backup og meta

Pedophilia หรือ โรคใคร่เด็ก ภัยคุกคามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    Pedophilia หรือ โรคใคร่เด็ก ภัยคุกคามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ

    โรคใคร่เด็ก หรือ Pedophilia คือ ภาวะความผิดปกติทางจิตใจที่ทำให้มีความคิดและพฤติกรรมหมกมุ่นกับการมีสัมพันธ์ทางเพศกับเยาวชน โดยทั่วไปมักพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง คนใคร่เด็กจะมีความชอบและเสพสื่อในลักษณะนี้เป็นประจำ หากมีโอกาสก็จะเข้าหาเด็กที่ยังอายุน้อยและใช้เวลาร่วมกับเด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและเกิดความไว้วางใจ หลังจากนั้นจะเริ่มล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

    การเรียนรู้เกี่ยวกับ Pedophilia อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของคนใคร่เด็ก และให้ความรู้แก่เด็กได้อย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลานตกเป็นเหยื่อของภัยสังคมในลักษณะนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว คนใคร่เด็กที่สามารถล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้มักจะเป็นคนที่เด็กคุ้นเคยอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรแนะนำให้เด็กระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอเวลาที่ต้องใช้เวลาหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น แม้ว่าจะรู้จักบุคคลผู้นั้นอยู่แล้วก็ตาม

    Pedophilia คืออะไร

    โรคใคร่เด็ก หรือ Pedophilia (เปโด หรือ เปโดฟีเลีย) มีลักษณะเฉพาะคือ การมีจินตนาการทางเพศ มีความต้องการทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศที่เกี่ยวข้องผู้เยาว์ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เช่น รู้สึกมีอารมณ์ทางเพศเมื่อเห็นภาพเด็ก ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี และมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำ พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คนใคร่เด็กอาจมีความรู้สึกดึงดูดทางเพศต่อเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง หรือทั้งสองเพศ และอาจรู้สึกเช่นนี้แค่ต่อเด็กหรืออาจชอบพอได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

    โรคนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคพาราฟีเลีย (Paraphilia) หรือ โรคกามวิปริต ใช้เรียกผู้ที่มีอารมณ์และพฤติกรรมทางเพศที่ผิดแปลกไปจากคนทั่วไป โรคพาราฟีเลียถือเป็นความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่งเนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ และควรได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม โดยอาจรักษาด้วยการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช การทำพฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) การทำจิตบำบัดระดับลึก (Deep Psycho-therapy) เป็นต้น

    คนใคร่เด็กถือเป็น Sexual predator หรือ นักล่าทางเพศ ที่มุ่งเน้นการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากผู้เยาว์ ต่างจากคนบางกลุ่มที่มองหาเหยื่อที่เป็นผู้ใหญ่ คนกลุ่มนี้มักจะหาเด็กที่อายุน้อย ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยเรียน และอาจค่อย ๆ ทำดีกับเด็กหรือสร้างภาพเป็นผู้ใหญ่ใจดีให้เด็กไว้วางใจและคลายความระมัดระวังตัว หรือที่เรียกว่าการกรูมมิ่ง (Grooming) จากนั้นก็จะเข้าหาและล่วงละเมิดทางเพศ

    ลักษณะของผู้ที่มีอาการของ Pedophilia

    ลักษณะของผู้ที่มีอาการของโรคใคร่เด็ก อาจมีดังนี้

    สร้างความสัมพันธ์กับเด็ก

    คนใคร่เด็กมักชอบสร้างความสัมพันธ์กับเด็กเป็นพิเศษ โดยอาจเข้าหาเด็กประถม มัธยมต้น หรือมัธยมปลาย และชอบตีสนิทกับเด็กที่อายุน้อยกว่าเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่สนิทสนมกับคนรุ่นเดียวกัน นอกจากจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับเด็ก ๆ แล้ว ยังอาจมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น ชอบเล่นมวยปล้ำกับเด็ก เล่นจั๊กจี้ แข่งงัดข้อ โอบกอด จูบ หอมแก้ม สัมผัสร่างกายโดยไม่จำเป็น

    สร้างความพึ่งพา

    ในช่วงแรก คนใคร่เด็กอาจพยายามทำให้เหยื่อรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่พึ่งพาได้ และทำให้เหยื่อไว้ใจ อาจให้ของขวัญ พูดชื่นชม ติดต่อทางข้อความและโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ และใกล้ชิดสนิทสนมกับเหยื่อเป็นพิเศษ เหยื่ออาจรู้สึกว่าอีกฝ่ายให้สิ่งที่คนอื่นให้ไม่ได้ และเป็นเพียงคนเดียวที่เข้าใจ เคารพ หรือเอาใจใส่ตัวเองอย่างแท้จริง จึงทำให้ได้รับความภักดีและความไว้วางใจจากเหยื่อมากเป็นพิเศษ และอาจทำให้คนใคร่เด็กสามารถล่วงละเมิดหรือแสวงหาผลประโยชน์จากเหยื่อได้ง่ายขึ้น

    พูดจาในแง่ลบเพื่อปั่นหัวเหยื่อ

    คนกลุ่มนี้มักจะใช้คำพูดแง่ลบให้เหยื่อรู้สึกแปลกแยกหรือด้อยค่าเพื่อควบคุมและบงการให้เหยื่อตกอยู่ใต้อำนาจของตัวเอง โดยอาจพูดจาดูถูกหน้าตา เสื้อผ้า เพื่อนที่เหยื่อคบหาด้วย หรือเรื่องส่วนตัวอื่น ๆ ของเหยื่อ เมื่อเหยื่อพยายามแย้งหรือเผชิญหน้ากับคำกล่าวหาที่ไม่เป็นจริง คนใคร่เด็กก็จะพูดโกหกหรือปั่นหัว (Gaslighting) ให้เหยื่อคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดหรือคิดไปเอง ทั้งยังอาจพูดถึงความรู้สึกตัวเองซ้ำ ๆ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกผิดที่ไปทำร้ายความรู้สึกของตัวเอง

    มีพฤติกรรมก้าวข้ามขอบเขตที่เหมาะสม

    คนใคร่เด็กจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อเหยื่อที่เป็นผู้เยาว์ อาจเริ่มจากการสัมผัสหลังมือ โอบหลัง จับมือหรือขา และอาจจะขยับไปสัมผัสบริเวณที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ การลูบไล้เนื้อตัวโดยที่เหยื่อไม่ยินยอม หรือถึงขั้นบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย โดยการแนะนำให้เหยื่อทำความคุ้นเคยกับเพศสัมพันธ์ เช่น เล่นมุกทางเพศ ให้เหยื่อดูสื่อโป๊ คะยั้นคะยอให้เหยื่อและตัวเองถอดเสื้อผ้าด้วยกัน หรืออาจแนะนำกิจกรรมทางเพศด้วยการบอกว่าเป็นการเล่นเกม

    แสดงท่าทางหึงหวงและมีพฤติกรรมควบคุม

    คนเหล่านี้มักมีอาการหึงหวงรุนแรงเมื่อเหยื่อมีความสัมพันธ์กับเพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรือคนที่ชอบ และอาจเฝ้าดูกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียและกิจกรรมประจำวันของเหยื่ออย่างใกล้ชิด และอาจถึงขั้นบังคับหรือพยายามจำกัดการติดต่อของเหยื่อกับคนรอบตัว โดยเฉพาะคนที่เป็นเพศตรงข้ามกับเหยื่อ

    สัญญาณของการถูกล่วงละเมิด

    พฤติกรรมและลักษณะทางกายภาพที่เป็นสัญญาณว่าเด็กอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีดังนี้

    • เด็กมีพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศเมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือสัมผัสตัวผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม
    • เด็กใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมและส่อไปในทางเพศ
    • เด็กมีความรู้เรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมกับช่วงอายุของตัวเอง
    • เด็กมีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่พูดคุย ไม่สุงสิง หรือแสดงอาการกังวลหรือหวาดกลัวตลอดเวลา และไม่ยอมให้คนรอบตัวทุกคนหรือไม่ยอมให้ใครบางคนที่เป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือครู กอดหรือสัมผัสตัว
    • เด็กเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ใช้เวลาอยู่คนเดียวมากขึ้น
    • เด็กไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบ
    • เด็กฝันร้ายบ่อย
    • เด็กปวดศีรษะหรือปวดท้องบ่อย
    • เด็กมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
    • เด็กมีผลการเรียนแย่ลง ไม่ค่อยส่งงาน หรือไม่เข้าเรียนบ่อยครั้ง
    • เด็กแสดงพฤติกรรมหรือมีคำพูดที่บ่งบอกว่ามองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
    • พบว่าเด็กมีเลือดออกหรือมีอาการอวัยวะเพศบวม หรือมีเลือดติดกางเกงชั้นใน หรือพบคราบเลือดหรือคราบแปลก ๆ บนผ้าปูที่นอน
    • เด็กบอกว่าเจ็บหรือปวดบริเวณอวัยวะเพศขณะเดินหรือนั่ง
    • เด็กมีอาการที่อาจเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือติดเชื้อที่อวัยวะเพศ เช่น มีอาการคัน แสบร้อน หรือมีตกขาว
    • เด็กอาจมีท่าทางไม่สบายใจหรือหวาดกลัวเมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องออกไปข้างนอกหรือแสดงท่าทางว่าไม่ต้องการอยู่กับใครบางคนเป็นพิเศษ
    • เด็กเล็กมีพฤติกรรมถดถอย (Regression) เช่น ปัสสาวะรดผ้าปูที่นอน กลับไปดูดนิ้วหัวแม่มือ
    • เด็กมีพฤติกรรมด้านสุขอนามัยเปลี่ยนไป เช่น เด็กเล็กไม่ยอมให้ผู้ปกครองอาบน้ำให้ ไม่ยอมให้สัมผัสตัวหรือถอดเสื้อผ้าให้ เด็กโตอาบน้ำบ่อยขึ้น
    • เด็กได้รับของขวัญหรือเงินค่าขนมเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไป
    • เด็กตั้งครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา