backup og meta

โปลิโอ คือ โรคอะไร สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    โปลิโอ คือ โรคอะไร สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน

    โปลิโอ คือ โรคติดต่อชนิดร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ ทำให้ไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อแขนและขาเป็นอัมพาต หลังติดเชื้อ เชื้อจะแบ่งตัวอยู่ภายในลำไส้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสอุจจาระผู้ป่วยโดยตรง การบริโภคอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เป็นต้น หากติดเชื้อและมีอาการรุนแรงแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโปลิโอเป็นโรคที่ไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว และสามารถป้องกันได้ด้วยการให้เด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างครบถ้วนตามกำหนด

    โปลิโอ คือ โรคอะไร

    โปลิโอ (Polio หรือ Poliomyelitis) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) เป็นโรคที่พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เชื้อจะเข้าไปทำลายการทำงานของกระดูกสันหลังและสมอง ทำให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทอักเสบและผิดปกติ ส่งผลให้เป็นอัมพาต ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายเมื่อปี 2540 และสามารถรักษาสถานะปลอดโปลิโอมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โรคโปลิโอสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงควรพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนตามกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโปลิโอ

    สาเหตุที่ทำให้เป็นโปลิโอ

    โปลิโอ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ ส่วนใหญ่ผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง เชื้อนี้สามารถติดต่อได้จากคนสู่คน หรือจากการสัมผัสเชื้อที่อยู่บนสิ่งของต่าง ๆ แล้วเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารผ่านทางปากหรือจมูก ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • จากการสัมผัสเชื้อของผู้ป่วยที่ออกมาทางอุจจาระ เชื้ออาจติดมือหรือสิ่งของต่าง ๆ และปนเปื้อนอาหารหรือเครื่องดื่ม เมื่อรับประทานเข้าไป จึงทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้
    • เมื่อผู้ป่วยไอหรือจาม อาจทำให้เชื้อปนอยู่ในละอองฝอย และผู้ที่อยู่ใกล้เคียงอาจหายใจรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

    อาการที่พบในผู้ป่วยโปลิโอ

    อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโปลิโอ อาจมีดังนี้

    • กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ ผู้ที่ติดเชื้อโปลิโอส่วนใหญ่ประมาณ 90-95% จะไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่ยังสามารถแพร่เชื้อผ่านทางอุจจาระได้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีอาการ จึงมักไม่ทราบว่ามีเชื้อจนกว่าจะตรวจเชื้อจากเลือดหรืออุจจาระ
    • กลุ่มที่มีอาการเพียงเล็กน้อย (Abortive poliomyelitis) ผู้ป่วยอาจเป็นไข้หลังรับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป อาจมีอาการไข้ต่ำประมาณ 2-3 วัน ปวดศีรษะ เจ็บคอ อาเจียน และไม่อยากอาหาร โดยอาการเหล่านี้หายไปเองภายใน 5 วัน และไม่มีผลกระทบต่อระบบประสาท
    • กลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic poliomyelitis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจเป็นไข้หลังรับเชื้อประมาณ 7-10 วัน อาการที่พบได้แก่ ปวดศีรษะ คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า เป็นไข้ ปวดแขนและขา
    • กลุ่มที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic poliomyelitis) ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการหลังรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะมีอาการคล้ายกลุ่มที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อหายแล้ว อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มขา แขนหรือขามีอาการเหมือนเป็นอัมพาต และอาจมีการติดเชื้อที่สมองหรือไขสันหลัง ซึ่งอาจเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบฉับพลัน

    วิธีรักษาและป้องกันโปลิโอ

    โปลิโอเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยปกติจะต้องรักษาตามอาการ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงได้ วิธีและเครื่องมือที่อาจบรรเทาอาการของโปลิโอได้ มีดังนี้

    • ใช้ยาบรรเทาปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
    • ออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (Pulmonary Rehabilitation)
    • ใช้เครื่องช่วยหายใจ
    • ทำกายภาพบำบัด
    • ประคบร้อนเมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อกระตุก

    การป้องกันโปลิโอ ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนหรือรับประทานยากระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโปลิโอ

    • วัคซีนแบบรับประทานหรือแบบหยอด เป็นวัคซีนที่ทำเลียนแบบเชื้อโปลิโอตามธรรมชาติ ควรหยอดให้เด็กกลืนทั้งหมด 5 ครั้ง ตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 12-18 เดือน และครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 4-6 ปี
    • วัคซีนแบบฉีด เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโปลิโอที่ตายแล้ว ควรฉีดให้เด็กทั้งหมด 4 ครั้ง ตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6-12 เดือน และครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 4-6 ปี

    หากต้องการเปลี่ยนชนิดของวัคซีนป้องกันโปลิโอ สามารถเปลี่ยนแล้วนับจำนวนครั้งที่ได้รับวัคซีนต่อไปได้เลย ไม่ต้องเริ่มนับใหม่ เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันโปลิโออย่างน้อย 4 ครั้ง ตัวยาจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา