backup og meta

ใครอีคิวไม่ดี เรามี วิธีเพิ่มอีคิว (E.Q.) ช่วยกระตุ้นความฉลาดทางอารมณ์มาฝาก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 05/05/2020

    ใครอีคิวไม่ดี เรามี วิธีเพิ่มอีคิว (E.Q.) ช่วยกระตุ้นความฉลาดทางอารมณ์มาฝาก

    อีคิว (Emotional Intelligence หรือ E.Q.) หรือความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถอย่างหนึ่งที่เราทุกคนต้องมี เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เราต้องใช้ในการแก้ปัญหาที่พบเจอในแต่ละวัน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างราบรื่น แถมความฉลาดทางอารมณ์ หรือที่เรียกติดปากกันว่า “อีคิว” นี้ ยังเกี่ยวข้องกับการประสบความสำเร็จในชีวิตมากด้วย จากสถิติของเว็บไซต์ชื่อดังที่เก็บรวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์เว็บไซต์หนึ่ง พบว่า 90% ของผู้ที่ผลการทำงานออกมาดี มีระดับอีคิวสูง ในขณะที่ 80% ของผู้ที่ผลการทำงานออกมาไม่ดี มีระดับอีคิวต่ำ นี่จึงเเปรียบเสมือนเครื่องการันตีอีกอย่างหนึ่งว่า ระดับอีคิวมีผลต่อชีวิตของเราไม่แพ้ระดับไอคิว ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีอีคิวต่ำ หรืออยากเพิ่มอีคิว  Hello คุณหมอ ก็มี วิธีเพิ่มอีคิว (E.Q.) แบบง่ายๆ มาฝาก

    วิธีเพิ่มอีคิว (E.Q.) หรือความฉลาดทางอารมณ์

    จัดการความเครียดให้เป็น

    คนเราทุกคนล้วนต้องเคยมีความเครียดในชีวิตกันทั้งนั้น และความเครียดก็ถือเป็นสิ่งบั่นทอนอีคิวอันดับต้นๆ เลยทีเดียว ยิ่งเรารับมือกับความเครียดได้ดีเท่าไหร่ ปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ฉะนั้น คุณต้องรู้จักจัดการความเครียดให้เป็น เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดัน หรือสถานการณ์ตึงเครียด คุณต้องสงบสติอารมณ์ให้ได้ อย่าปรี๊ดแตก

    หากคุณรู้สึกตื่นเต้นหรือประหม่า ให้หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะจะยิ่งทำให้ตื่นเต้นกว่าเดิม แล้วลองสูดหายใจเข้า-ออกลึกๆ ล้างหน้าล้างตาด้วยน้ำเย็น ออกไปรับลมเย็นๆ หรือปรับเครื่องปรับอากาศให้เย็นขึ้น เพราะอากาศเย็นสามารถช่วยลดระดับความเครียดได้ หรือหากคุณรู้สึกกลัว ซึมเศร้า หรือหมดกำลังใจจนเครียด ให้ลองออกกำลังกายแบบแอโรบิกในระดับหนัก เช่น กระโดดเชือก เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มพลัง กระตุ้นให้ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า

    เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกเครียด ให้รีบคลายเครียดทันที หากเครียดจากงาน อาจลุกไปเดินเล่นสักพักค่อยกลับมาทำงานต่อก็ได้ เพราะถ้าปล่อยให้ความเครียดสะสม ไม่ใช่แค่อีคิวจะยิ่งต่ำลง แต่โรคร้าย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า จะถามหาด้วย

    รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

    หากคำพูดหรือการกระทำใดๆ ของคุณทำร้ายจิตใจผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คุณไม่ควรทำนิ่งเฉย ทำเนียนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือเอาแต่หลบหน้าคนๆ นั้น แต่ต้องพยายามแก้ไขสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด และขอโทษเขาอย่างจริงใจ เพราะคนส่วนใหญ่พร้อมให้อภัยคนที่ยอมรับผิดและรู้จักขอโทษอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณปล่อยไว้ ทั้งความรู้สึกผิดและความเครียดก็จะยิ่งสะสม ทำร้ายทั้งสุขภาพและความสัมพันธ์ แถมอีคิวของคุณก็จะมีแต่ลดลงเรื่อยๆ ด้วย

    อย่าคิดลบ หรือมองโลกในแง่ลบ

    เวลาที่คุณรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับความคิด หรือการกระทำของใครสักคน อย่ารีบด่วนสรุปหรือตัดสินเขาในแง่ลบ แต่ให้ลองมองสถานการณ์นั้นในหลายๆ แง่มุม รวมถึงลองมองจากมุมของเขาด้วย คุณจะได้เข้าใจการกระทำของเขามากขึ้น และแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างเหมาะสม เช่น ถ้าเพื่อนไม่รับโทรศัพท์ อย่าเพิ่งโมโห หรือคิดว่าเพื่อนจงใจไม่รับสายคุณ แต่ให้ลองคิดว่า เพื่อนอาจจะกำลังยุ่งอยู่ก็ได้ เมื่อเราเลิกตัดสินการกระทำของคนอื่นด้วยมุมมองของตัวเองเพียงอย่างเดียว เราก็จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และตัดสินเขาได้อย่างเป็นกลางขึ้น โอกาสเข้าใจผิดก็จะน้อยลง อีคิวสูงขึ้น อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขขึ้น

    ยอมรับฟังคำวิจารณ์ของคนอื่น

    สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอีคิวให้คุณได้อย่างมากก็คือ การยอมรับฟังคำวิจารณ์และข้อเสนอแนะจากผู้อื่น เวลาที่ใครวิจารณ์คุณ หรือเสนอแนะอะไรมา แทนที่คุณจะโมโห หรือหาข้อโต้แย้งเพื่อปกป้องตัวเอง คุณควรเปิดใจรับฟัง และลองทำความเข้าใจให้ได้ว่า เราแสดงพฤติกรรมอะไรออกไป มันส่งผลกระทบกับคนอื่นอย่างไร ทำไมเขาถึงติชมมาเช่นนั้น หากสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริง เราก็ควรน้อมรับคำติชม และนำมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้อีคิวของเราเพิ่มสูงขึ้นแล้ว บางครั้งยังอาจช่วยพัฒนาไอคิวของเราได้ด้วย

    กินดีมีประโยชน์ นอนให้พอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

    การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกกินอาหารให้หลากหลายไม่ซ้ำซาก เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และอาจเน้นสารอาหารที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน กุ้ง เมล็ดฟักทอง วอลนัต เป็นต้น ควบคู่กับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเพิ่มอีคิวง่ายๆ ที่นอกจากจะช่วยกระตุ้นความฉลาดทางอารมณ์แล้ว ยังดีต่อสุขภาพโดยรวมของคุณด้วย

    อย่าอยู่แต่ในโลกโซเชียล

    เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในปัจจุบันพัฒนาไปก้าวไกลมาก จนเราสามารถรับข่าวสาร หรือติดต่อกับคนที่อยู่อีกฝากโลกได้แสนง่ายดาย และความสะดวกสบายนี้ก็ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมติดต่อสื่อสารกันผ่านแอปพลิเคชัน หรือสื่อโซเชียล มากกว่าจะเจอตัว และพูดคุยแบบเห็นหน้ากัน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้แม้จะรวดเร็ว แต่ก็อาจทำให้ทักษะในการเข้าสังคมของเราลดลงเรื่อยๆ แถมการตีความผ่านภาพหรือตัวอักษร ก็มีสิทธิ์ผิดพลาดได้มากกว่า จึงทำให้เราเข้าใจผิดกันได้ง่ายขึ้นด้วย ฉะนั้น หากคุณอยากเพิ่มอีคิว ก็อย่ามัวอยู่แต่ในโลกโซเชียล หรือสื่อสารผ่านการส่งข้อความ ควรหาเวลาพบปะพูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกันในโลกจริงดูบ้าง ยิ่งหากคุณลองทำโซเชียลมีเดีย ดีท็อกซ์ได้ ก็จะยิ่งดีต่อระดับอีคิวและสุขภาพ

    ฝึกเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี

    เวลาพูดคุยกับใคร คนที่อีคิวสูงจะตั้งใจรับฟังสิ่งที่คู่สนทนาพูด พร้อมทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาแต่ฟังส่งๆ เพราะจ้องแต่จะพูดแทรกหรือจดจ่อรอคิวตัวเองได้พูดบ้าง ฉะนั้น หากคุณอยากมีอีคิวสูงขึ้น หรืออยากได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ คุณก็ควรฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี คือ ต้องตั้งใจฟัง คิดให้ดีก่อนจะพูดตอบโต้ออกไป แต่แค่สนใจในสิ่งที่เขาพูดยังไม่พอ คุณต้องใส่ใจกิริยาท่าทาง น้ำเสียง สายตา ของอีกฝ่ายด้วย จะได้ไม่ตีความผิด หรือเข้าใจผิดกัน

    และเมื่อคุณเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว ก็ควรเป็นผู้พูดที่ดีด้วย คือ อย่าเอาแต่พูดฝ่ายเดียว ต้องเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้พูดบ้าง เพราะนอกจากจะทำให้บทสนทนาของคุณกับเขาไม่น่าเบื่อแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติอีกฝ่ายด้วย

    อ่านนิยายบ้าง

    งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า การอ่านนิยายที่ตัวละครมีบุคลิกซับซ้อน จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าอกเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก และเข้าใจมุมมองของคนอื่น (Empathy) หรือพูดง่ายๆ ว่า “รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพราะเมื่อเราได้อ่านเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวละคร ก็เหมือนเราได้ฝึกมองโลกผ่านมุมมองของคนอื่น ได้ฝึกวิเคราะห์และทำความเข้าใจความคิด แรงจูงใจ และการกระทำของพวกเขา ถือเป็นการเสริมสร้างการตระหนักรู้ทางสังคม (social awareness) ซึ่งเป็นทักษะทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้เรารับมือกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม และใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 05/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา