backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เมตาซาโลน (Metaxalone)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/09/2020

เมตาซาโลน (Metaxalone)

เมตาซาโลน (Metaxalone) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก หรืออาการปวดกล้ามเนื้อ

ข้อบ่งใช้

เมตาซาโลน ใช้สำหรับ

เมตาซาโลน (Metaxalone) ใช้เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก หรืออาการปวดกล้ามเนื้อ มักจะใช้ยานี้ร่วมกับการพักผ่อน การบำบัดทางกายภาพ และการรักษาแบบอื่นๆ

วิธีการใช้ เมตาซาโลน

  • รับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหาก ตามที่แพทย์กำหนด โดยปกติคือวันละ 3 หรือ 4 ครั้ง หากคุณใช้ยานี้หลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง แล้วมีผลข้างเคียง ควรจะรับประทานยานี้ขณะท้องว่าง หรือหลังจากอาหารมื้อเบาๆ
  • ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา อย่าเพิ่มขนาดยาหรือใช้ยาบ่อยกว่าที่กำหนด นอกจากอาการของคุณจะไม่หายไวขึ้นแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น
  • การเก็บรักษา เมตาซาโลน

    • ยาเมตาซาโลน ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเมตาซาโลนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • ไม่ควรทิ้งเมตาซาโลนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

    ข้อควรระวังและคำเตือน

    ข้อควรรู้ก่อนใช้ ยาเมตาซาโลน

  • ก่อนใช้เมตาซาโลน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณแพ้ต่อยานี้ หรือหากคุณเป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีสารไม่ออกฤทธิ์ในการรักษา ที่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือปัญหาอื่น โปรดปรึกษาเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะโรคตับ โรคไต ภาวะโลหิตจาง อาการชัก
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้ อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่ต้องการความตื่นตัว จนกว่าคุณจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ก่อนการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง และสมุนไพรต่างๆ
  • ผู้สูงอายุอาจจะมีปฏิกิริยาไวต่อผลข้างเคียงของยานี้ได้มากกว่า โดยเฉพาะอาการวิงเวียน ง่วงซึม หรือสับสน ผลข้างเคียงเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้ม
  • ในช่วงขณะการตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โปรดปรึกษาความเสี่ยงและประโยชน์กับแพทย์
  • ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้สามารถส่งผ่านน้ำนมแม่ได้หรือไม่ โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร
  • ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

    ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

    เมตาซาโลนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท N โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

    การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

    • A= ไม่มีความเสี่ยง
    • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
    • C= อาจจะมีความเสี่ยง
    • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
    • X= ห้ามใช้
    • N= ไม่ทราบแน่ชัด

    ผลข้างเคียง

    ผลข้างเคียงของการใช้ ยาเมตาซาโลน

    • อาจเกิดอาการง่วงซึม วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน และท้องไส้ปั่นป่วน หากอาการเหล่านี้ไม่หายไป หรือรุนแรงขึ้น โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที
    • โปรดจำไว้ว่า การที่แพทย์ให้คุณใช้ยาตัวนี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า ยามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง และคนที่ใช้ยานี้ส่วนใหญ่ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใดๆ
    • แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ มีความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น กังวลใจ หงุดหงิด สับสน มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ เจ็บคอบ่อยครั้ง ดวงตาหรือผิวหนังเป็นสีเหลือง เหนื่อยล้าผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วหรือรัว ปัสสาวะสีคล้ำ
    • การแพ้ยาที่รุนแรงต่อยานี้ ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาการของการแพ้รุนแรงมีดังนี้ ผดผื่น คันหรือบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ วิงเวียนขั้นรุนแรง หายใจติดขัด
    • ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

    ปฏิกิริยาของยา

    ปฏิกิริยากับยาอื่น

    แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม เช่น

    • ยาแก้ปวดโอปิออยด์ (opioid pain)
    • ยาบรรเทาอาการไอ อย่างโคเดอีน (codeine)
    • ไฮโดรโคโดน (hydrocodone)
    • สุรา
    • กัญชา
    • ยานอนหลับ
    • ยาสำหรับอาการวิตกกังวล อย่างอัลปราโซแลม (alprazolam)
    • โลราเซแพม (lorazepam)
    • โวลพิเดม (zolpidem)
    • ยาคลายกล้ามเนื้ออื่นๆ อย่างคาริโซโพรดอล (carisoprodol)
    • ไซโคลเบนซาพรีน (cyclobenzaprine)
    • ยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) อย่าง เซทิริซีน (cetirizine)
    • ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine)

    ควรตรวจสอบฉลากของยาทั้งหมด เช่น ยาแก้แพ้หรือยาแก้ไอแก้หวัด เนื่องจากอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ สอบถามแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาเหล่านี้อย่างปลอดภัย

    ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจในห้องแล็บบางชนิด รวมถึงการตรวจน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะบางชนิด และอาจทำให้เกิดผลเป็นเท็จได้ โปรดแจ้งให้บุคลากรในห้องแล็บและแพทย์ของคุณทุกคนทราบว่าคุณกำลังใช้ยานี้

    ยาเมตาซาโลนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

    ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

    เมตาซาโลนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

    ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

    เมตาซาโลนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

    ขนาดยา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    ขนาดยาเมตาซาโลนสำหรับผู้ใหญ่

    ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Muscle Spasm)

    • 800 มก. รับประทานวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

    การปรับขนาดยาสำหรับผู้ปวยโรคไต

    • ไตบกพร่องระดับเบาถึงปานกลาง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
    • ไตบกพร่องระดับรุนแรง ห้ามใช้

    การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับ

    • ตับบกพร่องระดับเบาถึงปานกลาง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
    • ตับบกพร่องระดับรุนแรง ห้ามใช้

    คำแนะนำอื่นๆ

    คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

    • ยานี้อาจทำให้จิตใจ และ/หรือความสามารถทางกายภาพที่จำเป็นต้องใช้ในการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตราย เช่น การใช้เครื่องจักรหรือการขับยานยนต์แย่ลงได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับการดื่มสุราหรือยากดประสาทส่วนกลางอื่นๆ (CNS depressants)

    ขนาดยาเมตาซาโลนสำหรับเด็ก

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก (Muscle Spasm)

    อายุ 12 ปีขึ้นไป

    800 มก. รับประทานวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง

    ข้อควรระวัง

    ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 12 ปี

    รูปแบบของยา

    ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

    • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

    กรณีลืมใช้ยา

    หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา