backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เซฟูรอกซิม (Cefuroxime)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ข้อบ่งใช้

ยา เซฟูรอกซิม ใช้สำหรับ

ยา เซฟูรอกซิม (Cefuroxime) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ และยังอาจใช้ก่อนและขณะการผ่าตัด เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ ยา เซฟูรอกซิม นั้นเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporin antibiotic) ทำงานโดยการยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย

วิธีการใช้ยาเซฟูรอกซิม

รับประทานยา เซฟูรอกซิม ตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด อย่าใช้ยา เซฟูรอกซิม ในขนาดที่ มากกว่า หรือใช้นานกว่าที่แพทย์กำหนด ควรทำตามแนวทางบนฉลากยาที่กำหนด รับประทานยาเซฟูรอกซิมพร้อมกับอาหาร หรือรับประทานแยกต่างหาก

ยา เซฟูรอกซิม ในรูปแบบยาแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน ควรรับประทานพร้อมกับอาหารเท่านั้น

เขย่าขวดยาน้ำแขวนตะกอนให้ดีก่อนจะตวงขนาดยา เพื่อให้ได้ยาในขนาดที่ถูกต้อง ควรใช้ช้อนตวงหรือถ้วยตวงที่มีเครื่องหมาย ไม่ใช่ช้อนโต๊ะธรรมดา หากคุณไม่มีอุปกรณ์สำหรับตวงยาสามารถขอได้จากเภสัชกร

หากคุณเปลี่ยนจากยาเม็ดมาเป็นยาน้ำแขวนตะกอน ไม่ควรใช้ยาในขนาดมิลลิกรัมเดียวกัน ยา เซฟูรอกซิม อาจจะไม่ได้ผลหากคุณไม่ใช้ในรูปแบบและความแรงตามที่แพทย์กำหนด

ใช้ยา เซฟูรอกซิม เป็นเวลานานตามที่แพทย์กำหนด อาการของคุณอาจจะดีขึ้นก่อนที่จะรักษาอาการติดเชื้อได้สมบูรณ์ ยา เซฟูรอกซิม นั้นไม่สามารถรักษาอาการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัดหรือโรคไข้หวัดใหญ่ได้

ยา เซฟูรอกซิม สามารถทำให้ผลการทดสอบทางการแพทย์บางอย่างเป็นเท็จได้ เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยาเซฟูรอกซิม

การเก็บรักษายาเซฟูรอกซิม

ยา เซฟูรอกซิม ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเซฟูรอกซิมบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยา เซฟูรอกซิม ลงในชักโครก หรือในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาเซฟูรอกซิม

อย่าใช้ยานี้หากคุณมีอาการแพ้ยาเซฟูรอกซิม หรือแพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporin) อื่นๆ เช่น

  • ยาเซฟาคลอร์ (cefaclor) อย่าง เรนิคลอร์ (Raniclor)
  • ยาเซฟาดรอกซิล (cefadroxil) อย่าง ดูริเซฟ (Duricef)
  • ยาเซฟาโซลิน (cefazolin) อย่าง แอนเซฟ (Ancef)
  • ยาเซฟดิเนียร์ (cefdinir) อย่าง ออมนิเซฟ (Omnicef)
  • ยาเซฟดิโตเรน (cefditoren) อย่าง สเปคตราเซฟ (Spectracef)
  • ยาเซฟโปดอกซีน (cefpodoxime) อย่าง แวนทิน (Vantin)
  • ยาเซฟโพรซิล (cefprozil) อย่าง เซฟซิล (Cefzil)
  • ยาเซฟทิบูเทน (ceftibuten) อย่าง ซีแดกซ์ (Cedax)
  • ยาเซฟาเลกซิน (cephalexin) อย่าง เคเฟล็กซ์ (Keflex)
  • ยาซีเฟรดีน (cephradine) อย่าง เวโลเซฟ (Velosef)

ก่อนใช้ยาเซฟูรอกซิม แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีอาการแพ้ต่อยาใดๆ โดยเฉพาะยาเพนิซิลิน (penicillins) หรือหากคุณเป็น

  • โรคไต
  • โรคตับ
  • มีประวัติการมีปัญหากับลำไส้ เช่น โรคลำไส้อักเสบ (colitis)
  • โรคเบาหวาน
  • หากคุณขาดสารอาหาร (malnourished)

หากคุณมีอาการเหล่านี้ คุณอาจจำเป็นต้องปรับขนาดยาหรือมีการตรวจสอบเป็นพิเศษเพื่อการใช้ยาเซฟูรอกซิมอย่างปลอดภัย

ยาน้ำเซฟูรอกซิมรูปแบบยาแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน (oral suspension) อาจมีส่วนประกอบของฟีนิลอะลานีน (phenylalanine) หากคุณเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเซฟูรอกซิมในรูปแบบนี้

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา

ยาเซฟูรอกซิมจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท B โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเซฟูรอกซิม

รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉินทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

ติดต่อแพทย์ในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ได้แก่

  • ท้องร่วงถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือด
  • เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดร่างกาย มีอาการของไข้หวัดใหญ่
  • ปวดหน้าอกหรือหัวใจเต้นรัว
  • มีเลือดออกที่ผิดปกติ
  • มีเลือดในปัสสาวะ
  • มีอาการชัก
  • ผิวซีดหรือเป็นสีเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เป็นไข้ สับสน หรืออ่อนแรง
  • ดีซ่าน (ผิวหนังหรือดวงตาเป็นสีเหลือง)
  • เป็นไข้ เจ็บคอ และปวดหัวโดยมีแผลพุพอง ผิวลอก และผื่นผิวหนังสีแดงที่รุนแรง
  • ผื่นผิวหนัง รอยช้ำ มีอาการเหน็บ ชา ปวด และกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่รุนแรง
  • กระหายน้ำมากขึ้น เบื่ออาหาร บวม น้ำหนักขึ้น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะน้อยกว่าปกติหรือไม่ปัสสาวะเลย

ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วงในระดับเบา มีแก็ส ท้องไส้ปั่นป่วน
  • ไอ คัดจมูก
  • กล้ามเนื้อแข็งหรือแน่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดหรือบวมที่ข้อต่อ
  • ปวดหัว ง่วงซึม
  • รู้สึกกระสับกระส่าย ระคายเคือง หรือกระตือรือร้นมากจนเกินไป
  • มีรอยสีขาว หรือแผลภายในช่องปาก หรือบนริมฝีปาก
  • มีรสชาติที่ผิดปกติ หรือไม่น่าพึงพอใจในปาก
  • ผู้ป่วยทารกที่ใช้ยาเซฟูรอกซิมแบบน้ำ อาจจะมีผื่นผ้าอ้อม
  • มีอาการคันหรือผื่นผิวหนังในระดับเบา
  • มีอาการคันหรือมีสารคัดหลั่งที่อวัยวะเพศ

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับแพทย์

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาเซฟูรอกซิมอาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเซฟูรอกซิมอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเซฟูรอกซิมอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ

  • ประวัติการเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ประวัติการเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ยาเซฟูรอกซิมอาจทำให้อาการเหล่านี้แย่ลงได้
  • โรคไต
  • โรคตับ
  • มีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี อาการเหล่านี้อาจแย่ลง เพราะยาเซฟูรอกซิมและคุณอาจต้องรับวิตามินเค
  • ปัญหาเกี่ยวกับไต ชั่วคราวหรือถาวร อาการเหล่านี้อาจส่งผลกับปริมาณของยาเซฟูรอกซิมในร่างกาย อาจจำเป็นต้องลดขนาดยา

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเซฟูรอกซิมสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาหลอดลมอักเสบ

  • 250-500 มก. รับประทานวันละสองครั้ง หรือ 750 มก.-1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5-10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

  • ไม่มีอาการแทรกซ้อน : 250 มก. รับประทานวันละสองครั้ง 750 มก.-1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7-10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาฝากล่องเสียงอักเสบ

  • 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุกๆ 6-8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและความไวของการติดเชื้อ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ข้อต่อ

  • 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง
  • การรักษาควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องประมาณ 3-4 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงจากการติดเชื้อ อาจต้องมีการรักษานานถึง 6 สัปดาห์ขึ้นไป สำหรับผู้ติดเชื้อที่ข้อต่อเทียม ยิ่งไปกว่านั้นมักต้องมีการถอดอวัยวะปลอมออก

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคลายม์ (Lyme Disease)

  • 500 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 วัน

สมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (The Infectious Diseases Society of America) ได้แนะนำให้รับประทานยาเซฟูรอกซิมเป็นอีกทางเลือกแทนอะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) หรือด็อกซีไซคลิน (doxycycline) สำหรับการรักษาโรคลายม์ หากเหมาะสมที่จะรักษาด้วยการรับประทานยา โรคเอรีทีมาครอนิคัมไมเกรน (erythema chronicum migrans) เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต (cranial nerve palsy) สัญญาณไฟฟ้าหัวใจถูกขัดขวาง (Heart block) ระดับหนึ่งหรือสอง และข้ออักเสบ (Arthritis) ผู้ป่วยที่มีไข้ควรจะได้รับการประเมิน/การรักษาโรคฮิวแมนแกรนูโลไซต์เออร์ลิชิโอสิส (human granulocytic ehrlichiosis) และบาบีซิโอซีส (Babesiosis)

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

  • 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 6 ชั่วโมง หรือ 3 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ

  • 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง
  • การรักษาควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องประมาณ 4-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงจากการติดเชื้อ โรคกระดูกอักเสบติดเชื้อเรื้อรังอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial) เพิ่มเติมอีก 1-2 เดือน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาหูชั้นกลางอักเสบ

  • 250 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

  • 750 มก.-1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10-14 วัน
  • เยื่อบุช่องท้องอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง (CAPD) : 1 กรัมต่อน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง (dialysate intraperitoneally) 2 ลิตร ตามด้วยการใช้ยาอย่างต่อเนื่องที่ขนาด 150-400 มก. ต่อน้ำยาล้างไต 2 ลิตร

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคปอดบวม

  • ไม่มีอาการแทรกซ้อน : 750 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อทุกๆ 8 ชั่วโมง
  • มีอาการแทรกซ้อน : 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อทุกๆ 8 ชั่วโมง
  • เมื่อผู้ป่วยมีการตอบสนองทางการแพทย์ต่อการรักษาด้วยการให้ยาทางหลอดเลือด อาจมีการให้ยาเซฟูรอกซิม 250 มก ถึง 500 มก รับประทานทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7-21 วัน
  • ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่ลักษณะกับความความรุนแรงของเชื้อโรค ที่อาจจะเป็นสาเหตุต่อยาเซฟูรอกซิม

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษากรวยไตอักเสบ

  • 750 มก.-1.5 กรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง หรือ 250-500 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 14 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของการติดเชื้อ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะพิษเพราะติดเชื้อ

  • 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 6-8 ชั่วโมง ใช้ร่วมกับอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside)
  • การรักษาควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7-21 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของการติดเชื้อ

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาไซนัสอักเสบ

  • 250 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10-14 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออ่อน

  • 250-500 มก. รับประทานวันละสองครั้ง (การติดเชื้อแบบไม่มีอาการแทรกซ้อน) หรือ 750 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาทอนซิลอักเสบ/คออักเสบ

  • 250 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

  • 250-500 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

  • ไม่มีอาการแทรกซ้อน : 250 มก. รับประทานวันละสองครั้ง เป็นเวลา 7-10 วัน หรือ 750 มก. ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง
  • มีอาการแทรกซ้อน : 1.5 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุกๆ 8 ชั่วโมง

ขนาดยาเซฟูรอกซิมสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาฝากล่องเสียงอักเสบ

  • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 50 ถึง 100 มก./กก./วัน แบ่งฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 6-8 ชั่วโมง (สูงสุดที่ 6 กรัม/วัน) เป็นเวลา 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของการติดเชื้อ

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาการติดเชื้อที่ข้อต่อ

  • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 50 มก./กก. ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง (สูงสุดที่ 6 กรัม/วัน)
  • อายุ 13 ปีขึ้นไป : ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ

  • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 50 มก./กก. ฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 8 ชั่วโมง (สูงสุดที่ 6 กรัม/วัน)
  • อายุ 13 ปีขึ้นไป : ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

  • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 200 มก.-240 มก/กก/วัน แบ่งฉีดเข้าหลอดเลือดทุกๆ 6-8 ชั่วโมง (สูงสุดที่ 9 กรัม/วัน)
  • อายุ 13 ปีขึ้นไป : ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่
  • ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาหูชั้นกลางอักเสบ

    • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 250 มก. รับประทานยาเม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน หรือ 15 มก./กก. รับประทานยาแขวนตะกอน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1000 มก.
    • อายุ 13 ปีขึ้นไป : ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาไซนัสอักเสบ

    • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 250 มก. รับประทานยาเม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน หรือ 15 มก./กก. รับประทานยาแขวนตะกอน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 ถึง 14 วัน ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1000 มก.
    • อายุ 13 ปีขึ้นไป : ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังและโครงสร้าง

    • อายุ 3 เดือน ถึง 12 ปี: 15 มก./กก. รับประทานยาแขวนตะกอน วันละสองครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1000 มก.

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาแผลพุพอง

    • อายุ 3 เดือน-12 ปี : 15 มก./กก. รับประทานยาแขวนตะกอน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 1000 มก.

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาทอนซิลอักเสบ/คออักเสบ

    • อายุ 3 เดือน-12 ปี : ยาน้ำแขวนตะกอน 10 มก/กก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ขนาดยาสูงสุดคือ 500 มก
    • อายุ 13 ปีขึ้นไป: ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย

    • อายุ 3 เดือน-12 ปี :

    -ให้ยาทางหลอดเลือด : 50-100 มก./กก./วัน แบ่งฉีดเข้าหลอดเลือดหรือเข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 6-8 ชั่วโมง (ขนาดยาสูงสุดต่อวันคือ 6 กรัม) ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของการติดเชื้อ

    -รับประทาน : ยาแขวนตะกอน : 10-15 มก./กก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุด 1000 มก./วัน)

    -ยาเม็ด : 250 มก. รับประทานวันละ 2 ครั้ง

    • อายุ 13 ปีขึ้นไป : ขนาดยาเท่ากับของผู้ใหญ่

    รูปแบบของยา

    ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

    • ยาเม็ด 500 มก.

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

    กรณีลืมใช้ยา

    หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา