backup og meta

การฆ่าตัวตาย ปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2021

    การฆ่าตัวตาย ปัจจัยเสี่ยง และวิธีป้องกัน

    การฆ่าตัวตาย เป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุที่ทำให้คนมีคิดอยากฆ่าตัวตายอาจมาจากปัจจัยที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด ความสิ้นหวัง ความสูญเสีย หรืออาจมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเวช อย่างไรก็ตาม การสังเกตสัญญาณเตือนก่อนฆ่าตัวตาย อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายได้

    การฆ่าตัวตาย คืออะไร

    การฆ่าตัวตาย คือ การทำให้ตนเองเสียชีวิตโดยเจตนา ซึ่งอาจมีการวางแผนและผ่านกระบวนการคิดมาอย่างรอบคอบ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ทุก ๆ ปีจะมีประชากรทั่วโลกฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 700,000 คน ส่วนกรมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปีพ.ศ. 2563 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยอยู่ที่ 7.37 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 ที่มีอัตราประชากรฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.64 ต่อประชากร 1 แสนคน นับว่าเป็นตัวเลขที่พุ่งขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด

    สัญญาณเตือนก่อนฆ่าตัวตาย

    สัญญาณเตือนที่อาจบ่งบอกถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย เช่น

  • อารมณ์แปรปรวนฉับพลัน กระวนกระวายใจ
  • วางแผนหาทางฆ่าตัวตาย 
  • ใช้สิ่งกระตุ้นอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดบ่อยขึ้น
  • พูดถึงปัญหาที่อาจไม่มีทางแก้ ความสิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย
  • โทษตนเองว่าเป็นภาระให้คนอื่นบ่อยครั้ง
  • แยกตัวจากครอบครัว เพื่อน หรือสังคมรอบข้าง
  • พูด หรือสื่อสารเชิงอำลาครอบครัว และคนรอบข้าง
  • จัดการธุระส่วนตัว เช่น การทำพินัยกรรม 
  • มีพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น การขับรถเร็ว
  • ปัจจัยเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย

    ปัจจัยเสี่ยงในการฆ่าตัวตายอาจแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม ความคิด ความรู้สึก หรือเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจที่ผู้ป่วยพบเจอ โดยส่วนใหญ่อาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • พฤติกรรมการใช้สารเสพติด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ความผิดปกติทางจิต โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
  • ความเครียดจากอคติในเรื่องของเพศ ซึ่งมักเกิดกับกลุ่มเพศทางเลือก 
  • ครอบครัวใช้ความรุนแรง ทารุณกรรม
  • ปัญหาสังคม เช่น เศรษฐกิจ การตกงาน การหย่าร้าง การสูญเสียคนที่รัก การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกกลั่นแกล้งให้อับอาย
  • การอยู่คนเดียวมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว
  • ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
  • การขาดการดูแลเอาใจใส่
  • วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย

    วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ ควรสังเกตสัญญาณเตือนความคิดฆ่าตัวตายทั้งในตนเองและคนรอบข้าง และควรเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นการบำบัดด้วยการพูดคุยเพื่อให้ทราบปัญหาและช่วยให้ผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้ระบายสิ่งที่คิดหรือความรู้สึกออกมา ซึ่งอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
    • พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี (Dialectical behavior therapy) คือการบำบัดเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมรุนแรง เช่น การทำร้ายตัวเอง อีกทั้งยังอาจทำให้ผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตายควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น และอาจช่วยลดความคิดอยากฆ่าตัวตายได้

    นอกจากนี้ คุณหมออาจให้รับประทานยารักษาอาการทางจิต พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตายแก่คนรอบข้าง เช่น หมั่นเอาใจใส่ เก็บของมีคม หรืออุปกรณ์ที่สามารถนำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายออกห่างจากผู้ป่วย

    หากตนเองหรือคนรอบข้างรู้สึกกังวล ซึมเศร้า หรือรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย สามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา