backup og meta

เมนูอาหารลูกน้อยวัย 2 ขวบ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/10/2022

    เมนูอาหารลูกน้อยวัย 2 ขวบ และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

    ลูกน้อยวัย 2 ขวบ เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต เรียนรู้ที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ และมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา ภาษา และการสื่อสาร โภชนาการด้านอาหารที่ดีนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลููก คุณพ่อคุณแม่ควรเลือก เมนูอาหารลูกน้อยวัย 2 ขวบ ที่ให้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน และศึกษาอาหารบางชนิดที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมของช่วงวัย

    อาหารที่มีประโยชน์กับลูกวัย 2 ขวบ

    อาหารที่มีประโยชน์สำหรับลูกน้อย มีดังนี้

    1. โปรตีน เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย มีกรดอะมิโนที่ช่วยเสริมสร้างเซลล์ที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และยังให้พลังงานที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย พบมากในอาหารทะเล เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ไก่ นม อาหารประเภทถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

    ปริมาณโปรตีนที่ลูกควรได้รับต่อวัน (อย่างน้อย 2 ส่วน/วัน) โดย 1 ส่วนมีดังนี้

    • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไก่ ปลา น้ำหนักสุก 30 กรัม  น้ำหนักดิบ 40 กรัม
    • ถั่วประเภทต่าง ๆ 2-4 ช้อนโต๊ะ
    • ไข่ไก่ 1 หรือครึ่งฟอง

    2. ผักและผลไม้ อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และไฟเบอร์ พบในกลุ่มผักผลไม้ต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักผลไม้สีส้ม เช่น แครอท ฟักทอง ข้าวโพด ส้ม มะม่วง ผักสีแดง เช่น มะเขือเทศ บีทรูท มะละกอ ทับทิม ผักและผลไม้มีวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์แตกต่างกัน ควรเลือกที่มีน้ำตาลน้อย

    ปริมาณผักและผลไม้ที่ลูกควรได้รับต่อวัน (อย่างน้อย 5 ส่วน/วัน) โดย 1 ส่วนมีดังนี้

    • ผักปรุงสุก หรือแบบหั่น 1/4-1/3 ถ้วยตวง
    • ผักและผลไม้ชิ้นเล็ก ๆ 1/4-1/2 ถ้วยตวง
    • น้ำผลไม้ 1/4-1/3 ถ้วยตวง (ควรเป็นผลไม้สดไม่เติมน้ำตาล และไม่ควรบริโภคเกิน 4 ออนซ์ใน 1 วัน)

    3. แป้ง แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญและให้พลังงานสูง พบในข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง อาหารเช้าซีเรียล เป็นต้น อาหารชนิดนี้อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ วิตามินบี ลูกน้อยในวัย 2 ขวบขึ้นไปสามารถกินมื้อที่เป็นโฮลเกรนได้แล้ว อาจจะให้เป็นอาหารเช้า เช่น ซีเรียลโฮลเกรน

    ปริมาณแป้งที่ลูกควรได้รับต่อวัน (อย่างน้อย 6 ส่วน/วัน) โดย 1 ส่วนมีดังนี้

    • ขนมปังแผ่น 1/4-1/2 แผ่น
    • ขนมปังกรอบ 2-3 ชิ้น
    • ข้าว พาสต้า หรือซีเรียล 1/4-1/3 ถ้วย

    4. ไขมัน เป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานสูง และมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย

    ปริมาณไขมันที่ลูกควรได้รับต่อวัน (อย่างน้อย 3-4 ส่วน/วัน) โดย 1 ส่วนมีดังนี้

    • น้ำมัน เนย 1 ช้อนชา

    เมนูอาหารลูกน้อยวัย 2 ขวบ

    เมนูอาหารที่แนะนำสำหรับลูกน้อยวัย 2 ขวบ มีต่อไปนี้

    เมนูอาหารเช้า

    • ข้าวต้มไม่ปรุงรส ซีเรียลอาหารเช้าผสมผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย
    • โยเกิร์ตไม่หวานใส่ผลไม้ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กล้วย
    • ขนมปังปิ้งสอดใส่ด้วยไข่ต้ม มะเขือเทศหั่นบางและผลไม้ เช่น ลูกพีชชิ้นเล็ก ๆ กล้วย
    • น้ำผลไม้สดไม่ใส่น้ำตาล เช่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล

    เมนูอาหารเที่ยง

    • ไข่กวนและขนมปังปิ้ง
    • ถั่วต้มที่ไม่ปรุงรสเค็มหรือใส่น้ำตาล เสิร์ฟพร้อมขนมปังปิ้ง
    • ไข่เจียวผสมผักหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ
    • โรตีหรือจาปาตีแผ่น เสิร์ฟพร้อมผักขนาดพอดีคำ เช่น มันหวาน กะหล่ำดอก

    เมนูอาหารเย็น

    • เนื้อปลานึ่งด้วยนม ใส่มะเขือเทศ บร็อคโคลี่และแครอท
    • ข้าวถั่วบดกับบวบหั่นเป็นแท่ง
    • พาสต้าและกะหล่ำดอกอบชีส

    เมนูอาหารว่าง

    คุณพ่อแม่สามารถให้ลูกกินอาหารว่างขนาดพอดีคำที่ลูกวัย 2 ขวบสามารถหยิบกินหรือตักเข้าปากได้เอง เช่น

    • ผักต้มที่ใช้ไฟในการปรุงอ่อน ๆ เช่น มันหวาน บรอกโคลี หัวผักกาด
    • ข้าวโพด อะโวคาโด แตงกวา หรือแครอทหั่น
    • ไข่ต้มสุก โยเกิร์ตไม่ใส่น้ำตาล
    • ไข่เจียวหั่นขนาดพอดีคำ ใส่ผักได้ตามใจ
    • ขนมปังปิ้ง โรตี
    • ผลไม้หั่นเป็นชิ้น เช่น แอปเปิ้ล กล้วย ลูกพีช

    ประเภทอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

    สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเตรียมเมนูอาหารสำหรับลูกวัย 2 ขวบ มีดังนี้

    • ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ อาหารประเภทนี้จะทำให้ลูกได้รับแคลอรี่เกินจำเป็น เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ขนมเค้ก ขนมบิสกิต
    • น้ำตาล ไม่ควรให้ลูกกินอาหารที่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เช่น ขนมหวาน ลูกกวาด แยม หรือ เค้ก และเลี่ยงการให้น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ผสมน้ำตาล ควรให้ดื่มน้ำเปล่าหรือนม ซึ่งเด็กในวัย 2 ขวบสามารถที่จะดื่มนมพร่องมันเนยได้แล้ว
    • เกลือ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเกลือลงในเมนูอาหารลูกน้อยวัย 2 ขวบ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือและปริมาณโซเดียมเยอะ เช่น เบคอน ไส้กรอก อาหารขยะ อาหารแช่แข็ง ซึ่งจะทำให้ลูกติดกินเค็ม และอาจจะทำให้เกิดภาวะความดันเลือดสูงได้ในอนาคต
    • อาหารประเภทถั่วแบบไม่บด เด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบไม่ควรกินอาหารประเภทถั่ว เพราะอาจทำให้สำลักได้ ควรบดหรือหั่นให้ละเอียดทุกครั้ง หากคนในครอบครัวมีประวัติการแพ้ถั่ว อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนจะให้ลูกเริ่มกินอาหารประเภทนี้
    • หอยดิบ ควรเลี่ยงไม่ให้ลูกลองกินหอยชนิดต่าง ๆ เช่น หอยแมลงภู่ หอยกาบ หอยนางรม หอยที่ไม่ได้ปรุงสุก อาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา