backup og meta

แม่เลี้ยงเดี่ยว วิธีรับมือเมื่อต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    แม่เลี้ยงเดี่ยว วิธีรับมือเมื่อต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง

    การเป็น แม่เลี้ยงเดี่ยว อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นตามลำพังหลายประการ ทั้งความเหน็ดเหนื่อยที่มากกว่าปกติ เวลาส่วนตัวที่น้อยลง การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองเป็นหลัก คุณแม่จึงควรเรียนรู้วิธีรับมือเมื่อต้องเลี้ยงลูกตามลำพังที่อาจช่วยให้สามารถรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามาได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้สามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุขทั้งกายและใจได้

    แม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นอย่างไร

    แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือซิงเกิ้ลมัม (Single Mom) คือ คุณแม่ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งคุณพ่อและคุณแม่ให้กับลูก หลายคนอาจจำเป็นต้องรับบทบาทนี้จากการแยกทางกับคู่ครองของตัวเอง หรืออาจเกิดจากการสูญเสียคู่ครองของตัวเองไป การเลี้ยงลูกด้วยตัวเองคนเดียวเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ความทุ่มเทเป็นอย่างมาก คุณแม่จะต้องมีความอดทนและความเข้มแข็งเพียงพอ เพื่อให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุขทั้งแม่และลูก นอกจากนี้ เด็กบางคนที่เติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของคุณแม่เพียงคนเดียวอาจมองเห็นความแตกต่างระหว่างครอบครัวตัวเองกับครอบครัวเพื่อน หรือสิ่งที่สังคมวางกรอบเอาไว้ คุณแม่จึงควรอธิบายให้ลูกเข้าใจและหมั่นเอาใจใส่ลูกอยู่เสมอเพื่อให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุขทั้งกายและใจ ทั้งนี้ คุณแม่ก็ควรดูแลจิตใจของตัวเองให้ดีเช่นกัน

    แม้ว่าการทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ที่สมบูรณ์แบบให้กับลูกจะเป็นเรื่องยาก คุณแม่อาจต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน และอุปสรรคหลายอย่างที่ท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องเวลาส่วนตัวที่น้อยลง การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว ความเหนื่อยล้า และเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องรับมือด้วยตัวคนเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ครอบครัวที่มีผู้ใหญ่เลี้ยงลูกเพียงลำพังก็สามารถให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูกได้อย่างเต็มที่เช่นกัน แม้คุณแม่จะเป็นหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียวก็สามารถเลี้ยงดูลูกหนึ่งคนหรือหลาย ๆ คนให้มีความสุขและเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ไม่ต่างจากเด็กที่มีพ่อและแม่อยู่ร่วมกัน

    วิธีรับมือเมื่อเป็น แม่เลี้ยงเดี่ยว

    วิธีต่อไปนี้อาจช่วยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถใช้ชีวิตประจำวันและเลี้ยงลูกได้เป็นอย่างดี

    สร้างกิจวัตรประจำวัน

    คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวควรสร้างกิจวัตรประจำวันที่เป็นแบบแผนให้กับลูก เช่น เวลาตื่นนอนและเข้านอน เวลาอาหารเย็น เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามตารางที่วางไว้เป็นประจำในทุก ๆ วัน อาจช่วยเสริมสร้างวินัยให้กับลูก และช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงเมื่อได้ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคย และหากคุณแม่ต้องการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของลูก ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกสามารถปรับตัวได้

    ใช้เวลาที่มีร่วมกันให้คุ้มค่าที่สุด

    การสานสัมพันธ์ด้วยการใช้เวลาในแต่ละวันร่วมกับลูกอาจช่วยให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้น หากในระหว่างวันคุณแม่จะต้องห่างจากลูกเพื่อคุณแม่ไปทำงานส่วนลูกก็ไปโรงเรียน แต่ก็สามารถใช้เวลาในช่วงเช้าและเย็นวันทำงาน รวมถึงเวลาในช่วงวันหยุดร่วมกันเพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์ได้ คุณแม่อาจสอบถามเรื่องที่ลูกสนใจ เพื่อให้มีเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายได้แบ่งปันความคิดเห็นร่วมกัน เช่น การพูดคุยกันเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องโปรดขณะรับประทานอาหารค่ำแทนการดูโทรทัศน์ การเล่าเรื่องตลกก่อนนอน

    ให้ความสนใจและเอาใจใส่ลูกอยู่เสมอ

    หลายคนอาจต้องทำหน้าที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน จนอาจทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกเท่าไหร่นัก คุณแม่อาจพูดคุยและสอบถามถึงชีวิตประจำวัน เรื่องเพื่อน เรื่องการเรียน และให้ความสนใจในเรื่องที่ลูกพูดโดยไม่ตัดสินหรือตำหนิ และเมื่อลูกรู้สึกว่าคุณแม่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและไม่มีท่าทีตัดสิน อาจทำให้ลูกรู้สึกสนิทใจกับคุณแม่มากขึ้น และเล่าเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตให้คุณแม่รับรู้อย่างเต็มใจ ทำให้คุณแม่ได้มีส่วนร่วมในชีวิตของลูกโดยไม่ต้องบังคับ และหากลูกมีปัญหาหรือเรื่องที่ไม่สบายใจในอนาคต ก็อาจรู้สึกไว้วางใจและกล้าขอคำปรึกษาจากคุณแม่ได้ตรง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของแม่ลูกดำเนินไปได้ด้วยดี

    ชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี

    คำชมและการสนับสนุนจากคุณแม่อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีให้กับลูก ช่วยให้ลูกมีความมั่นใจ กล้าคิดกล้าแสดงออก และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ จึงควรชื่นชมทุกครั้งเมื่อลูกประสบความสำเร็จในการทำเรื่องที่ตั้งใจมานาน และควรชมเชยเมื่อลูกทำสิ่งที่ดีให้กับผู้อื่น เช่น ให้ยืมของใช้ ให้อภัยคนอื่น ช่วยเหลือคนรอบข้าง ซึ่งจะช่วยปลูกฝังให้ลูกสามารถตัดสินใจได้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ

    ร่วมมือกับลูกในการดูแลเรื่องภายในบ้าน

    เมื่อลูกโตมากพอและอยู่ในวัยที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้มากขึ้น คุณแม่สามารถขอให้ลูกช่วยดูแลเรื่องงานบ้านได้ ซึ่งอาจช่วยให้ลูกมีความรับผิดชอบและเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการงานบ้านต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น เช่น ซื้อของที่จำเป็นเข้าบ้าน แบ่งเวรทำความสะอาด หรือหากลูกกลับถึงบ้านก่อนคุณแม่ ก็อาจให้ลูกช่วยเตรียมวัตถุดิบในการประกอบอาหารเย็นไว้ล่วงหน้า เมื่อคุณแม่กลับถึงบ้านจะได้สามารถทำอาหารได้ทันที ทั้งนี้ ไม่ควรให้ลูกทำกิจกรรมที่เกินความสามารถหรืออาจเป็นอันตรายได้

    ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

    แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง แต่หลายคนก็ยังมีคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงที่พร้อมจะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเมื่อร้องขอ จึงไม่ควรลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างในยามจำเป็น และอาจตอบแทนพวกเขาด้วยการให้ความช่วยเหลือในเรื่องอื่น ๆ หรือซื้อของฝากให้บ้างเพื่อตอบแทนน้ำใจ

    หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง

    การเลี้ยงลูกต้องอุทิศเวลาและทุ่มเทแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเลี้ยงลูกลำพัง ไม่มีผู้ปกครองอีกคนหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวมาช่วยแบ่งเบาภาระ คุณแม่ควรดูแลใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับที่คอยดูแลลูกในทุกวัน ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ และหาเวลาพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจบ้าง เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เดินเล่น ไปดูหนัง โดยอาจให้คนรอบข้างอย่างพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง พี่เลี้ยงเด็ก มาช่วยดูแลลูกในช่วงนั้น และควรหมั่นให้กำลังใจตัวเองว่าตัวเองสามารถทำหน้าที่ในการเป็นพ่อและแม่ให้กับลูกได้อย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว

    วางแผนสำรองเผื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน

    คุณแม่ควรมีแผนสำรองในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ทั้งเรื่องเงิน อุบัติเหตุ สุขภาพ โดยเริ่มจากวางแผนทางการเงินที่ดีตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มีเงินสำรองเพียงพอนำมาใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย หรือการเงินของครอบครัวในอนาคต และควรสอนวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันให้ลูกด้วย เพื่อให้สามารถลูกแก้ปัญหาเองได้ในเบื้องต้น เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ วิธีปิดวาล์วน้ำหากท่อแตก การขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา