backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ทาซาโรทีน (Tazarotene)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2019

ข้อบ่งใช้

ยาทาซาโรทีนใช้สำหรับ

ยาทาซาโรทีน (Tazarotene) ใช้เพื่อลดริ้วรอยและรอยหมองคล้ำ รวมถึงจุดด่างดำบนใบหน้า ยาทาซาโรทีนเป็นสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ (retinoid) ที่เกี่ยวข้องกับวิตามินเอ สิ่งสำคัญคือใช้ยานี้พร้อมกับการดูแลผิว และหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด

วิธีการใช้ยาทาซาโรทีน

ยานี้ใช้ที่ผิวหน้าเท่านั้น

ล้างมือและเช็ดมือให้สะอาดก่อนทายานี้ จากนั้น ล้างหน้าด้วยครีมทำความสะอาดที่อ่อนโยน และเช็ดให้แห้ง รออย่างน้อย 20 นาทีก่อนทายานี้ เพื่อให้มั่นใจว่าใบหน้าของคุณแห้งแล้ว ทายาขนาดเท่าเม็ดถั่วลงบนใบหน้าตามที่แพทย์สั่ง ปกติแล้วจะเป็น 1 ครั้งต่อวันก่อนนอน ล้างมือให้สะอาดหลังจากทายา ในตอนเช้าทาครีมกันแดดที่ให้ความชุ่มชื้น และมีค่าเอสพีเอฟ 15 หรือมากกว่านั้น

คุณอาจใช้ครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบนใบหน้า ก่อนหรือหลังทายา ให้มั่นใจว่าครีมให้ความชุ่มชื้นหรือยาได้ซึมลงบนผิว และผิวของคุณแห้งก่อนที่คุณจะทาผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อไป

หลีกเลี่ยงการสัมผัสที่ตาหรือปาก หากเกิดขึ้น ใช้น้ำปริมาณมากล้างออกในทันที

อย่าทายาในที่ที่แผลเปิด ถลอก ผิวไหม้หรือเป็นผื่นอักเสบ ปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด เพื่อช่วยจำ ทายานี้ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน

อย่าใช้ยานี้ในปริมาณมาก รวมถึงทายานี้บ่อยหรือนานเกินกว่าที่แพทย์สั่ง อาการจะไม่ได้หายไวขึ้นและคุณจะเสี่ยงที่จะมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น

เนื่องจากยาจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยานี้

แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

การเก็บรักษายาทาซาโรทีน

คุณควรเก็บยาทาซาโรทีนไว้ในอุณหภูมิห้อง รวมถึงเก็บให้พ้นจากแสงและความชื้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับยา คุณไม่ควรเก็บยาทาซาโรทีนไว้ให้ห้องน้ำหรือตู้เย็น ยาทาซาโรทีนแต่ละยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการอ่านคำแนะนำการเก็บรักษายาบนหีบห่อของผลิตภัณฑ์ หรือถามเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คุณไม่ควรทิ้งยาทาซาโรทีนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำอย่างนั้น สิ่งสำคัญคือทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีกต่อไป ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีทิ้งยาอย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาทาซาโรทีน

ก่อนใช้ยาทาซาโรทีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยาชนิดนี้ ยาที่เกี่ยวกับวิตามินเออื่นๆ หรือสารอนุพันธ์วิตามินเอ เช่น ยาไอโซเตรตติโนอิน (isotretinoin) รวมถึงหากคุณมีอาการแพ้อื่นๆ ยาตัวนี้อาจมีส่วนผสมที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ แต่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้หรือปัญหาอื่นๆ ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบประวัติการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคผิวหนังประเภทอื่น เช่น โรคผิวหนังอักเสบ ผิวไหม้ หรือไวต่อแสงแดด

ยานี้อาจทำให้คุณตอบสนองต่อแสงอาทิตย์ไวมากขึ้น หลีกเลี่ยงเวลาที่คุณจะต้องอยู่กลางแดด หลีกเลี่ยงการอาบแดดและหลอดไฟอัลตราไวโอเลต ทาครีมกันแดด และสวมเสื้อผ้าที่ปกป้องผิว เมื่ออยู่ในที่แจ้ง แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากเกิดผิวไหม้ พุพอง หรือเป็นรอยแดง รอจนกว่าผิวจะฟื้นตัวจากการไหม้ก่อนใช้ยา อากาศที่รุนแรง เช่น ลมหรือความหนาวเย็น อาจทำให้ผิวระคายเคือง

หลีกเลี่ยงการใช้กระแสไฟฟ้า แว็กซ์ หรือการใช้สารเคมีกำจัดขนบริเวณที่กำลังรักษาด้วยยานี้

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ (ทั้งยาที่จำหน่ายตามใบสั่งแพทย์ ยาที่จำหน่ายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร)

ห้ามใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดที่เชื่อถือได้ เช่น ถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิด หากคุณตั้งครรภ์ หรือคิดว่าตนอาจจะตั้งครรภ์ แจ้งให้แพทย์ทราบทันที ก่อนใช้ยานี้ ผู้หญิงที่อาจจะตั้งครรภ์ ควรมีผลการตั้งครรภ์ที่เป็นลบภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ควรเริ่มใช้ยานี้ระหว่างช่วงมีประจำเดือน

เนื่องจากยานี้อาจซึมเข้าสู่ผิวหนัง และเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยานี้

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ยานี้ไหลซึมเข้าสู่น้ำนมมารดาหรือไม่ ปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ไม่มีการศึกษาในผู้หญิงที่เพียงพอ ที่จะระบุความเสี่ยงขณะใช้ยาทาซาโรทีน ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อพิจารณาระหว่างข้อดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนใช้ยาทาซาโรทีน อ้างอิงจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ยาทาซาโรทีนจัดเป็นยากลุ่มเสี่ยงสำหรับสตรีมีครรภ์ประเภท N

ต่อไปนี้คือประเภทความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา

  • A = ไม่เสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในงานวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจมีความเสี่ยงบางอย่าง
  • D = พบหลักฐานเกี่ยวกับความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่ทราบแน่ชัด

Side effects

ผลข้างเคียงของการใช้ยาทาซาโรทีน

คุณอาจคัน แสบ หรือปวดผิว มีรอยแดง ระคายเคืองผิว ผิวแห้งหรือลอก หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานหรือแย่ลง แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

โปรดระลึกไว้ว่า แพทย์จ่ายยานี้เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่า ยาจะมีประโยชน์ต่อคุณ มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างเคียง หลายคนใช้ยานี้แล้วไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงเหล่านี้ เช่น เกิดผื่น หรือผิวแตก สีผิวซีดลง หรือมีเลือดไหล

ไม่ค่อยมีอาการแพ้ยาที่รุนแรงเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม เข้ารับการรักษาทันทีหากคุณสังเกตเห็นอาการแพ้ ได้แก่ เกิดผื่น คันผิวหรือผิวบวม (โดยเฉพาะที่ใบหน้า ลิ้นหรือลำคอ) วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาเรื่องการหายใจ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงเหล่านี้ อาจมีผลข้างเคียงอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่ วิตามินเอ สารละลายที่ใช้ดัดผม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่นที่มีผลข้างเคียงทำให้ผิวแห้งอย่างรุนแรง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีแอลกอฮอล์ มะนาวหรือเครื่องเทศเช่น ครีมโกนหนวด ยาสมานแผลเช่นคาลาไมน์ (calamine) น้ำหอม สบู่ ยาสระผมหรือสารทำความสะอาดที่มีฤทธิ์ทางยาหรือกัดกร่อน

ยาทาซาโรทีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาตัวอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ และอาจส่งผลให้ยาที่คุณใช้ออกฤทธิ์ต่างไปจากเดิม หรือเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่อาจเป็นไปได้ คุณควรแจ้งรายชื่อยาทั้งหมดที่คุณใช้ (รวมถึงยาที่จำหน่ายตามใบสั่งแพทย์ ยาที่จำหน่ายโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์และสมุนไพร) และแจ้งให้แพทย์รวมถึงเภสัชกรทราบ เพื่อความปลอดภัย อย่าเริ่มหรือ หยุดใช้ยา รวมถึงเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาทาซาโรทีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงให้ที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงอาหารหรือแอลกอฮอล์ที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้ ก่อนใช้ยา

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาทาซาโรทีนอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณ อาจทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่ลง หรือเปลี่ยนฤทธิ์ของยา สิ่งสำคัญคือโปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวของคุณ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนใช้ยาทาซาโรทีน

ขนาดยาทาซาโรทีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาทั่วไปสำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน

ครีม

เริ่มใช้ครีม 0.05 เปอร์เซ็นต์ ทาเพียงบางเบาบนผิวที่มีรอยสะเก็ดเงิน หนึ่งครั้งต่อวันในช่วงเย็น หากร่างกายทนฤทธิ์ของยาได้ อาจเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์หากจำเป็น

เจล

เริ่มใช้เจล 0.05 เปอร์เซ็นต์ ทาเพียงบางเบาเฉพาะบนผิวที่มีรอยสะเก็ดเงิน และไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของบริเวณพื้นผิว หนึ่งครั้งต่อวันในช่วงเย็น หากร่างกายต้านฤทธิ์ครีมได้ อาจเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์หากจำเป็น

คำแนะนำ

  • หากอาบน้ำก่อนทายานี้ ควรทำให้ผิวแห้งก่อนใช้ครีม
  • หากใช้สารให้ความชุ่มชื้น ทาสารนั้นอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนทายานี้
  • หลีกเลี่ยงการทาผิวหนังที่ไม่ได้เป็นโรค เพราะอาจเสี่ยงต่อการระคายเคือง

การใช้

ครีม (0.05 และ 0.1เปอร์เซ็นต์) ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินเฉพาะจุดที่มีอาการคงที่โดยอาจทาบริเวณผิวที่ใกล้กับจุดที่เป็นได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ขนาดยาทั่วไปสำหรับรักษาสิว

ครีม 0.1 เปอร์เซ็นต์: ทาครีมหนึ่งชั้นเพียงบางๆ บริเวณที่เป็นสิว 1 ครั้งต่อวันในช่วงเย็น ทาครีมให้มากพอที่จะครอบคลุมบริเวณที่เป็นสิว

เจล 0.1 เปอร์เซ็นต์: ทาครีมอย่างบางเบาบริเวณที่เป็นสิว 1 ครั้งต่อวันในช่วงเย็น ทาครีมให้มากพอที่จะครอบคลุมบริเวณที่เป็นสิว ไม่มีการศึกษาเรื่องการใช้ครีมเกิน 12 สัปดาห์

คำแนะนำ

  • ล้างหน้าอย่างอ่อนโยนและทำให้แห้งก่อนทายา
  • ใช้ครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวระหว่างทายานี้

การใช้

  • ครีม 0.1 เปอร์เซ็นต์ใช้รักษาสิวอักเสบเฉพาะจุด
  • เจล 0.1 เปอร์เซ็นต์ใช้รักษาสิวอักเสบเฉพาะจุดบนใบหน้าระยะไม่รุนแรงถึงปานกลาง

คำแนะนำอื่นๆ

โดยทั่วไป

  • ใช้เฉพาะจุดเท่านั้น
  • ไม่ใช้ที่ตา ปากหรือช่องคลอด
  • แนะนำให้ผู้ป่วยล้างมือหลังจากใช้เจลเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาโดยบังเอิญ
  • หากยาสัมผัสตาหรือเยื่อบุผิวในจมูกและปาก ล้างออกให้ทั่วด้วยน้ำสะอาด
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทายา
  • หากเกิดการระคายเคืองผิว หยุดทายาทันที
  • แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงยูวี เช่น แสงแดด การใช้ห้องอาบแดด การรักษาโรคสะเก็ดเงินโดยการใช้แสงยูวีร่วมกับสารซอราเลน (PUVA) หรือแสงยูวีบี (UVB) ระหว่างการรักษา
  • ควรเฝ้าสังเกตผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ กับยาชนิดอื่นที่อยู่ในกลุ่มสารก่อภาวะไวแสง (photosensitizer) เช่น ยาไทอะไซด์ (thiazide) ยาเททราไซคลีน (tetracycline) ยาฟลูออโรควินิโลน (fluoroquinolone) ยาฟีโนไทอาซีน (phenothiazine) ยาซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) เนื่องจากอาจเกิดภาวะไวแสงเพิ่มขึ้น

ขนาดยาทาซาโรทีนสำหรับเด็ก

ขนาดยาทั่วไปสำหรับรักษาสิว

อายุ 12 ปีหรือมากกว่า

ครีม 0.1 เปอร์เซ็นต์: ทาครีมหนึ่งชั้นเพียงบางๆ บริเวณที่เป็นสิว 1 ครั้งต่อวันในช่วงเย็น ทาครีมให้มากพอที่จะครอบคลุมบริเวณที่เป็นสิว

อายุ  ปีหรือมากกว่า

เจล 0.1 เปอร์เซ็นต์: ทาครีมอย่างบางเบาบริเวณที่เป็นสิว 1 ครั้งต่อวันในช่วงเย็น ทาครีมให้มากพอที่จะครอบคลุมบริเวณที่เป็นสิว ไม่มีการศึกษาการใช้ครีมเกิน 12 สัปดาห์

คำแนะนำ

  • ล้างหน้าอย่างอ่อนโยนและทำให้แห้งก่อนทายา
  • ใช้ครีมกันแดดและสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวระหว่างทายานี้
  • การใช้

    • ครีม 0.1 เปอร์เซ็นต์ใช้รักษาสิวอักเสบเฉพาะจุด
    • เจล 0.1 เปอร์เซ็นต์ใช้รักษาสิวอักเสบเฉพาะจุดบนใบหน้าระยะไม่รุนแรงถึงปานกลาง

    ข้อควรระวัง

    ไม่ได้มีการยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน

    ไม่ได้มีการยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีที่เป็นสิว

    รูปแบบของยา

    ยาทาซาโรทีนมีรูปแบบดังต่อไปนี้

    • เจลรักษาเฉพาะที่
    • ครีมรักษาเฉพาะที่
    • โฟมรักษาเฉพาะที่

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

    กรณีลืมใช้ยา

    หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2019

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา