backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

Meloxicam (มีลอกซิแคม) ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

Meloxicam (มีลอกซิแคม) ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

Meloxicam (มีลอกซิแคม) ใช้เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ช่วยลดอาการปวด บวม และความแข็งของข้อต่อ ยามีลอกซิแคม เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แต่อาจส่งผลข้างเคียง เช่น เกิดลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ข้อบ่งใช้

Meloxicam ใช้สำหรับ

Meloxicam ใช้เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ช่วยลดอาการปวด บวม และความแข็งของข้อต่อ ยามีลอกซิแคม เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

หากคุณกำลังรักษาโรคเรื้อรังอย่างโรคข้ออักเสบ สอบถามแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษาที่ไม่ใช่ยา หรือใช้ยาชนิดอื่นเพื่อรักษาอาการปวด ดูเพิ่มเติมได้ในส่วนของคำเตือน

การใช้งานแบบอื่น ในส่วนนี้จะประกอบไปด้วยวิธีการใช้ยานี้ที่ไม่ได้อยู่ในฉลาก ที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับยานี้ แต่อาจจะถูกกำหนดโดยแพทย์ ใช้ยานี้สำหรับโรคที่อยู่อยู่ในรายชื่อนี้ต่อเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น ยามีลอกซิแคมอาจใช้เพื่อรักษาอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันจากโรคเกาต์

วิธีการใช้ยา มีลอกซิแคม

รับประทานยามีลอกซิแคมตามที่แพทย์กำหนด พร้อมกับดื่มน้ำเต็มแก้ว (8 ออนซ์/240 มล.) ห้ามนอนลงอย่างน้อย 10 นาทีหลังจากรับประทานยานี้

หากคุณรับประทานยามีลอกซิแคมแบบยาน้ำ ควรเขย่าขวดยาให้ดีก่อนใช้ยา ตวงปริมาณยาให้ถูกต้องโดยใช้อุปกรณ์ตวงพิเศษหรือช้อนตวง อย่างใช้ช้อนธรรมดา เพราะอาจจะได้ปริมาณยาที่ไม่ถูกต้อง

หากมีอาการปวดท้องขณะใช้ยามีลอกซิแคม ให้รับประทานคู่กับอาหาร นม หรือยาลดกรด ขนาดยาขึ้นอยู่กับอาการของคุณ และการตอบสนองต่อการรักษา ควรใช้ยาในขนาดต่ำสุดเท่าที่ได้ผลเสมอ และใช้ในระยะเวลาเท่าที่กำหนด ห้ามใช้มากกว่า 15 มก. ต่อวัน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการมีเลือดออกหรือมีแผลในกระเพาะอาหาร

อาจต้องใช้เวลาถึงสองสัปดาห์ กว่าจะได้รับผลที่เต็มที่จากยานี้ ใช้ยามีลอกซิแคมเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยา และใช้ในเวลาเดียวกันกับทุกวัน แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณแย่ลง

การเก็บรักษายา มีลอกซิแคม

ยามีลอกซิแคมควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยามีลอกซิแคมบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ไม่ควรทิ้งยามีลอกซิแคมลงในชักโครก หรือในท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา มีลอกซิแคม

ก่อนใช้ยามีลอกซิแคม

  • แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร หากคุณแพ้ยามีลอกซิแคม แอสไพริน หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อื่นๆ เช่น ยาไอบูโพเฟน (ibuprofen) อย่างแอดวิล (Advil) หรือมอทริน (Motrin) และยานาพรอกเซน (naproxen) อย่างอะลีฟ (Aleve) หรือนาโพรซิน (Naprosyn) หรือยาอื่นๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่คุณใช้ หรือมีแผนจะใช้ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ และยาที่ซื้อเองได้ วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรต่างๆ อย่าลืมกล่าวถึงยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาในกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting enzyme inhibitors) เช่น ยาเบนาซีพริล (benazepril) อย่างโลเทนซิน (Lotensin) ยาแคปโตพริล (captopril) อย่างคาโพเทน (Capoten) ยาอีนาลาพริล (enalapril) อย่างวาโซเทค (Vasotec) ยาโฟซิโนพริล (fosinopril) อย่างโมโนพริล (Monopril) ยาลิซิโนพริล (lisinopril) อย่างพรินิวิล (Prinivil) หรือเซสทริล (Zestril) และยาควินาพริล (quinapril) อย่างแอคคิวพริล (Accupril) ยาคอเลสไทรามีน (cholestyramine) อย่างเควสแทรน (Questran) ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาลิเทียม (lithium) อย่างเอสคาลิธ (Eskalith) หรือลิธโทบิด (Lithobid) และอื่นๆ และยาเมโธเทรกเซท (methotrexate) อย่างรูเมเทรกซ์ (Rheumatrex) แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนขนาดยาหรือเฝ้าสังเกตผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด
  • แจ้งแพทย์หากคุณเป็นหรือเคยเป็นโรคหอบหืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณมีจมูกอุดตันหรือน้ำมูกไหลบ่อยๆ หรือมีริดสีดวงจมูก อาการบวมด้านในจมูก มีอาการบวมที่แขน เท้า ข้อเท้า หรือขาส่วนล่าง หรือเป็นโรคไตหรือโรคตับ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หากคุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือหากคุณกำลังให้นมบุตร หากคุณตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้ควรแจ้งแพทย์ในทันที
  • หากคุณจะรับการผ่าตัด รวมไปถึงการผ่าตัดทำฟัน แจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยามีลอกซิแคม

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ ยามีลอกซิแคมจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท D โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงภึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของยา มีลอกซิแคม

รับการรักษาในทันทีหากคุณมีอาการแพ้ที่รุนแรง ได้แก่ เกิดลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

หยุดใช้ยานี้แล้วไปหาแพทย์ หากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังนี้

  • ปวดหน้าอก อ่อนแรง หายใจขัด พูดไม่ชัด มีปัญหากับการมองหรือการทรงตัว
  • อุจจาระสีเข้ม สีเลือด หรือคล้ายยางมะตอย
  • ไอเป็นเลือดหรืออาเจียน ที่ดูเหมือนกากกาแฟ
  • บวมหรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีเลย
  • คลื่นไส้ ปวดกระเพาะส่วนบน คัน เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีอ่อน ดีซ่าน (ผิวหนังและดวงตาเป็นสีเหลือง)
  • ผื่นผิวหนัง รอยช้ำ เป็นเหน็บอย่างรุนแรง ชา ปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปฏิกิริยาอย่างรุนแรงที่ผิว เป็นไข้ เจ็บคอ บวมที่ใบหน้าหรือลิ้น แสบร้อนที่ดวงตา ปวดผิว ตามด้วยผื่นสีแดงหรือม่วงที่แพร่กระจาย (โดยเฉพาะที่ใบหน้าหรือช่วงบนลำตัว) และทำให้เกิดแผลพุพองและลอก

ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่ามีดังนี้

  • ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องอืด มีแก๊ส
  • มึนงง กังวลใจ ปวดหัว
  • จมูกอุดตันหรือน้ำมุกไหล เจ็บคอ
  • ผื่นผิวหนังระดับเบา

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาหมอของคุณ

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยามีลอกซิแคมอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ 

สอบถามแพทย์ก่อนใช้ยาต้านซึมเศร้า (antidepressant) เช่น

  • ยาไซตาโลแพรม (citalopram) อย่างเซเลซา (Celexa)
  • ยาเอสซิตาโลแพรม (escitalopram) อย่างเลซาโปร (Lexapro)
  • ยาฟลูออกซิทีน (fluoxetine) อย่างโพรแซค (Prozac)
  • ซาราเฟม (Sarafem)
  • ซิมไบแอกซ์ Symbyax)
  • ยาฟลูวอกซามีน (fluvoxamine) อย่างลูวอกซ์ (Luvox)
  • ยาพาร็อกซีทีน (paroxetine) อย่างพาซิล (Paxil)
  • ยาเซอร์ทราลีน (sertraline) อย่างโซลอฟ (Zoloft)

การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาจทำให้เกิดรอยช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่คุณใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาต่อไปนี้

  • ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) อย่างเจนกราฟ (Gengraf) หรือนีโอรัล (Neoral) หรือแซนดิมมูน (Sandimmune)
  • ยาลิเทียม (Lithium) อย่างเอสคาลิธ (Eskalith) หรือลิธโทบิด (Lithobid)
  • ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาฟูโรซีไมด์ (furosemide) อย่างลาซิกซ์ (Lasix)
  • ยาไกลบิวไรด์ (Glyburide) อย่างเดียเบตา (diabeta) หรือไมโครเนส (Micronase)
  • ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) อย่างรูเมเทรกซ์ (Rheumatrex) หรือเทรซอล (Trexall)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (warfarin) อย่างคูมาดิน (Coumadin) หรือแจนโทเวน (Jantoven)
  • โซเดียมโพลีสไตรีนซัลโฟเนต (Sodium polystyrene sulfonate) อย่างเคแยกซาเลต (Kayexalate) หรือคิโอเนกซ์ (Kionex)
  • ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (prednisone) และอื่นๆ
  • ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor) เช่น ยาเบนาซีพริล (benazepril) อย่างโลเทนซิน (Lotensin) ยาอีนาลาพริล (enalapril) อย่างวาโซเทค (Vasotec) ยาลิซิโนพริล (lisinopril) อย่างพรินวิล (Prinivil) หรือเซสทริล (Zestril) ยาควินาพริล (quinapril) อย่างแอคคิวพริล (Accupril) ยาราไมพริล (ramipril) อย่างอัลเทส (Altace) และอื่นๆ
  • แอสไพริน หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไดโคลฟีแนค (diclofenac) อย่างโวลทาเรน (Voltaren) ยาเอโทโดแลค (etodolac) อย่างโลดีน (Lodine) ยาไอบูโพรเฟน อย่างแอดวิล (Advil) มอทริน (Motrin) ยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) อย่างอินโดซิน (Indocin) ยาคีโตโปรเฟน (ketoprofen) อย่างออรูดิส (Orudis) ยานาพรอกเซน (naproxen) อย่างอะลีฟ (Aleve) หรือนาโพรซิน (Naprosyn) และอื่นๆ

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยามีลอกซิแคม อาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยามีลอกซิแคมอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ 

สภาวะบางอย่างอาจส่งผลต่อการใช้ยานี้ อย่าลืมแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณเป็นโรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะ

  • โลหิตจาง (Anemia)
  • หอบหืด (Asthma)
  • ปัญหาเกี่ยวกับเลือดออก (Bleeding problems)
  • หัวใจวาย (Congestive heart failure)
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • ภาวะบวมน้ำ (Edema) มีของเหลวสะสมในร่างกายหรือร่างกายบวม
  • หัวใจล้มเหลวฉับพลัน (Heart attack)
  • โรคหัวใจหรือหลอดเลือด
  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • โรคไต
  • โรคตับ
  • มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง อาจทำให้อาการแย่ลง
  • โรคหอบหืดที่ไวต่อแอสไพริน
  • รู้สึกไวต่อแอสไพริน ผู้ที่มีอาการนี้ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผ่าตัดหัวใจ เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery bypass graft) ไม่ควรใช้ยามีลอกซิแคมสำหรับอาการปวด ก่อนหรือหลังการผ่าตัด

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยามีลอกซิแคมสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาข้อเสื่อม (osteoarthritis)

  • ขนาดเริ่มต้น 7.5 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • ขนาดยาปกติ 7.5 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • ขนาดยาสูงสุด 15 มก. ต่อวัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

  • ขนาดเริ่มต้น 7.5 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • ขนาดยาปกติ 7.5 มก. รับประทานวันละครั้ง
  • ขนาดยาสูงสุด 15 มก. ต่อวัน

ขนาดยา มีลอกซิแคม สำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis)

  • อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี 0.125 มก./กก. รับประทานวันละครั้ง
  • ขนาดสูงสุด 7.5 มิลลิกรัมต่อวัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาเม็ดแบบรับประทาน 7.5 มก. 15 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา