backup og meta

พฤติกรรมการกินผิดปกติ ในกลุ่มวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย วรภพ ไกยเดช · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    พฤติกรรมการกินผิดปกติ ในกลุ่มวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1

    พฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่น การกินมากเกินไป อดอาหารมากเกินไป เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่1 ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนและวิธีการป้องกันพฤติกรรมการกินผิดปกติ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่1มีสุขภาพที่ดี และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    พฤติกรรมการกินผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่1

    ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าทำไมกลุ่มวัยรุ่นจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคการกินผิดปกติเพิ่มขึ้น แต่พบว่าพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติมักจะเกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่ป่วยเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และจากผลการวิจัยยังพบเหตุผลบางประการที่ช่วยอธิบายความขัดแย้งที่ว่า “ทำไมอัตราวัยรุ่นที่เป็นโรคการกินผิดปกติถึงอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราพฤติกรรมการกินผิดปกติกลับเพิ่มสูงขึ้น” ซึ่งเหตุผลเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับอาการทางสุขภาพ และการรักษาโรค

    อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการป่วยเป็นโรคการกินผิดปกติในวัยรุ่นจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีรายงานว่า วัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีแนวโน้มพฤติกรรมการกินผิดปกติแบบไม่แสดงอาการในระดับที่สูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

    ตัวอย่างของพฤติกรรมการกินผิดปกติแบบไม่แสดงอาการก็คือ มีการจำกัดปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อ และจริงจังกับการออกกำลังกายมากเกินไปเพื่อที่จะลดน้ำหนัก มากไปกว่านั้น ยังมีรายงานอีกว่าวัยรุ่นที่ป่วยเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะหยุดฉีดหรือลดปริมาณการฉีดยาอินซูลินลง ซึ่งการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้เกิดภาวะไกลโคซูเรีย (Glycosuria) คือมีน้ำตาลในปัสสาวะมากเกินไป และภาวะที่เรียกว่า “น้ำตาลเป็นพิษ” ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอย่างมาก เพราะการลดหรือหยุดฉีดอินซูลินจะไปขัดขวางไม่ให้เกิดการเผาผลาญอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งต่างกับวัยรุ่นที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ที่ร่างกายสามารถผลิตอินซูลินโดยอัตโนมัติ เพื่อตอบสนองต่ออาหารที่กินเข้าไป

    อันตรายจากพฤติกรรมการกินผิดปกติ

    มีงานวิจัยระบุว่า ความเสี่ยงของการมีพฤติกรรมกินอาหารผิดปกติของวัยรุ่นที่ป่วยเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกหดหู่ ความรู้สึกอยากผอม ความรู้สึกว่าแต่ก่อนเคยควบคุมอาหารได้ ตอนนี้ก็เลยมีความคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะรักษาน้ำหนักปัจจุบันเอาไว้ให้ได้ จึงทำให้มีการควบคุมปริมาณของอาหารและสารอาหารที่จะกินในแต่ละวันมากเป็นพิเศษ

    อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติของวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าหรือความรู้สึกทางอารมณ์เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความคิดที่อยากจะควบคุมระดับน้ำตาล และการไม่อยากมีน้ำหนักตัวมากอีกด้วย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานทำการรักษาเบาหวานด้วยอินซูลิน

    นอกจากนี้ การรักษาโรคเบาหวานด้วยตนเอง ก็มีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การหมกมุ่นกับอาหารที่กินมากเกินไป คอยควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่กินเข้าไปทุกครั้ง มีการควบคุมน้ำหนักอย่างเคร่งครัด หรือเมื่อสังเกตว่าตัวเองมีน้ำหนักขึ้นหลังจากรักษาเบาหวานด้วยอินซูลิน ก็จะยิ่งเข้มงวดกับการรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าการเป็นโรคเบาหวานส่งผลให้ผู้ป่วยมีความต้องการควบคุมความอยากอาหารและเข้มงวดกับอาหารการกินมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวัยรุ่นป่วยเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีอัตราการเกิดพฤติกรรมการกินผิดปกติแบบไม่แสดงอาการมากกว่าที่คาดเอาไว้

    สัญญาณพฤติกรรมการกินผิดปกติในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    ผู้ปกครองสามารถสังเกตสัญญาณของพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติได้ ดังนี้

    • น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไปเมื่อมี่การเปลี่ยนวิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  เช่น น้ำหนักขึ้นเนื่องจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด หรือน้ำหนักลดเนื่องจากละเลยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
    • ผู้ปกครองควรจะสังเกตด้วยว่า มีการใช้อินซูลินน้อยเกินไปในบางช่วงเวลาหรือเปล่า เพราะอาจเป็นสัญญาณของพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติได้ นอกจากนี้การหมกหมุ่นอยู่กับควบคุมระดับน้ำตาลให้น้อยลง ก็อาจสร้างความกังวลในเรื่องของน้ำหนักได้เช่นกัน

    การป้องกันพฤติกรรมการกินผิดปกติในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    หากมีเด็กเล็กที่ป่วยเป็น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ปกครองสามารถช่วยเด็ก ๆ ได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างอาหารการกินกับการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ แทนการปล่อยให้เด็ก ๆ หมกมุ่นอยู่กับการขึ้นลงของน้ำหนักตัว วิธีเหล่านี้จะสามารถช่วยป้องกันพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติได้

    อีกหนึ่งวิธีที่ผู้ปกครองควรทำคือ เสริมสร้างการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้เกิดขึ้นภายในบ้าน โดยให้เด็กเลือกอาหารเพื่อสุขภาพด้วยตัวเอง มากไปกว่านั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคิดว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเกี่ยวข้องกับการกินอาหารเสมอไป เพราะการที่ระดับน้ำตาลในเลือดของเด็กพุ่งสูงอาจมาจากปัจจัยอื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีค่าน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ควรไปคาดคั้นคำตอบว่า “ลูกเพิ่งกินอะไรเข้าไป” เพราะนั่นอาจทำให้เด็กเครียดเรื่องอาหารได้

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูก ๆ มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ควรพาไปพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างเช่นนักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะคุ้นเคยกับการรักษาโรคเบาหวาน และการบำบัดพฤติกรรมการกินผิดปกติเป็นอย่างดี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย วรภพ ไกยเดช · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา