backup og meta

ตีลูก ส่งผลกับลูกอย่างไร และวิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะสม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

    ตีลูก ส่งผลกับลูกอย่างไร และวิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะสม

    การตีลูก เพื่อให้เชื่อฟัง บางครั้งอาจไม่ได้เป็นเทคนิคที่เหมาะสมเสมอไป เพราะยังมีหนทางอื่น ๆ อีกมากมายในการอบรมสั่งสอนอย่างสร้างสรรค์ ที่จะช่วยให้ลูกรักรู้จักเหตุผล และพร้อมรับฟัง หรือเต็มใจพิจารณาสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการจะสื่อสารกับพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น

    ทำไม การตีลูก บ่อย ๆ ถึงไม่ดี

    ถึงแม้ในประเทศไทยของเรา จะใช้การตีลูก เป็นหนึ่งในวิธีอบรมสั่งสอน หรือเอาไว้ทำโทษกันมาอย่างยาวนาน แต่วิธีนี้ก็อาจจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะยังมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ในการอบรมสั่งสอนลูกได้ เช่น การแสดงสีหน้า น้ำเสียงที่ดุอย่างชัดเจน งดให้ทำกิจกรรมที่ชอบสักระยะจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกผิด ที่สำคัญ หากคุณใช้วิธีการตีลูกอย่างเดียวอยู่บ่อยครั้ง อาจส่งผลเสียต่อเด็ก ๆ นั่นคือ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงลบได้ในอนาคต เช่น

    • ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่มีความสุขดังเดิม
    • สภาพจิตใจของเด็กเปลี่ยนแปลงไป หรือมีการจดจำเพียงแต่ความเจ็บปวดจากการถูกตีมากกว่าการจดจำความทรงจำดี ๆ
    • ทำให้เด็กก้าวร้าวมากขึ้น
    • เด็ก ๆ อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นประจำ
    • เป็นการเพิ่มความรุนแรงในครอบครัว เพราะบางครั้งเด็กอาจมีการโต้ตอบที่รุนแรงกลับ เช่น การตะโกน ส่งเสียงดัง ทำร้ายพ่อแม่กลับ

    หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกรัก ก็สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี เรามีคำแนะนำหรือเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกมาฝาก คุณจะได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมอุปนิสัยและพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน จะได้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงหรือผลเสียข้างต้น

    เคล็ดลับสำหรับ การเลี้ยงลูก

    อย่างที่ทราบว่า การตีลูก หรือการใช้ความรุนแรง อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ทุกครอบครัวพึงกระทำ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาเมื่อคุณ ตีลูก คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองสามารถนำเคล็ดลับดี ๆ เหล่านี้ ไปลองปฏิบัติตามกันได้ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนที่ลูกรักยังเยาว์วัย และอยู่ในช่วงวัยกำลังจดจำ

    1. สร้างความมั่นใจให้ลูก

    บางครั้งเด็ก ๆ อาจเผลอกระทำผิดพลาด จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรคอยให้แนะนำ พร้อมตักเตือนอยู่ข้าง ๆ มากกว่าการตี และใช้ถ้อยคำรุนแรง อีกทั้งไม่ควรห้ามการตัดสินใจของพวกเขา แต่อาจเป็นการพูดคุยด้วยเหตุผล หรืออาจกล่าวชมเชยบ้างหากลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เขามีความมั่นใจเมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง และพร้อมแก้ไขหากทำผิดพลาด

  • กำหนดวินัย
  • วินัย หรือข้อปฏิบัติ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกครอบครัว การฝึกวินัยขั้นพื้นฐาน ในแบบที่ไม่ใช้การบังคับหรือขู่เข็ญ จะช่วยให้เด็กได้รู้จักขอบเขตว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดควรระมัดระวัง เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อนถึงจะอนุญาตให้ดูทีวี เล่นโทรศัพท์ หรือเล่นเกมส์ ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะต้องขัดใจลูกบ้าง แต่อาจเป็นผลดีที่ช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบในอนาคต

    1. ใช้เวลาร่วมกันภายในครอบครัว

    คุณพ่อคุณแม่อาจหาเวลาว่าง เช่น วันหยุดสุดสัปดาห์ พาลูก ๆ ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยอาจเป็นการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนสนุก สวนสัตว์ ทะเล เป็นต้น เพราะในภายภาคหน้าเมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้นไป พวกเขาอาจต้องการความส่วนตัวมากขึ้น จนมีเวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวน้อยลง

    1. หมั่นพูดคุย และรับฟังกันอยู่เสมอ

    คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกสอนให้เด็กรู้จักเปิดใจพูดคุย และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อย่าคิดเพียงแต่ว่าพวกเขาเป็นแค่เด็กเล็ก คงพูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังอะไรไม่เข้าใจ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน รับฟังในสิ่งที่ลูกพูด และแสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้อารมณ์รุนแรง ก็นับว่าเป็นอีกเรื่องที่ดีมาก เพราะจะทำให้พวกเด็กไม่รู้สึกเหมือนตัวคนเดียว และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้ยิ่งแนบแน่น และเข้าใจกันมากขึ้น

    คำแนะนำวิธีการเลี้ยงลูก ให้เหมาะสม

    อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการตีลูก อาจไม่ใช่วิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะสมนัก รูปแบบการเลี้ยงลูกที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด อาจเป็นการใช้เหตุผล ร่วมกับการฝึกวินัยที่เหมาะสม โดยไม่เน้นการตีลูกด้วยความรุนแรงเป็นหลัก แต่ถ้าหากจำเป็นต้องมีการลงโทษด้วยการตี คุณพ่อคุณแม่ก็อาจต้องบอกกล่าวเหตุและผลของการกระทำที่ผิดพลาดของลูก พร้อมปลอบโยนเขาด้วย เพื่อให้พวกเขาเข้าใจ และไม่กระทำพฤติกรรมที่ไม่ดีเช่นนี้อีก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา