backup og meta

จิตตก เพราะโซเชียลมีเดีย วิธีเหล่านี้ช่วยให้ดีขึ้นได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

    จิตตก เพราะโซเชียลมีเดีย วิธีเหล่านี้ช่วยให้ดีขึ้นได้

    จิตตก เป็นความรู้สึกแย่ หดหู่ กังวล เศร้า หลายครั้งอาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ปนเปกันจนเราไม่อาจรู้ได้ว่าตกลงเราเป็นอะไร รู้สึกอะไรอยู่กันแน่ ซึ่งก็อาจจะมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเรารู้สึกจิตตกคือ การใช้โซเชียลมีเดีย หากสงสัย และอยากรู้ว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้เรา จิตตก ได้อย่างไร ตาม Hello คุณหมอไปดูกันเลยค่ะ

    คุณมีอาการ จิตตก แบบนี้บ้างหรือเปล่า

    • รู้สึกแย่ และไม่พอใจในตัวเอง
    • รู้สึกเศร้าเพราะเรามันไร้ค่า
    • รู้สึกอิจฉาที่คนอื่นเขามีชีวิตดีกว่า
    • รู้สึกอยากร้องไห้ ทำอย่างไรชีวิตก็ไม่ดีขึ้น
    • รู้สึกกดดันเพราะเราไม่มีอะไรดีเลย

    หากกำลังรู้สึกแบบนี้ แสดงว่าคุณกำลังมีอาการจิตตกอยู่ อาการจิตตกคือความรู้สึกแย่ หดหู่ กังวล เศร้า เหงา หรืออะไรๆ ก็ ‘ไม่ดี’ ไปหมด สาเหตุที่ทำให้คนเราจิตตกเพราะเรารู้สึกไม่พอใจ หรือรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันรู้สึกจิตตกคือการใช้โซเชียลมีเดีย

    จิตตก-โซเชียลมีเดีย

    สาเหตุที่ทำให้จิตตก

    ในปัจจุบันผู้คนใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียทั้งในโทรศัพท์มือถือและในคอมพิวเตอร์ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า คนไทยใช้เวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน โดยโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ Facebook รองลงมาคือ YouTube, Line, Instagram และ Twitter ตามลำดับ

    ผลการสำรวจจาก Pew Research Center พบว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังมีผลการสำรวจของดร.รามิน มอจทาไบ ที่ว่าวัยรุ่นเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้โซเชียลมีเดีย โดยวัยรุ่นชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 6% ในขณะที่วัยรุ่นหญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 17%

    โซเชียลมีเดียทำให้จิตตก ซึมเศร้า เครียด เพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนต่างมาแชร์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องราวที่ดีและไม่ดี เรื่องราวที่ไม่ดีอย่างเช่น คดีอาชญากรรม ความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือเรื่องราวดราม่าต่างๆ แน่นอนว่าเรื่องไม่ดีพวกนี้ย่อมทำให้เกิดอาการจิตตกได้ง่าย บางคนจึงใช้วิธีหลีกเลี่ยงข่าวร้ายในโซเชียลมีเดียเพื่อจะได้ไม่เกิดอาการจิตตก แต่ไม่ใช่แค่เรื่องร้ายเท่านั้นที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เรื่องราวดีๆ ที่แชร์ในโซเชียลมีเดีย บางครั้งก็ทำให้คนเกิดอาการจิตตกได้เหมือนกัน

    โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนแชร์ด้านดีของตนเอง เนื่องจากพื้นฐานแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการได้รับการยอมรับ การแชร์สิ่งดีๆ หรือการอวดสิ่งที่ตนเองภูมิใจจะทำให้บุคคลรู้สึกดี มีความสุข รวมถึงรู้สึกประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ หลายคนมีชีวิตดีขึ้นจากการใช้โซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในตัวเอง ทำให้เกิดอาการจิตตกได้ในที่สุด

    การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ โดยเกี่ยวข้องกับความรู้สึกปลอดภัยและความกลัว มนุษย์ในยุคหินนั้นคนที่อ่อนแอ ไร้ความสามารถ จะถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม กลไกการทำงานของสมองจึงต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเพื่อให้ตนเองพัฒนาขึ้น จะได้อยู่รอดในกลุ่มและมีชีวิตที่ปลอดภัย ซึ่งสมองของมนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่ได้แตกต่างจากสมองของมนุษย์ยุคหิน ดังนั้นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนรับรู้ข่าวสาร รับรู้เรื่องราวผ่านทางโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จึงอาจเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นหลายคน จนเกิดอาการจิตตกเมื่อพบว่าตัวเองไม่มีดีเท่าคนอื่น

    ทำอย่างไรไม่ให้ จิตตก

    1. เปรียบเทียบตัวเองกับ ‘ตัวเองเมื่อวาน’

    หนังสือ 12 Rules for Life ของจอร์เดน ปีเตอร์สัน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎการใช้ชีวิต 12 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือ เปรียบเทียบตัวเองกับเมื่อวาน อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นนั้นไม่สิ้นสุด ตัวอย่างเช่น อยากรวยแบบคนอื่น แต่เมื่อไปถึงจุดที่เราคิดว่ารวยแล้วก็จะมีคนที่รวยกว่า หรือเราอยากเก่งขึ้น เมื่อถึงวันที่เราพัฒนาไปถึงจุดที่เราคิดว่าเก่งแล้ว ก็จะพบว่ามีคนที่เก่งกว่าอีก ดังนั้นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจึงไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ควรทำคือการเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองในเมื่อวาน หากวันนี้เราทำดีขึ้นกว่าเมื่อวาน หรือเราเก่งขึ้นกว่าเมื่อวาน นั่นถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว การเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองในอดีตนอกจากจะทำให้เราพัฒนาขึ้นยังทำให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นด้วย เพราะไม่ว่าคนในโซเชียลมีเดียจะมีชีวิตที่ดีจนน่าอิจฉาขนาดไหนก็แทบจะไม่มีผลกระทบอะไรกับเราเลย

    2. ระวังคำพูดที่พูดกับตัวเอง

    คำพูดสะท้อนความคิด การพูดนั้นมีทั้งการพูดแบบเปล่งเสียงออกมาและการพูดในใจ สิ่งที่ต้องระวังคือคำพูดที่เราใช้กับตัวเอง หลายครั้งที่การเล่นโซเชียลมีเดียทำให้เราไม่พอใจในตัวเอง บางคนอาจรู้สึกว่าเราอ้วนเกินไป เราดูแย่ เราไม่เก่งเหมือนคนอื่น จนทำให้เผลอก่นด่าตัวเองในใจว่า อ้วน ขาใหญ่ ทำไมห่วยขนาดนี้ แย่ และอีกมากมาย หากใครที่กำลังจิตตกจนด่าตัวเองอยู่ควรต้องหยุด ตั้งสติ ให้คิดเสียใหม่ว่า ‘ถ้าเราไม่คิดจะใช้คำพูดแย่ๆ แบบนี้กับเพื่อนคนไหน เราก็ต้องไม่พูดกับตัวเองแบบนี้เหมือนกัน’ คำพูดแย่ๆ คำด่าที่แม้แต่ตัวเราเองยังไม่กล้าว่าคนอื่น ก็ต้องไม่กล่าวคำเหล่านั้นกับตัวเอง เพียงมีสติและระวังคำพูดที่ใช้กับตัวเอง แค่นี้ก็ทำให้เราไม่จิตตกไปกับความไม่พอใจในตัวเองแล้ว

    3. ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ

    “ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ’ ประโยคนี้เป็นเรื่องจริงเสมอ ทุกคนต่างก็มีเรื่องดีๆ และเรื่องแย่ๆ ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าสังคมในโซเชียลมีเดียผู้คนต่างมีชีวิตที่ดี เช่น สุขภาพดี มีเงิน มีเวลา แต่ว่าในโลกแห่งความจริงนั้นไม่ว่าใครก็มีเรื่องไม่สบายเป็นของตัวเอง ความทุกข์และความสุขเป็นของคู่กัน ดังนั้นเวลาที่รู้สึกจิตตกเนื่องจากรู้สึกไม่พอใจในตัวเอง รู้สึกอิจฉาคนอื่นที่เขามีชีวิตที่ดีมากๆ ก็ให้คิดไว้เสมอว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น แต่เขาเลือกที่จะนำเสนอแต่เรื่องดีๆ ผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้นเอง

    วิธีแก้อาการจิตตกที่ได้แนะนำไปนั้น นอกจากจะช่วยให้เล่นโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับด้านอื่นๆ ในชีวิตเพื่อจะได้ไม่จิตตก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีและทำให้มีความสุขกับชีวิตในทุกวัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 13/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา