backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ข้อบ่งใช้

ยา ไพโอกลิตาโซน ใช้สำหรับ

ยา ไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) เป็นยารักษาเบาหวานชนิดไธอะโซลิดีนไดโอน (thiazolidinedione) หรือที่เรียกว่ายากลิตาโซน (Glitazones) ยานี้ใช่ร่วมกับการควบคุมอาหาร และโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ยานี้ออกฤทธิ์โดยช่วยให้ร่างกายมีการตอบสนองที่ดีขึ้นต่ออินซูลิน ดังนั้น จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

การควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไต ดวงตา ปัญหาที่ระบบประสาท การสูญเสียแขนขา และปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศ การควบคุมเบาหวานที่เหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตก

การใช้ยา ไพโอกลิตาโซน สามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่ เพื่อรักษาโรคเบาหวานได้ เช่น ยาเมทฟอร์มิน (metformin) หรือกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรีย เช่น ยาไกลบูไรด์ (glyburide)

วิธีการใช้ยา ไพโอกลิทาโซน

ยาไพโอกลิทาโซน สามารถประทานยาพร้อมอาหารหรือรับประทานเดี่ยวๆ ได้ ขึ้นอยู่กับแพทย์สั่ง โดยปกติแล้วจะรับประทาน 1 ครั้งต่อวัน ขนาดของยาก็ขึ้นอยู่กับโรค และการตอบสนองต่อการรักษา และหากคุณกำลังใช้ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น แพทย์จะปรับขนาดยาตามระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ได้ขนาดยาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ใช้ยานี้เป็นประจำเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด เพื่อง่ายต่อการจำ ควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน

หากคุณกำลังรับประทานยารักษาเบาหวานชนิดอื่น เช่น ยาเมทฟอร์มิน (metformin) หรือยาซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea) ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างระมัดระวัง ในการหยุด หรือเริ่มใช้ยาที่เคยใช้ รวมถึงเริ่มใช้ยานี้ ทำตามแผนการรักษาด้วยยา การควบคุมอาหาร และโปรแกรมออกกำลังกายตามที่แพทย์สั่ง

ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำตามที่แพทย์สั่ง ติดตามผลการตรวจ และรายงานให้แพทย์ทราบ หากการวัดระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือการรักษา อาจใช้เวลา 2 ถึง 3 เดือนกว่ายาจะออกฤทธิ์สูงสุด

การเก็บรักษายา ไพโอกลิทาโซน

คุณควรเก็บยาไพโอกลิตาโซนไว้ในอุณหภูมิห้อง รวมถึงเก็บให้พ้นจากแสงและความชื้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับยา คุณไม่ควรเก็บยาไพโอกลิตาโซนไว้ให้ห้องน้ำหรือตู้เย็น ยาไพโอกลิตาโซนแต่ละยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือการอ่านคำแนะนำการเก็บรักษายาบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือสอบถามเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย คุณควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คุณไม่ควรทิ้งยาไพโอกลิตาโซนลงในชักโครก หรือเทลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำอย่างนั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีกต่อไป ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีทิ้งยาอย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา ไพโอกลิทาโซน

ก่อนใช้ยา ไพโอกลิตาโซน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยาชนิดนี้ รวมถึงหากคุณมีอาการแพ้อื่นๆ ยาตัวนี้อาจมีส่วนผสมที่ไม่ได้ออกฤทธิ์ในการรักษา แต่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้หรือปัญหาอื่นๆ ปรึกษาเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคหัวใจวายเรื้อรัง เจ็บหน้าอก โรคตับ มีของเหลวในปอด อาการบวม (edema) เบื่ออาหาร โรคตาบางชนิด การบวมของจอตาส่วนกลาง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ยานี้อาจทำให้คุณวิงเวียนศีรษะ ง่วงซึม หรือมองเห็นไม่ชัดเจน แอลกอฮอล์หรือกัญชาอาจทำให้อาการของคุณรุนแรงยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความตื่นตัว จนกว่าคุณจะแน่ใจว่าคุณสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย

ที่สำคัญควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ใช้ยานี้ เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

เมื่อร่างกายเกิดความตึงเครียด อาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการรักษา ยา หรือการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณใช้ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อได้เอง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาไพโอกลิตาโซนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการกระดูกหักในผู้หญิง โดยเฉพาะแขนส่วนบน มือ และเท้า

ยาไพโอกลิตาโซนอาจไปกระตุ้นการตกไข่ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรอบเดือน และเพิ่มความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดที่เชื่อถือได้ ระหว่างใช้ยานี้

ระหว่างตั้งครรภ์ ควรรับประทานยานี้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ปรึกษาความเสี่ยงและข้อดีกับแพทย์ แพทย์อาจใช้อินซูลินแทนยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ยานี้จะซึมเข้าสู่น้ำนมหรือไม่ ปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีการศึกษาในผู้หญิงที่เพียงพอ ที่จะระบุความเสี่ยงขณะที่ใช้ยาไพโอกลิตาโซน ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เสมอ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนรับประทานยาไพโอกลิตาโซน อ้างอิงจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ยาไพโอกลิตาโซนจัดเป็นยากลุ่มเสี่ยงสำหรับสตรีมีครรภ์ประเภท N

ต่อไปนี้คือประเภทความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา

· A = ไม่เสี่ยง

· B = ไม่พบความเสี่ยงในงานวิจัยบางชิ้น

· C = อาจจะมีความเสี่ยง

· D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง

· X = ห้ามใช้

· N = ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาไพโอกลิตาโซน

คุณอาจเจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือมีปัญหาที่ฟัน หากยังคงมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่อง หรืออาการแย่ลง แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที

โปรดระลึกไว้ว่า แพทย์จ่ายยานี้เนื่องจากตัดสินใจแล้วว่า นี่จะมีประโยชน์ต่อคุณ มากกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างเคียง หลายคนใช้ยานี้แล้วไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ

แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเหล่านี้ ได้แก่ มีปัญหาในการมองเห็น เกิดขึ้นใหม่ หรือแย่ลงกว่าเดิม เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน กระดูกหัก ปัสสาวะมีสีแดง อั้นปัสสาวะไม่ได้ เจ็บแสบระหว่างปัสสาวะ

น้อยครั้งที่ยาไพโอกลิตาโซนอาจทำให้เกิดโรคตับ แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากคุณมีอาการของโรคตับ ได้แก่ ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ตาหรือผิวเป็นสีเหลือง อาเจียนหรือคลื่นไส้ไม่หยุด เจ็บกระเพาะอาหาร หรือปวดท้อง

ยาไพโอกลิตาโซน ไม่ได้ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) เสมอไป ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้น เมื่อแพทย์จ่ายยานี้ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่น เช่น อินซูลิน หรือยาซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea) ภาวะดังกล่าวมักจะเกิดขึ้น เมื่อคุณดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ออกกำลังกายอย่างหนักผิดปกติ หรือได้รับแคลอรีจากอาหารไม่เพียงพอ เพื่อช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รับประทานอาหารตรงเวลา และอย่าอดอาหาร ตรวจสอบกับแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อดูว่าคุณควรทำอย่างไร หากคุณงดมื้ออาหาร

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงเหงื่อออกฉับพลัน ตัวสั่น หัวใจเต้นแรง อยากอาหาร เห็นภาพไม่ชัดเจน วิงเวียนศีรษะ มือและขาเป็นเหน็บ ควรพกกลูโคสในรูปยาเม็ดหรือเจลไว้เสมอ เพื่อรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นสิ่งที่ดี หากคุณไม่มีกลูโคสในรูปแบบนั้น การเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเร่งด่วน ด้วยการรับประทานน้ำตาลจากแหล่งที่หาได้ง่าย อย่างน้ำตาลทราย น้ำผึ้ง ลูกอม น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมแบบปกติก็สามารถช่วยได้ แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเกี่ยวกับปฏิกิริยาและการใช้ยานี้

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia) รวมถึงอยากอาหาร ปัสสาวะเพิ่มขึ้น มึนงง ง่วงซึม หน้าแดง หายใจเร็ว หรือมีกลิ่นปากเหมือนกลิ่นผลไม้ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้น แจ้งให้แพทย์ทราบทันที อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยา

โดยปกติแล้วมักไม่ค่อยมีอาการแพ้ยาที่รุนแรงเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตาม เข้ารับการรักษาทันที หากคุณสังเกตเห็นอาการแพ้ที่รุนแรง ได้แก่ เกิดผื่น คันผิว หรือผิวบวม โดยเฉพาะที่ใบหน้า ลิ้นหรือลำคอ วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาเรื่องการหายใจ ไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการอันเนื่องมาจากผลข้างเคียงเหล่านี้ อาจมีผลข้างเคียงอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาอื่นอาจส่งผลต่อการขับยาไพโอกลิตาโซนออกจากร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อฤทธิ์ของยาไพโอกลิตาโซน ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเจมไฟโบรซิล (gemfibrozil) กลุ่มยาไรฟาไมซิน (rifamycin) เช่น ยาไรแฟมพิน (rifampin) เป็นต้น

ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น ยาเมโทโพรลอล (metoprolol) ยาโพรพราโนลอล (propranolol) ยาหยอดตา แก้อาการต้อหิน เช่น ยาทิโมลอล (timolol) อาจป้องกันอาการหัวใจเต้นแรงหรือหนัก ที่คุณจะรู้สึกเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป (Hypoglycemia) อาการอื่นของระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น วิงเวียนศีรษะ อยากอาหาร หรือเหงื่อออก ไม่ได้เป็นผลจากยาเหล่านี้

ยาหลายชนิดส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น ก่อนจะเริ่มใช้ หรือเปลี่ยนยาใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับยาที่อาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำตามที่แพทย์สั่ง และแจ้งผลให้แพทย์ทราบ แจ้งให้แพทย์ทราบทันที หากมีอาการของน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ แพทย์อาจจำเป็นต้องปรับยารักษาเบาหวาน โปรแกรมออกกำลังกาย และแผนการกินอาหาร

ยาไพโอกลิตาโซน อาจมีปฏิกิริยาต่อยาตัวอื่น ที่คุณกำลังรับประทานอยู่ และอาจส่งผลให้ยาที่คุณรับประทานออกฤทธิ์ต่างไปจากเดิม หรือเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาที่อาจเป็นไปได้ คุณควรเก็บรายชื่อยาทั้งหมดที่คุณใช้ ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อได้เอง หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อความปลอดภัย อย่าเริ่ม หรือหยุดรับประทานยา รวมถึงเปลี่ยนขนาดยา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือยาอื่น

ยาไพโอกลิตาโซนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์ โดยเปลี่ยนฤทธิ์ยา หรือเพิ่มความเสี่ยงให้ที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถึงอาหารหรือแอลกอฮอล์ที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้ ก่อนรับประทานยา

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาไพโอกลิตาโซนอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณ ปฏิกิริยาของยาที่มีต่อร่างกาย อาจทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่ลง หรือเปลี่ยนฤทธิ์ของยา สิ่งสำคัญคือ โปรดแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวของคุณ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนใช้ยาไพโอกลิตาโซน

ขนาดยาไพโอกลิตาโซนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาทั่วไปสำหรับรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

-ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจวายเรื้อรัง

ขนาดยาเริ่มต้น รับประทานยาครั้งละ 15 หรือ 30 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน

-ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง (จัดตามสมาคมโรคหัวใจแห่งนิวยอร์กชนิดที่ 1 หรือ 2)

ขนาดยาเริ่มต้น รับประทานยาครั้งละ 15 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน

ขนาดยาที่มีผลต่อการรักษา รับประทานยาครั้งละ 15 หรือ 45 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของดัชนีค่าน้ำตาล โดยวัดจากค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือด (HbA1c)

ขนาดยาสูงสุด รับประทานยาครั้งละ 45 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน

คำแนะนำ

  • ยานี้ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เมื่อมีอินซูลินจากตับอ่อน ดังนั้น จึงไม่มีฤทธิ์ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือภาวะคีโตซิส (diabetic ketoacidosis)
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ร่วมกับสารเร่งการหลั่งของอินซูลิน หรือสารอินซูลิน อาจจำเป็นต้องลดขนาดสารเร่งการหลั่งของอินซูลิน หรือสารอินซูลิน หากเกิดภาวะน้ำตาลพร่องในเลือด

การใช้ ใช้ควบคู่กับการควบคุมอาหารและออกกำลัง เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ดีขึ้น โดยอยู่ในการควบคุมทางคลินิกด้วยวิธีต่างๆ

การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคไต

ไม่แนะนำให้ปรับขนาดยา

การปรับขนาดยาสำหรับผู้ป่วยโรคตับ

ผู้ป่วยโรคตับควรใช้อย่างระมัดระวัง

  • ได้รับการตรวจการทำงานของตับ เช่น การวัดระดับเอนไซม์อะลานินอะมิโนทรานสเฟอเรส (ALT) เอนไซม์แอสพาเททอะมิโนทรานสเฟอเรส (AST) แอลคาไลน์ฟอสฟาเทส (alkaline phosphatase) และบิลิรูบินรวม (total bilirubin) ก่อนใช้ยา
  • ตรวจตับทันที หากมีอาการที่ดูน่าจะเป็นผลจากตับ รวมถึงเหนื่อยล้า เบื่ออาหาร อึดอัดท้องส่วนบนขวา ปัสสาวะเป็นสีเข้มหรือดีซ่านเกิดขึ้น
  • หากค่าเอนไซม์อะลานินอะมิโมทรานสเฟอเรสสูงกว่าค่าขีดบนสุดของค่าปกติถึง 3 เท่า หยุดใช้ยา และตรวจหาสาเหตุ
  • ไม่ควรเริ่มการรักษาด้วยยานี้อีกครั้ง หากค่าเอนไซม์อะลานิน อะมิโมทรานสเฟอเรส สูงกว่าขีดบนของค่าปกติ 3 เท่า และค่าบิลิรูบินรวมสูงกว่าขีดบนของค่าปกติ 2 เท่า โดยไม่มีสาเหตุของโรคอื่น เนื่องจากอาจเป็นความเสี่ยงที่ตับจะได้รับความเสียหาย เนื่องจากถูกกระตุ้นโดยยา
  • สามารถเริ่มการรักษาด้วยยานี้อีกครั้ง ด้วยความระมัดระวัง ในผู้ป่วยที่มีค่าเอนไซม์อะลานินอะมิโมทรานสเฟอเรส หรือค่าบิลิรูบินน้อยกว่าเกณฑ์ที่กล่าวด้านบน หรือมีสาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆ ที่ทำให้เอนไซม์ผิดปกติไป

การปรับขนาดยา

ใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่มที่กระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน เช่น ยาซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea) หากเกิดภาวะพร่องน้ำตาลในเลือด ควรลดยากลุ่มที่กระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน

ใช้ยานี้ร่วมกับสารอินซูลิน หากเกิดภาวะพร่องน้ำตาลในเลือด ควรลดขนาดสารอินซูลิน 10 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ การปรับขนาดยา ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของดัชนีน้ำตาลผู้ป่วยแต่ละราย

ใช้ยานี้ร่วมกับเจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) หรือยาที่มีผลยับยั้ง CYP450 2C8 อย่างรุนแรง

ขนาดยาสูงสุดที่แนะนำ รับประทานยา 15 มิลลิกรัมในแต่ละวัน

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย (NYHA ชนิดที่ 1 หรือ 2)

ขนาดยาเริ่มต้น รับประทานยา 15 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวัน

คำแนะนำอื่นๆ

คำแนะนำในการใช้ยา

  • รับประทานยานี้ 1 ครั้งต่อวัน พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้

ข้อกำหนดในการเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น

โดยทั่วไป

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย NYHA คลาส 3 หรือ 4 และสำหรับผู้ป่วยที่จัดอยู่ใน NYHA คลาส 1 หรือ 2 ควรเริ่มตั้งแต่ขนาดน้อยๆ
  • ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับอย่างระมัดระวัง
  • ไม่ควรใช้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือเพื่อรักษาภาวะคีโตอะซิโดซิส
  • องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์รายงานการประเมินความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และสรุปว่าการใช้ยานี้ อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง ที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น ในขณะที่การศึกษาการระบาดวิทยาของโรคในระยะ 10 ปี ไม่ได้พบความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การศึกษาอื่นก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงเช่นกัน ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ยังมีอาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวัง ในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

การเฝ้าสังเกต

  • เฝ้าสังเกตอาการและสัญญาณของโรคหัวใจล้มเหลวอย่างใกล้ชิด เช่น น้ำหนักขึ้นหรือบวมน้ำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้อินซูลินร่วมด้วย
  • ตรวจการทำงานของตับ (LFTs) ก่อนเริ่มใช้ยา หากมีอาการที่น่าจะเป็นผลมาจากความเสียหายที่มีต่อตับ ควรตรวจการทำงานของตับทันที ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคตับ ตรวจการทำงานของตับเป็นประจำ
  • การเฝ้าสังเกตระดับน้ำตาลในร่างกาย
  • การประเมินและรักษามวลกระดูกตามมาตรฐานปัจจุบัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิง
  • ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำโดยจักษุแพทย์

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หายใจถี่หรือมีอาการอื่นๆ ของโรคหัวใจล้มเหลว ควรแจ้งให้ผู้บริการด้านการแพทย์ทราบทันที
  • ผู้หญิงที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน และไม่มีไข่ตก อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความผิดปกติ หากตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยง และแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดหากจำเป็น
  • แจ้งให้ผู้ป่วยหยุดยาทันที และเข้ารับการรักษาโดยด่วน หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร หรือปัสสาวะมีสีเข้มโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของตับเป็นพิษ
  • แนะนำให้ผู้ป่วยรายงานเลือดหรือสีแดงของปัสสาวะ ความต้องการปัสสาวะอย่างเร่งด่วน ที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือแย่ลง หรือเจ็บระหว่างปัสสาวะ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • ผู้ป่วยควรได้รับการแจ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะพร่องน้ำตาลในเลือด อาการของภาวะนี้ โรคที่อาจทำให้เกิดภาวะเหล่านี้ และการรักษา
  • ผู้ป่วยควรแจ้งผู้ให้บริการด้านการแพทย์ ระหว่างช่วงที่ร่างกายเกิดความตึงเครียด เช่น เป็นไข้ ได้รับบาดเจ็บ ติดเชื้อ หรือเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากอาจต้องปรับแผนการรักษาเบาหวาน

ขนาดยาไพโอกลิตาโซนสำหรับเด็ก

ไม่ได้มีการกำหนดขยาดยาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ยานี้อาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สิ่งที่สำคัญคือ ต้องศึกษาการใช้ยาอย่างปลอดภัยก่อนรับประทาน โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

รูปแบบของยา

ยาไพโอกลิตาโซนมีรูปแบบดังต่อไปนี้

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน

กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา