backup og meta

เพศทางเลือก และการมีบุตร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 08/02/2022

    เพศทางเลือก และการมีบุตร

    เพศทางเลือก หมายถึง กลุ่มบุคคลซึ่งมีอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ตรงกับอวัยวะเพศหรือโครงสร้างของร่างกาย อาจเป็นคนที่ร่างกายเป็นชาย แต่รับรู้ รู้สึก และระบุว่าตนเองเป็นเพศหญิง หรือผู้ที่ร่างกายเป็นหญิง แต่มีความรู้สึกและระบุว่าตนเองเป็นผู้ชาย รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถกำหนดให้ตนเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง คู่รักเพศทางเลือกมักใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่ปัญหาหนึ่งซึ่งคู่รักเพศทางเลือกต้องเจอ คือต้องการมีบุตรแต่มีไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางธรรมชาติ รวมทั้งข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทั้งนี้ คู่รักเพศทางเลือกที่ต้องการมีบุตรอาจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการมีบุตรเพื่อสร้างครอบครัวที่อบอุ่นต่อไป

    การมีบุตรของเพศทางเลือก

    เพศทางเลือกสามารถมีบุตรได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้ แต่ในบางกรณีอาจต้องรอให้ข้อกฎหมายผ่านอนุมัติก่อน

    การรับบุตรธรรม

    การรับบุตรบุญธรรม คือ การรับลูกคนอื่นมาเลี้ยงเสมือนเป็นลูกตัวเอง ภายใต้ข้อหนดทางกฏหมาย ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะรับมาเป็นบุตรบุญธรรม 15 ปี ผู้จะรับบุตรบุญธรรมถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน แต่ในกรณีของประเทศไทย พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมปัจจุบันยังไม่ผ่านการพิจารณาโดยฝ่ายนิติบัญญติ ทำให้สถานะของคู่รักเพศทางเลือก ยังไม่เท่ากับ “สามีและภรรยา” หรือ “คู่สมรส” ตามกฎหมาย ดังนั้น การรับบุตรบุญธรรม จึงอาจให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเพียงคนเดียวในเชิงนิตินัย แต่สามารถร่วมกันเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม และทำหน้าที่เป็นบิดามารดาทางพฤตินัยได้

    การอุ้มบุญ

    การอุ้มบุญ คือ การให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนคู่รัก ด้วยการปฏิสนธิภายนอก หรือการฝังตัวอ่อนของเด็กเข้าไปในท้อง

    ในประเทศไทย เพศทางเลือกไม่สามารถมีบุตรโดยการอุ้มบุญ เช่นเดียวกับชายโสดและหญิงโสด ส่วนในกรณีของคู่สมรสชายหญิง การอุ้มบุญทุกครั้งจำเป็นต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กก่อน

    ในประเทศที่อนุญาต การอุ้มบุญเป็นทางเลือกมีบุตรของคู่รักชายรักชาย เนื่องจากคู่รักชายรักชายไม่มีรังไข่ หากคู่รักเพศทางเลือกของคนไทยเป็นชาวต่างชาติอาจมีบุตรได้ด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้ ควรศึกษาข้อกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

    โดยปกติ ชายรักชายจะเลือกอุ้มบุญโดยใช้อสุจิของใครคนหนึ่งผสมกับไข่ซึ่งมีคนบริจาคไว้จากธนาคารฝากไข่ ส่วนแม่อุ้มบุญ อาจเลือกจากเพื่อน คนในครอบครัว หรือผู้หญิงที่ทางบริษัทตัวแทนซึ่งทำหน้าที่ในการดูแลการอุ้มบุญหามาให้

    แม่อุ้มบุญที่เหมาะสม ควรมีอายุระหว่าง 21 ถึง 45 ปี สุขภาพดี และมีบุตรของตัวเองอย่างน้อย 1 คน โดยผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ผู้หญิงซึ่งมีลูกของตัวเองมาก่อน จะรู้สึกผูกพันกับลูกอุ้มบุญน้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยมีลูก

    การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง

    การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (Intra-Uterine Insemination หรือ IUI) คือ การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ผ่านท่อพลาสติกขนาดเล็ก เพื่อให้อสุจิว่ายไปผสมกับไข่ โดยคุณหมอจะทำ IUI ให้คนไข้ในช่วงไข่ตกหรือไข่ใกล้ตก

    การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรงเป็นทางเลือกมีบุตรสำหรับคู่รักหญิงรักหญิง เนื่องจากมีไข่แต่ไม่มีอสุจิ

    ทั้งนี้ ปัจจุบันกฏหมายในประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้คู้รักเพศทางเลือกใช้อสุจิบริจาคได้ หากคู่รักเพศทางเลือกเป็นชาวต่างชาติอาจทำได้ในประเทศอื่น เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย  ประเทศสหรัฐอเมริกา  คู่รักเพศทางเลือกจำเป็นต้องศึกษาข้อกฎหมายของประเทศนั้น ๆ โดยละเอียด

    โดยทั่วไป คู่รักหญิงรักหญิงจะตัดสินใจว่าใครจะทำหน้าที่ตั้งครรภ์ หลังจากนั้นจึงไปติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการฉีดอสุจิเข้าร่างกาย โดยอาจเป็นอสุจิของคนใกล้ตัวที่บริจาคให้โดยตรงหรือจากธนาคารอสุจิที่มีผู้บริจาคไว้

    เด็กหลอดแก้ว

    การทำเด็กหลอดแก้ว (In-Vitro Fertilization หรือ IVF) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคู่รักหญิงรักหญิง คือ การปฏิสนธิไข่และอสุจิในห้องทดลอง ก่อนย้ายตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกของผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์ เพื่อให้ตั้งครรภ์ต่อไป

    โดยปกติ เด็กหลอดแก้ว เป็นวิธีแก้ปัญหาในคู่รักซึ่งมีบุตรยาก เช่น ฝ่ายหญิงท่อนำไข่อุดตัน หรือฝ่ายชายอสุจิไม่แข็งแรง

    ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้มีการทำเด็กหลอดแก้วในคู่รักเพศทางเลือกเนื่องจากจำเป็นต้องใช้เอกสารในการจดทะเบียนสมรสประกอบ แต่ในทวีปยุโรป มีประเทศ 30 ประเทศที่คู่รักเพศทางเลือกสามารถจดทะเบียนสมรสถูกกฎหมายและสามารถมีบุตรผ่านการทำเด็กหลอดแก้วได้

    เพศทางเลือกเป็นผู้ปกครองที่ดีได้

    ทั้งนี้ แม้ว่าในประเทศไทย คู่รักเพศทางเลือกมีโอกาสน้อยในการมีบุตร เนื่องจากข้อกฎหมายที่ยังไม่อนุญาตให้เพศทางเลือกจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมาย และอาจมาจากความเข้าใจผิดข้อหนึ่งเกี่ยวกับเพศทางเลือกที่ว่า เพศทางเลือกเป็นผู้ปกครองที่ดีไม่ได้ แท้ที่จริงแล้ว มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สรุปว่า แทบไม่มีความแตกต่างในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งให้เติบโตขึ้น ในครอบครัวที่ผู้ปกครองเป็นเพศเดียวกันหรือเป็นคนต่างเพศ

    มีการศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2524 และ 2537 ในเด็ก 260 คน ซึ่งโตมาในครอบครัวซึ่งแม่เป็นเพศตรงข้าม และแม่ซึ่งเป็นหญิงรักหญิง ผลการศึกษา ไม่พบความแตกต่างของสติปัญญา ความภูมิใจในตัวเอง ความเครียดต่อผู้ปกครอง หรือโอกาสเสี่ยงในการป่วยเป็นโรค ในเด็กทั้งหมดที่ศึกษา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 08/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา