backup og meta

ศาสตร์ในการ ควบคุมความโกรธ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและจิต

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 30/06/2020

    ศาสตร์ในการ ควบคุมความโกรธ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและจิต

    ความโกรธ เป็นอารมณ์ธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน แต่ถ้าหากคุณรู้สึกว่าไม่สามารถ  ควบคุมความโกรธ ได้แล้วละก็ นั่นอาจส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของคุณด้วย  Hello คุณหมอ มีข้อมูลเกี่ยวกับ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการแสดงอารมณ์โกรธของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งเทคนิคในการ ควบคุมความโกรธ ที่คุณสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และเสริมสร้างสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีในระยะยาวของตัวคุณเอง มาฝากคุณผู้อ่านทุกคนในบทความนี้

    ทำไมคุณจำเป็นต้อง ควบคุมความโกรธ

    อันที่จริง อารมณ์โกรธก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าใดนัก ก็เหมือนทุกอารมณ์อื่นๆ ที่ทำหน้าที่แสดงข้อความบางอย่างที่อยู่ภายในใจ และแสดงความรู้สึกของคุณออกมา เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกโดนข่มขู่ หรือแม้แต่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

    แม้จะเป็นเรื่องปกติหากคุณจะรู้สึกโกรธเมื่อได้รับการปฎิบัติที่แย่ๆ จากคนอื่น แต่ความโกรธอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทันที หากคุณแสดงมันออกมาในทางที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น และนี่จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือจัดการกับความโกรธ

    ผลดีของการควบคุมความโกรธคืออะไร

    วัตถุประสงค์ของการจัดการความโกรธนั้นไม่ได้มุ่งหวังที่จะซ่อนความโกรธเอาไว้ แต่เป็นการทำความเข้าใจและรู้เท่าทัน เหตุผลของการเกิดอารมณ์เหล่านั้น และแสดงมันออกมาในเชิงสร้างสรรค์และไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อทั้งตัวคุณเองและคนรอบข้าง ถ้าคุณประสบความสำเร็จในการจัดการความโกรธ ไม่เพียงแต่คุณจะรู้สึกดีเท่านั้น แต่คุณยังสามารถที่จะจัดการความขัดแย้งต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งสามารถเสริมสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้อีกด้วย

    เทคนิคการควบคุมอารมณ์โกรธอย่างได้ผล

    เทคนิดเหล่านี้ จะช่วยคุณทำความเข้าใจอารมณ์โกรธและควบคุมอารมณ์โกรธได้ดีขึ้น

    คิดก่อนพูด

    คุณควรใช้เวลาหยุดคิดสักครู่ ก่อนที่จะพูดอะไรออกมา เพื่อรวบรวมและเรียบเรียง สิ่งที่คุณอยากจะพูดออกมาให้เรียบร้อยภายในหัวก่อน แล้วจึงค่อยพูดออกมา เพราะหากคุณปล่อยให้อารมณ์โกรธครอบงำ แล้วพูดออกมาโดยไม่คิด คุณอาจจะเสียใจภายหลังได้

    รอให้ใจเย็นลงก่อนแล้วค่อยบอกว่าโกรธ

    การบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าคุณโกรธนั้นเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยให้ปรับความเข้าใจกันได้ดีขึ้น แต่การบอกไปขณะที่กำลังโกรธอยู่ อาจทำให้อารมณ์ปะทุ และใช้แต่อารมณ์คุยกัน จนอาจเผลอทำร้ายอีกฝ่ายได้ คุณควรรอให้ใจเย็นลงเสียก่อน แล้วจึงค่อยพูดคุยปรับความเข้าใจกับอีกฝ่าย เพื่อจะได้อธิบายสิ่งที่คุณไม่พอใจได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และไม่ใช้อารมณ์ทำร้ายใครหรือบังคับใคร

    ออกกำลังกายบ้าง

    การออกกำลังกายนั้น จะทำให้เราได้มีโอกาสขยับร่างกาย และใช้แรง สามารถช่วยระบายความรู้สึกโกรธที่อัดอั้นในตัวเราได้ นอกจากนี้ การออกกำลังกาย ยังทำให้ร่างกายหลั่งสารความสุข ที่เรียกว่าสารโดพามีน (Dopamine) ช่วยลดความเครียด และทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น และช่วยจัดการกับความโกรธได้เป็นอย่างดี

    ขอเวลาพักให้ตัวเอง

    หาเวลาสักครู่เพื่อปลีกตัวไปอยู่เงียบๆ คนเดียวบ้าง ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น และยังเป็นการเตรียมตัว เตรียมใจคอยรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกขุ่นเคืองหรือวิตกกังวล

    คิดหาทางออกที่เป็นไปได้

    คอยเตือนตัวเองไว้ว่าโกรธไปก็ไม่ช่วยอะไร มีแต่ทำให้ทุกอย่างแย่ลง โฟกัสที่ผลลัพธ์แทนที่จะใส่ใจกับอะไรที่ทำให้คุณหงุดหงิด ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะจะดีกว่า

    ใช้อารมณ์ขันคลายเครียด

    เปิดใจกับทุกสิ่งและคิดว่าเป็นเรื่องตลก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณผ่อนคลายความตึงเครียด อย่างไรก็ตาม พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดประชดประชันที่อาจทำร้ายจิตใจผู้อื่นและอาจทำให้เรื่องมีแต่จะแย่ลงเอาไว้ด้วย

    ฝึกทักษะการผ่อนคลาย

    ฝึกหายใจลึกๆ ฝึกทำสมาธิ หรือเล่นโยคะ จะช่วยคุณควบคุมอารมณ์โกรธได้ดีขึ้น หรืออาจจะฟังเพลง เขียนระบายอะไรก็ได้ที่อยากเขียน เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

    มองหาความช่วยเหลือ

    หากความโกรธของคุณทำท่าจะเกินการควบคุม ลองพิจารณาขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท แพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ามาช่วยคุณในการจัดการความโกรธ แทนที่จะปล่อยให้ความโกรธทำร้ายตัวคุณเองและคนรอบข้าง จนคุณต้องมานั่งเสียใจทีหลัง

    อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ในการจัดการกับความโกรธถือเป็นศิลปะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งที่ท้าทายสำหรับทุกคน ความชำนาญในการควบคุมอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพย่อมจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน ยิ่งฝึกฝนเท่าไหร่ก็จะยิ่งควบคุมความโกรธได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 30/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา