backup og meta

ลักษณะอาการปวดศีรษะ แบบไหนที่กำลังเล่นงานคุณอยู่ตอนนี้ เช็กเลย!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ลักษณะอาการปวดศีรษะ แบบไหนที่กำลังเล่นงานคุณอยู่ตอนนี้ เช็กเลย!

    หลายคนคงเคยมีอาการปวดศีรษะกันมาแล้ว บางคนก็มีอาการเป็นครั้งคราวและไม่รุนแรงมากนัก ในขณะที่บางคนมีอาการปวดรุนแรงชนิดที่ว่าไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้เลย แล้วคุณเคยสังเกตกันบ้างไหมว่า อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นกับคุณในแต่ละครั้งนั้นมีลักษณะแตกต่างกันบ้างไหม และเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ บทความนี้จะนำคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ลักษณะอาการปวดศีรษะ ประเภทต่างๆ ที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพที่คุณอาจเผชิญอยู่ได้

    อาการปวดศีรษะคืออะไร

    อาการปวดศีรษะเป็นคำจำกัดความรวมสำหรับอาการปวดบริเวณศีรษะ ซึ่งสามารถจำแนก ลักษณะอาการปวดศีรษะ ออกไปได้กว่า 150 ชนิด สามารถพบได้ทั่วไปในทุกปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเมาค้าง เมารถ เครียดจัด หรือเป็นเนื้องอกในสมอง ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ทั้งสิ้น อีกทั้งอาการปวดศีรษะยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงอายุ ทุกเชื้อชาติ และทุกเพศโดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะกว่าร้อยละ 50 นั้นมักรักษาอาการปวดด้วยตัวเองมากกว่าไปปรึกษาแพทย์

    อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ส่งผลเสียรุนแรงต่อสุขภาพได้ คุณจึงควรปรึกษาแพทย์ หากอาการปวดศีรษะของคุณก่อให้เกิดปัญหาดังต่อไปนี้

  • สับสนหรือสื่อสารสับสน
  • เป็นลม
  • ไข้สูงกว่า 39-40 องศาเซลเซียส
  • เกิดอาการชา อ่อนเพลีย หรือมีอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ขยับไม่ได้ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
  • คอแข็ง
  • มีปัญหาการมองเห็น
  • มีปัญหาการพูด
  • มีปัญหาการเดิน
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน ที่ชี้ชัดว่าไม่ได้เกิดจาก ไข้หวัด หรืออาการเมาค้าง
  • แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากประวัติทางการแพทย์และรายละเอียดของอาการที่ตรวจพบ ก่อนจะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสม กับประเภทของการปวดศีรษะให้กับคุณ

    ลักษณะอาการปวดศีรษะ มีอะไรบ้าง

    อาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

    ปวดศีรษะจากความเครียด

    ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headaches) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่น โดยสามารถเรียกได้หลายชื่อ ได้แก่ ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อในศีรษะหดตัว (muscle contraction headache) อาการปวดศีรษะรายวัน (chronic daily headaches) อาการปวดศีรษะเรื้อรังแต่ไม่ร้ายแรง (Chronic Non-Progressive Headache)

    การปวดศีรษะจากความเครียดนี้ เกิดจากกล้ามเนื้อในศีรษะเกิดการหดตัว ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง โดยคุณอาจมีอาการปวดศีรษะจากความเครียดเพียงไม่กี่นาทีหรืออาจนานหลายวันก็ได้ และบางครั้งสามารถนำไปสู่ภาวะไวต่อแสง (photophobia) หรือ ภาวะไวต่อเสียง (phonophobia) ได้เช่นกัน

    ปวดศีรษะไมเกรน

    อาการปวดศีรษะไมเกรน พบได้น้อยกว่าอาการปวดศีรษะจากความเครียด คุณจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน หากมีอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นระยะเวลานานกว่า 4-72 ชั่วโมง โดยสาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรนที่พบบ่อยเกิดจากการกระตุ้นโดยการเคลื่อนไหวทางร่างกายในชีวิตประจำวัน

    ลักษณะอาการปวดศีรษะไมเกรนส่วนใหญ่ที่พบคือ มีอาการปวดที่บริเวณศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง และบ่อยครั้งจะมีอาการปวดตุบๆ ด้วย โดยอาการปวดที่เกิดขึ้นจะมีระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก และส่วนใหญ่มักจะทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้ หรือมีปฏิกิริยาไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น และในบางครั้งอาจมีอาการเบื่ออาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน หรือปวดท้องร่วมด้วย

    ปวดศีรษะแบบผสม

    ปวดศีรษะแบบผสม (Mixed headache syndrome) คืออาการปวดศีรษะที่มีลักษณะการปวดผสมกันระหว่างอาการปวดศีรษะจากความเครียดและปวดศีรษะจากไมเกรน สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

    ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

    ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ หรือปวดศีรษะแบบชุดๆ (cluster headache) เป็นอาการปวดที่พบได้ไม่บ่อย แต่ว่ามีความรุนแรงมากที่สุด ลักษณะอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์จะแตกต่างจากไมเกรนและการปวดศีรษะจากความเครียดโดยทั่วไป และอาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดขั้นรุนแรงบริเวณรอบดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือบริเวณศีรษะด้านข้างได้ โดยอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์จะเกิดขึ้นเป็นชุดๆ ประมาณ 1-3 ครั้งต่อวัน และอาจคงอยู่นานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน แล้วเว้นช่วงไปอีกหลายเดือนหรือเป็นปี แล้วจึงเกิดอาการซ้ำอีก

    ปวดศีรษะจากไซนัส

    อาการปวดศีรษะจากไซนัส (Sinus headaches) เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป มักเกิดอาการปวดแบบลึกๆ และต่อเนื่อง บริเวณกระดูกแก้ม หน้าผาก หรือโพรงจมูก คาดว่าเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบริเวณโพรงอากาศข้างจมูก ทำให้เกิดอาการเจ็บอย่างรุนแรง หัวหมุน หน้ามืดวิงเวียน คัดแน่นจมูก น้ำมูกไหล ได้กลิ่นเหม็นคาว หรือจมูกไม่รับกลิ่น เจ็บหรือตึงหน้า มีไข้สูง หรือเกิดอาการหน้าบวม

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา