backup og meta

ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ ทำได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

    ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ ทำได้อย่างไรบ้าง

    ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) มากเกินไป มักพบในทารกแรกเกิด 2-3 วันหลังคลอด โดยทั่วไปสารเคมีชนิดนี้จะถูกตับย่อยสลายและขับออกมาทางอุจจาระ แต่หากร่างกายขับบิลิรูบินออกไปไม่ทันจะทำให้ ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ สำหรับภาวะนี้ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ทารกตัวเหลือง ส่วนใหญ่แล้วทารกจะหายตัวเหลืองได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับน้ำนมแม่เพียงพอและขับถ่ายปกติจนปริมาณบิลิรูบินลดลง แต่หากทารกตัวเหลืองจากความผิดปกติบางประการ เช่น ภาวะตับอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด หมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน อาจต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น การส่องไฟ การถ่ายเลือด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทารกในระยะยาว

    ทารกตัวเหลืองเกิดจากอะไร

    ทารกตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด เกิดจากทารกมีระดับบิลิรูบินสูงเกินไป โดยบิลิรูบินเป็นสารเคมีสีเหลืองที่สะสมอยู่ในกระแสเลือดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าสลายตัว โดยทั่วไปตับของทารกแรกเกิดจะกำจัดบิลิรูบินออกไปได้ตามปกติและไม่ทำให้มีภาวะตัวเหลือง แต่ทารกแรกเกิดบางรายที่ตับยังพัฒนาไม่เต็มที่หรือตับทำงานผิดปกติ อาจขับบิลิรูบินออกจากร่างกายไม่ทัน จึงมีบิลิรูบินสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป จนส่งผลให้ทารกมีผิวสีเหลืองหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภาวะนี้มักพบในทารกอายุ 2-3 วัน และอาจหายไปเองภายใน 10-14 วัน

    สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทารกตัวเหลือง อาจมีดังนี้

    • การคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์อาจไม่สามารถขับบิลิรูบินส่วนเกินได้หมด เนื่องจากตับยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และทารกกินน้ำนมได้น้อย จึงทำให้ถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ ร่างกายจึงขับบิลิรูบินออกทางอุจจาระได้น้อยตามไปด้วย
    • การได้รับน้ำนมแม่น้อยเกินไป ในช่วง 1-3 วันหลังคลอด ร่างกายคุณแม่จะผลิตน้ำนมเหลืองหรือโคลอสตรุม (Colostrum) ซึ่งมีความเข้มข้นสูงและมีสารอาหารหลากหลาย เพื่อช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวในการดูดและกินนมได้อย่างเต็มที่ แต่ปริมาณน้ำนมเหลืองจะน้อยกว่าน้ำนมใสและน้ำนมขาว ทารกอายุ 1-3 วันจึงได้รับน้ำนมน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ถ่ายอุจจาระน้อยและกำจัดบิลิรูบินส่วนเกินได้ไม่ทัน นอกจากนี้ การให้นมผิดท่าจนทารกกินนมได้น้อยหรือทารกมีปัญหาในการดูดนม ก็อาจทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้เช่นกัน จึงควรให้ทารกกินนมบ่อยขึ้นเพื่อกระตุ้นน้ำนมและช่วยให้ทารกได้รับน้ำนมมากขึ้น
    • ภาวะตัวเหลืองจากน้ำนมแม่ (Breast Milk jaundice) ทารกบางคนที่กินนมแม่อาจมีระดับบิลิรูบินสูงกว่าปกติ แต่โดยทั่วไประดับบิลิรูบินจะลดลงและทำให้อาการตัวเหลืองจากน้ำนมแม่หายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ ทารกที่เกิดภาวะนี้มักมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวในระดับเหมาะสม และตับสามารถทำงานเป็นปกติ
    • การบาดเจ็บขณะคลอด หากทารกได้รับบาดเจ็บขณะคลอด เช่น เลือดออกที่หนังศีรษะ จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวมากและเร็วกว่าปกติ จึงอาจส่งผลให้มีระดับบิลิรูบินสูงกว่าทารกทั่วไปได้
    • ทารกมีกรุ๊ปเลือดต่างกับคุณแม่ หากกรุ๊ปเลือดทารกและคุณแม่แตกต่างกัน เช่น คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปโอ ส่วนทารกมีเลือดกรุ๊ปเอหรือบี คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปอาร์เอชลบ (Rh Negative) ส่วนทารกมีเลือดกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก (Rh Positive) อาจทำให้แอนติบอดีที่ได้รับจากเลือดคุณแม่ผ่านทางรกไปโจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวเร็วผิดปกติ จนมีระดับบิลิรูบินสูงและเกิดภาวะตัวเหลือง
    • ภาวะทางสุขภาพ เช่น ภาวะตับอักเสบ ตับทำงานผิดปกติ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในกระแสเลือด ภาวะเลือดออกภายใน (Internal hemorrhage) ภาวะท่อน้ำดีตีบ การขาดเอนไซม์บนเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก อาจทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองได้

    อาการของทารกตัวเหลือง

    อาการของทารกตัวเหลืองที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ อาการผิวหนังเหลือง ซึ่งมักเริ่มต้นที่ใบหน้า แล้วกระจายไปยังหน้าอก หน้าท้อง ขา และอาการตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง นอกจากนี้ ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองยังอาจมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ง่วงซึม นอนมากกว่าปกติ เนื้อตัวอ่อน กินนมได้น้อยลง

    ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ ทำได้อย่างไร

    เมื่อ ทารกตัวเหลือง วิธีแก้ หรือการรักษาอาจมีดังนี้

  • การให้น้ำนมอย่างเพียงพอ สำหรับทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจากการได้รับน้ำนมน้อยเกินไป คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่ให้นมบ่อยขึ้น หรือทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง และควรฝึกให้ทารกดูดนมอย่างถูกวิธีเพื่อกระตุ้นให้ทารกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอและถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ
  • การส่องไฟ (Light therapy หรือ Phototherapy) เป็นการรักษาด้วยการส่องไฟที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมไปยังผิวหนังของทารกอย่างทั่วถึง คุณหมอจะให้ทารกสวมเพียงผ้าอ้อมและที่ปิดตาเพื่อป้องกันดวงตาจากแสงไฟ การส่องไฟจะช่วยให้ระดับบิลิรูบินในเลือดทารกลดลงมาอยู่ในระดับปกติ
  • การให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin หรือ IVIg) อิมมูโนโกลบูลินเป็นโปรตีนในเลือดที่สามารถลดระดับแอนติบอดีได้ จึงใช้รักษาภาวะตัวเหลืองในกรณีที่ทารกและคุณแม่มีกรุ๊ปเลือดไม่เข้ากันจนทำให้แอนติบอดีของคุณแม่โจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารกจนเซลล์เม็ดเลือดแดงสลายง่ายและเร็วกว่าปกติ
  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Exchange transfusion) เพื่อช่วยให้ระดับบิลิรูบินในเลือดของทารกลดลงอย่างรวดเร็ว ใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล และเมื่อระดับบิลิรูบินสูงมากจนเสี่ยงทำให้ทารกเกิดอาการทางสมอง
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะตัวเหลือง เช่น ภาวะท่อน้ำตีบ การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด เมื่อรักษาโรคที่เป็นสาเหตุได้แล้ว อาการตัวเหลืองอาจทุเลาและหายได้ในที่สุด
  • ทารกตัวเหลือง อันตรายไหม

    ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะทุเลาและหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ดังต่อไปนี้

    • โรคสมองอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากบิลิรูบิน (Acute bilirubin encephalopathy) ภาวะตัวเหลืองอาจทำให้บิลิรูบินเดินทางไปยังเนื้อสมอง และทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ ส่งผลให้ทารกมีไข้ กินนมได้น้อยลง เซื่องซึม ชัก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้สมองเสียหายถาวร และทำให้ทารกเสียชีวิตได้
    • อาการเคอร์นิกเทอรัส หรืออาการทางสมองจากภาวะตัวเหลือง (Kernicterus) เป็นอาการผิดปกติทางสมองที่เกิดขึ้นเมื่อบิลิรูบินในร่างกายสูงมากและเข้าไปจับตัวกับเนื้อสมอง อาจทำลายสมองหรือระบบประสาทส่วนกลาง จนทำให้ทารกมีอาการชัก กล้ามเนื้อกระตุก และอาจทำให้หลังและคอโก่งงอได้ บิลิรูบินจัดเป็นสารเคมีที่เป็นพิษต่อสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้เกิดความเสียหายถาวร เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) การสูญเสียการได้ยิน การเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการด้านการเรียนรู้ผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุกอย่างควบคุมไม่ได้ พัฒนาการของฟันผิดปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา