backup og meta

ลักษณะของ เด็กอัจฉริยะ พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    ลักษณะของ เด็กอัจฉริยะ พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างไร

    เด็กอัจฉริยะ หมายถึงเด็กที่มีความสามารถสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นทั้งความอัจฉริยะทางด้านวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถทางด้านกีฬา หรือแม้กระทั่งความสามารถทางด้านการเข้าสังคม หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีลักษณะของเด็กอัจฉริยะ ก็อาจจำเป็นต้องวางแผนการสนับสนุนเลี้ยงดูลูก เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กโดยเฉพาะ

    เด็กอัจฉริยะ คืออะไร

    เด็กอัจฉริยะ หมายถึงเด็กที่มีความสามารถเหนือกว่าเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด การเป็นอัจฉริยะนั้น อาจจะมีลักษณะที่โดดเด่นในทุก ๆ ทาง หรือโดดเด่นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น ทางด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ ความสามารถทางด้านกีฬา หรือทักษะความรู้ทางวิชาการด้านใดด้านหนึ่ง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาตรส์ ภาษาศาสตร์

    การจะบ่งบอกจำนวนของเด็กอัจฉริยะทั่วโลกนั้นคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเกณฑ์การวัดที่จะบ่งบอกว่าเด็กคนไหนเป็นอัจฉริยะหรือไม่นั้น อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

    เด็กอัจฉริยะแต่ละคนใช่ว่าจะมีการแสดงออกที่เหมือนกัน พรสวรรค์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมแบบใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการที่พ่อแม่ควรรับรู้ว่าลูกของตัวเองเป็นเด็กอัจฉริยะ เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนลูกให้ดีที่สุด

    จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็กอัจฉริยะ

    ลักษณะของเด็กอัจฉริยะนั้นอาจจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างง่าย ๆ เนื่องจากเด็กแต่ละคนก็จะมีการแสดงออก ลักษณะนิสัย การจัดการกับปัญหา และการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันไป พ่อแม่อาจสามารถให้ลูกทำการทดสอบ IQ เพื่อวัดความฉลาดทางทางสติปัญญาได้ แต่ค่า IQ นี้ก็ไม่ใช่ตัวการที่จะวัดว่าลูกเป็นเด็กอัจฉริยะหรือไม่

    คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ความเป็นอัจฉริยะนั้นไม่ใช่ผลทางสถิติ แต่อยู่ที่การแสดงออก การทดสอบวัดความสามารถเพียงครั้งหนึ่ง ไม่สามารถระบุได้ว่าลูกเป็นอัจฉริยะหรือไม่ แต่ความเป็นอัจฉริยะนั้นจะแสดงออกมาผ่านทางการกระทำ ความคิด คำพูด และการแสดงออกต่าง ๆ

    ลักษณะเด็กอัจฉริยะที่พบได้บ่อย

    • สามารถเรียนรู้คำศัพท์ และจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
    • เด็กมักจะพูดเร็ว
    • สามารถสร้างประโยคยาว ๆ และซับซ้อนได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
    • อ่านออก เขียนได้ ตั้งแต่อายุน้อย เด็กอัจฉริยะหลายคนมักจะสามารถอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน
    • ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น ได้ยิน หรือพบเจอบ่อยครั้ง
    • สามารถทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ยุ่งยากได้ตั้งแต่ยังเด็ก
    • สามารถทำความเข้าใจกับบทสนทนาของผู้ใหญ่ได้
    • เรียนรู้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
    • มักจะจดจ่อกับเรื่องที่ตัวเองสนใจเป็นพิเศษได้เป็นเวลานาน
    • มีความจำเป็นเลิศ
    • มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง
    • มักจะคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่าตัวเอง มากกว่าที่จะสนิทกับเด็กวัยเดียวกัน
    • ชอบอยู่คนเดียว สนใจกับสิ่งที่ตัวเองชอบ

    ลักษณะเหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างของเด็กที่เป็นอัจฉริยะเท่านั้น เด็กแต่ละคนมีวิธีการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน และอาจจะยังมีลักษณะอื่น ๆ อีกมาก ที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความเป็นอัจฉริยะของลูก

    ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะ

    ความเชื่อที่ 1 เด็กอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องรับการช่วยเหลือ พวกเขาดูแลตัวเองได้

    พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่าถ้าลูกเป็นอัจฉริยะ ก็ไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะยังไงพวกเขาก็เก่งอยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วเด็กที่มีพรสวรรค์เหล่านี้ ยังต้องได้รับคำแนะนำ การชี้ทาง และการฝึกฝนอยู่อีกมาก ถึงจะสามารถแสดงออกถึงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่

    นอกจากนี้ เด็กอัจฉริยะยังอาจต้องได้รับการดูแลด้านการเรียนรู้เป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยให้เด็กเรียนในโรงเรียนตามปกติ เด็กอัจฉริยะเหล่านี้มักจะก้าวหน้าไปไกลกว่าเพื่อนในวันเดียวกัน และเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ ไปก่อนล่วงหน้า จนทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการเรียนรู้ได้ ความเบื่อหน่ายเหล่านี้อาจนำไปสู่การไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตได้

    ความเชื่อที่ 2 เด็กที่เป็นอัจฉริยะจะมีผลการเรียนสูงเสมอ

    หลายคนมักจะยึดติดกับภาพลักษณ์ที่ว่า เด็กอัจฉริยะ คือเด็กที่เรียนเก่ง มีความรู้เยอะ ได้คะแนนสูง แต่จริง ๆ แล้วความอัจฉริยะนั้นมีอยู่หลากหลายด้านแตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจจะเชี่ยวชาญทางด้านอื่น ที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในขณะเดียวกัน เด็กอัจฉริยะที่เชี่ยวชาญทางด้านวิชาการ หากไม่ได้รับการดูแลและจัดการกับบทเรียนให้เหมาะสม อาจจะทำให้เด็กไม่สนใจที่เรียน ปรับตัวได้ช้า และส่งผลต่อผลการเรียนได้ในที่สุด

    ความเชื่อที่ 3 เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่สามารถเป็นอัจฉริยะได้

    หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กพิการทางสมอง ไม่สามารถจัดให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเด็กอัจฉริยะได้ ความจริงแล้ว มีเด็กอัจฉริยะหลายคนที่มีปัญหาทางด้านการเรียนรู้ หรือมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่มีความสามารถทางด้านใดด้านหนึ่งดีเด่นเป็นพิเศษ แต่ความสามารถเหล่านี้มักจะถูกปัญหาทางการเรียนรู้ปกปิดไว้ คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักสังเกตถึงศักยภาพของลูก และช่วยสนับสนุนให้ลูกได้แสดงความสามารถให้เหมาะสมกับพรสวรรค์ของตัวเอง

    พ่อกับแม่จะช่วยสนับสนุนเด็กอัจฉริยะได้อย่างไร

    เด็กอัจฉริยะแต่ละคนนั้นมีพรสวรรค์ การแสดงออก และความต้องการที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านภาษา ความรู้ สมรรถภาพร่างกาย ดนตรี หรือความเป็นผู้นำ การจะช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้เด็กได้มีโอกาสเปิดกว้างและทดลองกับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

    สำหรับการสนับสนุนที่บ้าน

    พ่อและแม่อาจจะพยายามคอยสังเกตความชอบและความต้องการของลูก ให้โอกาสลูกได้แสดงออก ช่วยลูกฝึกทักษะการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ลูกได้มีโอกาสทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษา การประดิษฐ์ การทำอาหาร ฟังเพลง เต้น หรือการออกแบบ ให้เด็กได้ค้นพบ และคอยชี้แนะหากลูกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือช่วยลูกแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด พ่อแม่ควรเปิดกว้าง ทำความเข้าใจและยอมรับฟังความเห็นของลูก

    สำหรับการสนับสนุนที่โรงเรียน

    หากลูกมีลักษณะของเด็กอัจฉริยะ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกสนใจและมีพรสวรรค์ ก่อนจะเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับความสามารถของลูก เช่น หากลูกมีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี ควรเลือกโรงเรียนที่โดดเด่นทางด้านการเรียนการสอนดนตรี หรืออาจจะหาครูสอนพิเศษมาช่วยพัฒนาความสามารถของลูก ในขณะเดียวกัน พ่อและแม่ควรจะพูดคุยกับทางโรงเรียน เพื่อทำความเข้าใจในการรับมือกับเด็กที่เป็นอัจฉริยะ และเพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนจะสามารถให้การดูแลลูกได้อย่างเหมาะสม

    แม้ว่าการให้เด็กอัจฉริยะเรียนรวมกับเด็กปกติอาจส่งผลกระทบความสามารถทางการเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้แยกเด็กอัจฉริยะไปอยู่คนเดียวเสียเลย เพราะเด็กเหล่านี้ยังต้องได้รับโอกาสในการเข้าสังคม และฝึกฝนการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้สามารถเติบโตมาและใช้ชีวิตได้ตามปกติในสังคม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา