backup og meta

โรคหลอกตัวเอง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/09/2021

    โรคหลอกตัวเอง

    โรคหลอกตัวเอง เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพหรือทางพฤติกรรม ซึ่งเป็นพฤติกรรามที่อาจเกิดจากแรงกดดันทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกอึดอัด จนต้องมีพฤติกรรมโกหกจนเป็นนิสัย และหากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา อาจเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างได้

    โรคหลอกตัวเองคืออะไร

    โรคหลอกตัวเอง (Pathological Liar หรือ Mythomania หรือ Pseudologia fantastica) จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพ หรือความผิดปกติทางพฤติกรรม โดยจะมีพฤติกรรมโกหกตามแรงกดดันจนกลายเป็นนิสัย เมื่อถูกบังคับหรือถูกกดดันให้พูดความจริง ผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ จนกลายเป็นพฤติกรรมโกหกโดยอัตโนมัติ

    การโกหกของผู้ที่เป็นโรคหลอกตัวเอง ไม่ใช่การโกหกสีขาว หรือการโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นครั้งคราว แต่เป็นการโกหกแบบไม่มีเหตุผลแน่ชัด ทำให้ผู้รับฟังรู้สึกหงุดหงิดและไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร

    สาเหตุของ โรคหลอกตัวเอง

    ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคหลอกตัวเองเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคต่อต้านสังคม โรคหลงตัวเอง โรคย้ำคิดย้ำทำ หรืออาจเป็นผลมาจากระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ การบาดเจ็บที่ศีรษะ บาดแผลทางจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก หรือระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ไม่สมดุล

    อาการของโรคหลอกตัวเอง

    อาการของโรคหลอกตัวเองตามหลักวิทยาศาสตร์ มีดังนี้

    โกหกแบบไม่มีจุดประสงค์ที่แน่ชัด

    เป็นการโกหกโดยสร้างเรื่องขึ้นมาแบบไม่มีจุดประสงค์ที่เจตนาแน่ชัดซึ่งเพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้างไม่สามารถหาสาเหตุของการโกหกนั้นได้

    เรื่องเล่าน้ำเน่า ซับซ้อน และมีรายละเอียดมาก

    ผู้ที่เป็นโรคหลอกตัวเองจะชอบแต่งเรื่อง ชอบเล่าเรื่อง โดยเรื่องที่เล่าส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และน่าติดตาม ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เกินจริงและมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวใจอีกฝ่าย

    ชอบสวมบทบาท

    ผู้ป่วยมักจะสวมบทบาทเป็นฮีโร่หรือเหยื่อในเรื่องโกหกหรือเรื่องเล่า เพื่อเรียกร้องความสนใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความชื่นชอบ และการยอมรับจากคนอื่น

    เชื่อว่าเรื่องที่โกหกเป็นเรื่องจริง

    ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเองมักเชื่อว่าเรื่องเล่านั้นเป็นเรื่องจริง ทำให้การรับมือกับผู้ที่เป็นโรคหลอกตัวเองกลายเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ป่วยอาจแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนเรื่องจริง สิ่งไหนเรื่องแต่ง

    ความแตกต่างระหว่างการโกหกสีขาวกับโรคหลอกตัวเอง

    ข้อแตกต่างที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

    การโกหกสีขาว

    • เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
    • เป็นเรื่องโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ
    • เรื่องโกหกไม่เป็นเรื่องร้ายแรง หรือสร้างอันตราย
    • ไม่ได้โกหกเพราะมีเจตนาร้าย
    • โกหก เพราะไม่อยากทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย หรือเพราะไม่อยากมีปัญหา

    ตัวอย่างการโกหกสีขาว

    • โกหกว่าปวดหัวเพราะไม่อยากเข้าร่วมประชุม
    • บอกว่าจ่ายบิลค่าโทรศัพท์แล้ว แต่ความยังไม่ได้จ่าย
    • โกหกว่ามาสายเพราะรถเสีย ซึ่งในความจริงคือตื่นสาย

    การโกหกของโรคหลอกตัวเอง

    • โกหกบ่อย และมักเกิดจากแรงกดดัน
    • โกหก โดยไม่มีเหตุผล หรือจุดประสงค์ที่แน่ชัด
    • โกหกจนเป็นนิสัย
    • มักสวมบทบาทเป็นฮีโร่หรือเหยื่อในเรื่องโกหก
    • โกหกโดยไม่รู้สึกผิด หรือไม่กลัวว่าจะถูกจับได้

    ตัวอย่างการ โกหกของโรคหลอกตัวเอง

    • โกหกว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรง หรือป่วยหนักใกล้จนเสียชีวิต
    • โกหกเพื่อให้คนอื่นประทับใจ เช่น โกหกว่าเป็นญาติกับดาราชื่อดัง
    • สร้างเรื่องประสบการณ์ชีวิตตัวเองขึ้นมาใหม่ เช่น บอกว่าเคยได้รับรางวัลทั้งที่ไม่เคยได้ บอกว่าเคยไปเที่ยวเมืองนอกทั้งที่ไม่เคยไป

    วิธีรับมือกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเอง

    วิธีรับมือกับผผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเองสามรถทำได้ ดังนี้

    ควบคุมสติ

    ควรควบคุมสติและใจเย็นกับผู้ที่เป็นโรคหลอกตัวเอง คอยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย ใช้เหตุผลชี้แจงข้อเท็จจริง

    ไม่ควรบังคับให้ผู้ป่วยพูดความจริง

    ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอกตัวเองมักเล่าเรื่องราว หรือตอบคำถามด้วยเรื่องโกหก ดังนั้นไม่ควรคาดหวังหรือบังคับให้ผู้ป่วยพูดความจริง แต่ควรพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยเหตุผลและใจเย็น

    ไม่ควรสนับสนุนคำโกหก

    หากผู้ป่วยกำลังพูดโกหกไม่ควรสนับสนุนคำโกหกนั้น แต่ควรใช้คำถามอย่างสุภาพถึงเรื่องที่ผู้ป่วยกำลังเล่า วิธีนี้อาจช่วยให้ผู้ป่วยเลิกโกหกได้

    สนับสนุนให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเอง

    ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องโกหกขึ้นมาเพื่อให้ผู้อื่นประทับใจ และสนับสนุให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเอง และอยู่เคียงข้างคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยเสมอ

    ให้ความช่วยเหลือด้านการรักษา

    การเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษาให้ให้กับผู้ป่วย ใช้คำพูดโน้มน้าวใจที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย หรือเป็นปมด้อย และสนับสนุนในการรักษาอยู่เสมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 17/09/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา