที่ปราศจากน้ำหอมและสารปรุงแต่งอื่น ๆ อีกทั้งยังควรใช้ในปริมาณน้อย เพื่อป้องกันไม่เกิดอาการระคายเคืองของผิวของเด็ก

    ชนิดของน้ำมันมะพร้าวที่นิยมใช้ดูแลผิวเด็ก

    ในปัจจุบันเราสามารถหาซื้อน้ำมันมะพร้าวมาใช้สอยได้ง่ายขึ้นมาก น้ำมันมะพร้าวที่นิยมใช้กันทั่วไป เช่น

  • น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin Coconut Oil) ได้จากการนำเนื้อมะพร้าวสดที่แก่จัดมาคั้นให้ได้น้ำกะทิ จากนั้นนำไปสกัดเย็น คือ รอให้แยกชั้น แล้วกรองเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำมัน เรียกว่าน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น หรือนำไปสกัดร้อน คือ นำกะทิไปเคี่ยวต่อจนได้น้ำมันมะพร้าว ที่เรียกว่า น้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน
  • น้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธี (Refined Coconut Oil) ได้จากการนำเนื้อมะพร้าวไปอบหรือตากแห้ง แล้วนำไปบีบอัด หรือใช้สารเคมีเป็นตัวทำละลายให้ได้น้ำมันมะพร้าวออกมา จากนั้นจึงนำน้ำมะพร้าวที่ได้ไปผ่านกรรมวิธีกำจัดกลิ่น สี และสิ่งเจือปน จนได้เป็นน้ำมันมะพร้าวใสๆ ไร้สี ไร้กลิ่น ไร้รสชาติ
  • ข้อควรรู้ก่อนดูแลผิวเด็กด้วยน้ำมันมะพร้าว

    อย่างแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนึงถึงก่อนที่จะเริ่มดูแลผิวเด็กด้วยน้ำมันมะพร้าว ก็คือ ภาวะภูมิแพ้มะพร้าว หรือแพ้น้ำมันมะพร้าว หากลูกแพ้ ก็ไม่ควรให้ใช้น้ำมันมะพร้าว แต่หากไม่รู้ว่าลูกแพ้หรือไม่ ควรเริ่มจากทาน้ำมันมะพร้าวปริมาณเล็กน้อยลงบนผิวลูกจุดเล็กๆ แล้วรอดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น หากลูกมีอาการของภูมิแพ้น้ำมันมะพร้าว เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หายใจมีเสียงหวีด ไอ น้ำมูกไหล เป็นลมพิษ ผิวหนังอักเสบ (Eczema) มีผื่นคัน ควรรีบล้างน้ำมันมะพร้าวบนผิวออก แล้วนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งถึงแม้จะพบได้ยาก แต่ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    ผลการศึกษาจาก The European Society of Pediatric Allergy and Immunology เผยว่า เด็กที่แพ้ถั่วลิสง หรือแพ้กลุ่มผลไม้เปลือกแข็ง (tree nut) หรือที่บางคนเรียกว่าถั่วที่เติบโตบนดิน เช่น อัลมอนด์ (almonds) พีแคน (pecans) วอลนัต (walnuts) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (cashews) เฮเซลนัต (hazelnuts หรือ filberts) ถั่วพิสตาชิโอ (pistachios) แมคคาเดเมีย (macadamia) หรือไวต่อสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ อาจไม่ได้ทำให้ลูกเสี่ยงมีภูมิแพ้น้ำมันมะพร้าวมากขึ้น แต่ก็ต้องระวัง และปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจให้ลูกใช้น้ำมันมะพร้าว

    น้ำมันมะพร้าวได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ดีต่อเส้นผมและผิวพรรณมากที่สุดชนิดหนึ่ง หากคุณพ่อคุณแม่แน่ใจแล้วว่าลูกไม่ได้แพ้มะพร้าว หรือแพ้น้ำมันมะพร้าว ก็สามารถใช้น้ำมันมะพร้าวในการดูแลผิว เส้นผม รวมถึงเล็บของลูกได้อย่างปลอดภัย

    ประโยชน์ของการดูแลผิวเด็กด้วยน้ำมันมะพร้าว

    ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นยาวนาน

    ผิวทารกนั้นบอบบางแพ้ง่าย แถมยังแห้งง่ายมาก หากจะบำรุงผิวด้วยครีมหรือโลชั่นก็อาจเสี่ยงทำให้ผิวระคายเคืองได้ แต่น้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่อุดมไปด้วยกรดไขมันและโปรตีน ซึ่งเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับผิวทารกมากกว่า อีกทั้งงานศึกษาวิจัยบางชิ้นยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ครีมและโลชั่นส่วนใหญ่ให้ความชุ่มชื้นได้แค่ที่บริเวณผิวชั้นนอกสุด แต่น้ำมันมะพร้าวนั้นสามารถซึมซาบเข้าสู่ชั้นผิวได้ลึกกว่า จึงช่วยคงความชุ่มชื้นให้ลดการสูญเสียน้ำในผิวได้ดีกว่า โดยเฉพาะสภาพผิวแห้งมาก

    ช่วยบรรเทาภาวะต่อมไขมันอักเสบ

    ภาวะต่อมไขมันอักเสบ (Seborrheic Dermatitis หรือ Cradle cap) หรือที่เรียกว่าไขบนหนังศีรษะทารก คือ ผื่นที่กระจายเป็นแผ่นอยู่บนหนังศีรษะของเด็ก ลักษณะเป็นสะเก็ดสีเหลือง สีน้ำตาลเข้ม หรือเป็นขุยสีขาว บางคนมีสะเก็ดหนา บางคนมีสะเก็ดบาง มักพบมากในเด็กแรกเกิด

    คุณพ่อคุณแม่สามารถลดอาการนี้ได้ด้วยการใช้น้ำมันมะพร้าวนวดวนบนหนังศีรษะของลูกน้อย ทิ้งไว้ 20 นาที จากนั้นใช้หวีสำหรับทารกค่อยๆ แปรงเอาสะเก็ดผิวหนังออก แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำอุ่น วิธีนี้นอกจากจะช่วยบรรเทาภาวะต่อมไขมันอักเสบได้แล้ว น้ำมันมะพร้าวยังช่วยให้ผมของลูกน้อยแข็งแรง และนุ่มขึ้นด้วย

    ช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบ

    โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ (Eczema) เป็นภาวะการอักเสบของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเป็นผื่น บวม แดง แห้งเป็นขุย และคัน พบได้บ่อยในเด็กทารก เนื่องจากผิวเด็กยังบอบบาง แห้ง และแพ้ง่าย ปกติแล้วจะหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

    หากลูกมีอาการนี้ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นวดน้ำมันมะพร้าวให้ลูกทั้งก่อนและหลังอาบน้ำ และอย่าลืมทาน้ำมันมะพร้าวให้ลูกก่อนนอนด้วย เพราะนอกจากน้ำมันมะพร้าวจะให้ความชุ่มชื้นสูงแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้เป็นประจำทุกวัน ผิวลูกก็จะนุ่มชุ่มชื้นอยู่เสมอ และโรคผิวหนังอักเสบก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

    ช่วยรักษาผื่นผ้าอ้อม

    ผื่นผ้าอ้อมถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาผิวของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ต้องพบเจอ แต่หากทาน้ำมันมะพร้าวซึ่งช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ต้านแบคทีเรีย และต้านไวรัส ให้ลูกก่อนใส่ผ้าอ้อม น้ำมันมะพร้าวจะทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการเสียดสี ลดการระคายเคือง ไม่ทำให้ลูกน้อยเป็นผื่นผ้าอ้อม หรือหากเป็นผื่นผ้าอ้อมอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

    วิธีทาน้ำมันมะพร้าวป้องกันผื่นผ้าอ้อม ก็ง่ายๆ เพียงแค่เช็ดทำความสะอาดผิวเด็กในบริเวณที่ต้องการให้สะอาดและแห้งสนิท แล้วทาน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1 ช้อนโต๊ะให้ทั่ว จากนั้นรอให้แห้ง จึงค่อยใส่ผ้าอ้อมให้ลูกตามปกติ เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวผ้าอ้อมกัดอีกต่อไป

    ใช้รักษาสิวทารก

    บางครั้งลูกน้อยก็อาจมีสิว หรือที่เรียกว่า สิวทารก ( Baby acne) ลักษณะเป็นตุ่มแดงๆ เม็ดเล็กๆ หรือเป็นตุ่มหนอง มีการอักเสบ หรือเป็นสิวอุดตัน ขึ้นอยู่ตามหน้าผาก แก้ม จมูก ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการใช้ยาบางประเภทขณะตั้งครรภ์หรือให้นมลูก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กแพ้สารบางชนิดในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

    โดยปกติแล้วสิวทารกจะหายไปได้เอง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ในระหว่างรอสิวหายลูกอาจรู้สึกรำคาญ หรือเผลอไปโดนสิวจนทำให้ติดเชื้อได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่บรรเทาปัญหาสิวทารกให้ลูกน้อยด้วยการทาน้ำมันมะพร้าว ก็จะช่วยลดอาการคัน และช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ และถึงแม้วิธีนี้จะต้องใช้เวลานานกว่าการรักษาสิวทารกด้วยยาที่ทำจากสารเคมี แต่ก็ถือว่าปลอดภัยต่อเด็กมากกว่า

    อย่างไรก็ตาม ควรใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่ไม่แต่งสีแต่งกลิ่น และควรเริ่มใช้น้ำมันมะพร้าวในปริมาณน้อย ๆ ก่อน ถ้ามีสัญญาณของภูมิแพ้ควรหยุดใช้ทันที นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น อากาศร้อนจัด อาจส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองจากการทาน้ำมันมะพร้าวได้ หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา