backup og meta

ขย้อนอาหาร หลังกลืน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 21/09/2021

    ขย้อนอาหาร หลังกลืน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

    ขย้อนอาหาร เป็นอาการที่มักสำรอกอาหารที่กลืนเข้าไปแล้ว โดยอาจเกิดจากโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออกมา อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มไวกว่าปกติ และน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ หากไม่ได้รับการรักษาอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะทุพพลภาพ หรือขาดสารอาหารตามมาได้

    ขย้อนอาหาร คืออะไร

    โรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก (Rumination Syndrome) หรือ โรคขย้อนอาหาร กลุ่มอาการสำรอก กลุ่มอาการเคี้ยวเอื้อง เป็นโรคที่มักจะสำรอกหรือ ขย้อนอาหาร ที่ยังไม่ย่อย หรืออาหารที่ย่อยแล้วบางส่วนออกมาเคี้ยวซ้ำ จากนั้นจึงกลืนอาหารเข้าไปอีกรอบ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจเคี้ยวอาหารที่ขย้อนออกมาซ้ำ แล้วคายทิ้งโดยไม่พบความผิดปกติของทางเดินอาหาร และมีอาการนี้เป็นระยะเวลานานเกิน 1 เดือน

    สาเหตุของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก

    ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก แต่สันนิษฐานว่า ภาวะนี้เป็นผลมาจากอาหารที่กินเข้าไปทำให้กระเพาะอาหารขยายตัว ทำให้มีแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น และกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่างคลายตัว อาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมา หรือทำให้ผู้ป่วยสำรอกหรือขย้อนอาหาร

    ในผู้ป่วยบางราย อาการของโรคมักเริ่มมาจากปัจจัยกระตุ้น เช่น การติดเชื้อไวรัส โรคระบบทางเดินอาหาร ความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ที่บกพร่องทางสติปัญญา และความเครียดสะสม หรือความวิตกกังวลเป็นประจำ

    อาการของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก

    อาการของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก มีดังนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ขย้อนอาหาร หรือสำรอก
  • อาหารไม่ย่อย
  • เรอบ่อย และอาจมีอาการขย้อนอาหาร
  • ปวดท้องเมื่อรับประทานอาหาร
  • รู้สึกอิ่มไวกว่าปกติ
  • มีกลิ่นปาก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ผู้ป่วยโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออกมักจะมีอาการเหล่านี้เป็นประจำหลังรับประทานอาหาร บางรายอาจมีอาการทันทีหลังรับประทานอาหารคำแรก ในขณะที่บางรายอาจมีอาการหลังรับประทานอาหาร และอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าเป็นอาการของโรคบูลิเมียหรือโรคล้วงคอ (Bulimia) โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD) หรือภาวะกระเพาะอาหารย่อยช้า (Gastroparesis)

    ภาวะแทรกซ้อนโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก

    โรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออกส่วนใหญ่จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากไม่ได้รักษาอย่างเหมาะสม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น

  • อวัยวะในระบบทางเดินอาหารรับความรู้สึกได้ไวขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ ท้องอืด หรือแน่นท้องได้ง่าย
  • เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำ ภาวะทุพพลภาพ หรือขาดสารอาหาร และน้ำหนักตัวลด
  • มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด
  • นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากด้วย เช่น ทำให้ผู้ป่วยต้องขาดเรียน หรือต้องลางานบ่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายได้ตามต้องการ เพราะสมรรถภาพทางกายถดถอย

    การรักษาโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก

    โรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก สามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้

    การบำบัด

    การบำบัดที่นิยมใช้ในการรักษาโรคนี้ เช่น

    พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy)

    หากผู้ป่วยไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญา คุณหมออาจรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดชนิด Habit reversal behavior therapy หมายถึง พฤติกรรมบำบัดที่ผู้ให้การบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันอาการของตนเอง ด้วยการสังเกตสิ่งกระตุ้น อาการ และสัญญาณแรกก่อนเกิดอาการของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออก รวมถึงสอนวิธีควบคุมอาการ และวิธีผ่อนคลายให้ผู้ป่วย

    หากผู้ป่วยเป็นเด็กทารก การรักษาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของเด็ก เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหาร

    การใช้ยา

    หากอาการของโรคเคี้ยวกลืนแล้วขย้อนอาหารออกเกิดขึ้นบ่อยจนทำให้หลอดอาหารเสียหาย แพทย์อาจสั่งยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยาอีโซเมปราโซล (Esomeprazole) ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) ยาเหล่านี้จะช่วยปกป้องผนังหลอดอาหารไม่ให้ถูกกรดในกระเพาะอาหารทำลาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 21/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา