backup og meta

ไม่คิดมากก็เครียดได้ ถ้าเฉียดไปใกล้ สถานที่ก่อความเครียด พวกนี้!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ศศวัต จันทนะ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ไม่คิดมากก็เครียดได้ ถ้าเฉียดไปใกล้ สถานที่ก่อความเครียด พวกนี้!

    ความเครียด เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคยเจอ แต่เราอาจไม่เคยเฉลียวใจเลยก็ได้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่ความคิดที่วนเวียนในหัวเราจะก่อให้เกิดความเครียด แต่สถานที่ซึ่งเราคลุกคลีมาตลอดชีวิตอาจเป็นต้นเหตุความเครียดของเราก็ได้ มาเช็คลิสต์ สถานที่ก่อความเครียด ซึ่งอาจเป็นสถานท่ชี่งคุณโปรดปรานก็เป็นได้ พร้อมคำแนะนำทำอย่างไรให้หายเครียด 

    คุณเครียดแค่ไหน?

    แม้ความเครียดจะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ที่มีอาการเครียดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน อาจนำมาสู่โรคร้ายอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด นอกจากนั้นความเครียดทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานลดลง ลองมาเช็คตัวเองดูว่าเรามีความเครียดในระดับไหน ที่อาจเป้นอันตรายแล้วหรือยัง

    • ความเครียดในระดับต่ำ เป็นความเครียดเล็กน้อย และหายไปได้ระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีผลคุกคามการดำเนินชีวิต เนื่องจากร่างกายสามารถปรับตัวได้
    • ความเครียดในระดับปานกลาง ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเนื่องจากมีสิ่งคุกคาม หรือต้องพบเจอกับบางเหตุการณ์ในสังคม ที่ส่งผลต่อความวิตกกังวล ความกลัว หรืออาการอื่น ความเครียดในระดับนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไปไม่รุนแรงจนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย
    • ความเครียดในระดับสูง เป็นความเครียดที่เกิดจากการพบบางเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดสูง ไม่สารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งความเครียดในระดับนี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพที่หากไม่ได้รับการบรรเทาความเครียดอาจทำให้เป็นโรคเครียดเรื้อรัง หรือโรคอื่นได้ 
    • ความเครียดในระดับรุนแรง เป็นความเครียดระดับสูงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีความล้มเหลวในการปรับตัวจนเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดแรง ควบคุมตัวเองไม่ได้ เกิดอาการทางกายหรือโรคอื่นตามมาได้ง่าย

    สัญญาณเตือนความเครียดในระดับสูง

    • ปวดศีรษะในวันหยุด คุณหมอจากศูนย์อาการปวดศีรษะแห่งมหาวิทยาลัยชิงตัน คาดว่าอาการปวดศีรษะในวันหยุดมาจากความเครียดจากวันทำงานที่เราไม่รู้ตัว
    • ปวดท้องประจำเดือน ศูนย์วิจัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ต พบว่าความเครียดทำให้การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน และผู้ที่เครียดมักมีอาการปวดท้องประจำเดือนมากเป็นสองเท่าของผู้ที่ไม่เครียด
    • เจ็บเหงือกโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากการนอนกัดฟันเพราะผู้ที่เครียดมักชอบนอนกัดฟัน
    • ฝันแปลกๆ อาจารย์วิชาจิตวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรัช พบว่าทั่วไปแล้วความฝันของคนเรามีแนวโน้มจะเป็นฝันดี ก่อความสุขสดชื่นยามตื่นให้เสมอแต่หากเกิดความเครียด คนเรามักจินตนาการทางลบและกลายเป็นฝันร้ายในที่สุด 

    สถานที่ก่อความเครียด ที่ควรระวัง

    • บ้าน

    ใครจะคิดว่าบ้านที่เราอยู่อาศัยตั้งแต่เด็กจนแก่จะเป็นสถานที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ เนื่องจากครอบครัวของไทยมักนิยมอาศัยอยู่แบบครอบครัวใหญ่ที่ประกอบด้วยคนหลายช่วงวัย โดยคนแต่ละช่วงวัยจะมีความเครียดจากเรื่องที่แตกต่างกัน

    วัยเด็ก จะถูกเร่งรัดเรื่องการศึกษา เครียดจาการรับสื่อที่มีจากหลากหลายช่องทาง และพบว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่แตกแยก หรือเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว สร้างความเครียดให้เด็กมากที่สุด จนกลายเป็นปัญหาทางจิตได้ง่าย และแสดงออกทางพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงหรือซึมเศร้าได้ 

    วัยทำงาน เป็นความเครียดของการสร้างครอบครัว ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับรายได้ที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่มีค่าครองชีพสูง การสร้างเนื้อสร้างตัวและเก็บออมทรัพย์สินยังคงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทำให้วัยทำงานรุ่นใหม่แต่งงานช้าลง และเป็นโสดมากขึ้น ซึ่งพบว่าความโสดที่ต้องเผชิญปัญหาต่างๆ เพียงลำพัง ก็ทำให้เกิดอาการเครียดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

    วัยสูงอายุ ความเครียดของวัยสูงอายุมาจากความอ้างว้าง​ โดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว และการไม่ได้รับความเอาใจใส่จากลูกหลาน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภาพครอบครัวจากครอบครัวใหญ่ในอดีตสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยว นอกจากนั้นการไม่เคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ของเด็กรุ่นใหม่ในบ้านยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกน้อยใจ ด้อยค่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ขาดรายได้และเงินทุนสำรอง เมื่อเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็จะก่อให้เกิดอาการเครียดสูงมากยิ่งขึ้น 

    • ที่ทำงาน

    สถานที่เราใช้เวลาทั้งวันมาเป็นอันดับสองรองจากบ้านคือที่ทำงาน แต่ทราบหรือไม่ว่าที่ทำงานคือที่ก่อความเครียดชั้นดี โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือรับแรงกดดันอยู่ตลอดเวลา ยิ่งต้องทำงานที่ผิดกับนิสัยของตัวเองที่แม้จะมีรายได้ดี และมีความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เป็นบ่อเกิดความเครียดที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ความคิดสร้างสรรค์ตกต่ำ พฤติกรรมอันฉุนเฉียว ไร้ความสุข 

  • ถนน
  • ความเครียดบนท้องเป็นปัญหาที่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอ โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ต้องเร่งรีบไปให้ทันจุดหมาย ขณะที่รถบนท้องถนนก็มากมายแทบไม่ขยับ โดยแพทย์ให้สาเหตุของความเครียดบนท้องถนนอยู่สองประการคือ ความคิดของเราที่อยากไปให้ถึงจุดหมาย และความเครียดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวบนท้องถนน เช่น รถติด เสียงดัง แสงแดด และมลพิษต่างๆ ที่มากับท่อไอเสียของรถ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่คนเมืองแทบจะไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

    • ห้างสรรพสินค้า 

    ห้างสรรพสินค้า สถานที่ผ่อนคลายสำหรับหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่าหากพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่แบบนี้บ่อยๆ ก็ก่อให้เกิดความเครียดขึ้นได้นะ เพราะการที่เราไปพบสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่ทำให้เราอยากได้อยากมี อาจกลายเป็นความวิตกกังวลและความเครียดขึ้นได้ 

    • โรงพยาบาล

    ชื่อนี้ชื่อว่าคงไม่มีใครอยากไปหากไม่จำเป็น เพราะทราบกันดีว่าเป็นศูนย์รวมความเจ็บป่วย การที่เราพาตัวเองไปอยู่ในโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยคนไข้ใส่ท่อหายใจ คนที่ท้อแท้หมดหวัง หรือผู้ป่วยจำนวนมากๆ ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจและอารมณ์ เพราะอารมณ์ที่เป็นลบสามารถส่งต่อกันได้ หรือแม้กระทั่งความระแวงว่าตนเองจะติดต่อโรคจากผู้ป่วยเหล่านั้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเครียดขึ้นได้ทั้งสิ้น 

    • โรงภาพยนตร์ 

    โรงภาพยนตร์หรือโรงหนังที่เราคุ้นหู้กัน เรียกได้ว่าเป็นสถานที่คลายเครียดยอดนิยม โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น แต่รู้ไหมว่าแทนที่จะได้คลายเครียดอาจได้หอบเอาความเครียดจากโรงหนังกลับบ้านด้วย เพราะปัจจัยหลายอย่างของโรงหนังที่อาจก่อให้เกิดความเครียด

    ประเภทของหนัง มีผลต่อความเครียดของเราโดยเฉพาะหนังแนวบู๊ แอ็กชั่น อาจทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ และส่งเสริมความเครียด หนังผีอาจทำให้เกิดอาการหวาดระแวงขึ้น 

    สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเสียงรบกวนที่เรียกว่า นอยซ์ (Noise) ที่ไม่ได้มีการจัดเรียงทำนองที่เป็นระเบียบไพเราะ จะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ อาการวิตกกังวล และเกิดความเครียดตามมาได้ 

    • ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต

    การเล่นเกมโดยเฉพาะเกมออนไลน์มีมาหลายยุคหลายสมัยอยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายปี โดยเฉพาะรอบรั้วโรงเรียน หรือรอบรั้วมหาวิทยาลัยจะมีร้านเกมที่เป็นสถานที่รวมตัวของคนหัวอกเดียวกัน แต่รู้ไหมว่า การเล่นเกมก่อให้เกิดความเครียดได้ด้วยการอยากเอาชนะ เมื่อทำไม่ได้ก็จะเกิดอาการเครียดและวิตกกังวล รวมไปถึงเสียง แสง การนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็จะทำให้เกิดอการกล้ามเนื้อตึงและล้า ซึ่งนำไปสู่ความเครียดทางร่างกายได้เช่นกัน 

    คลายเครียดกันหน่อย

    ฝึกซ้อมล้มเหลวทางอารมณ์ ช่วยให้เรามองเห็นจุดอ่อนของตัวเราได้ชัดเจนล่วงหน้า และสามารถหาทางป้องกันได้ โดยการลองสมมติเหตุการณ์ เช่น โกรธ โมโห หงุดหงิด เศร้า เสียใจ ผิดหวัง เราควรแสดงพฤติกรรมอย่างไร วิธีนี้ช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติของเราจดจำพฤติกรรมดังกล่าว แล้วนำมาใช้อย่างอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง 

    เผื่อเวลาให้มากพอ การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอก่อนเวลาที่กำหนด จะช่วยลดปัญหาความเครียดที่เกิดบนท้องถนนได้ เพราะเมื่อเรารู้สึกว่ากำลังจะสาย ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความตื่นเต้นออกมา แล้วสารนี้มีผลทำให้เกิดความเครียด

    รู้จักปฏิเสธเสียบ้าง การลองปฏิเสธจะทำให้เรารู้สึกเข้มแข็งมากขึ้น เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และนับถือตัวเองมากขึ้น ทำให้ความหงุดหงิดและความเครียดลดลงมากทีเดียว

    หาเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยให้ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติช่วยชำระล้างความหมองมัวและมลพิษที่ตกค้างภายในใจและกายของเรา อาศัยกลไกทางธรรมชาติ เอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปแลกกับออกซิเจน ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หายเครียด ปลายสัปดาห์นี้ลองหาเวลาไปดูสิ แล้วคุณจะพบกับความผ่อนคลายแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ศศวัต จันทนะ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา