backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคเครียด ภัยเงียบต่อร่างกาย ที่ควรระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 06/12/2021

โรคเครียด ภัยเงียบต่อร่างกาย ที่ควรระวัง

โรคเครียด เป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่เกิดจากการเผชิญปัญหา แรงกดดัน หรือสิ่งไม่คาดคิดในชีวิต ซึ่งความเครียดเป็นปฏิกริยาตอบสนองทางร่างกายและจิตใจ เมื่อรู้สึกถึงการคุกคาม หรือภัยอันตราย ปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายจะตอบสนองต่อความเครียด เมื่อเครียดอัตราการเต้นของหัวใจอาจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อหดตัว โดยโรคเครียดมักมีอาการ 3 วันถึง 1 เดือนหลังจากประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด แต่หากมีอาการมากกว่า 1 เดือน อาจเสี่ยงเกิดภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD)

คำจำกัดความ

โรคเครียด คืออะไร

โรคเครียด คือ ภาวะที่ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การเห็นรถชน คนเสียชีวิต เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะตึงเครียดอาจส่งผลต่อฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดที่สร้างจากต่อมหมวกไต เมื่อเครียดต่อมหมวกไตจะหลั่งคอร์ติซอลมากขึ้น หากร่างกายมีคอร์ติซอลมากเกินไปอาาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น และอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ และอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว 

โรคเครียด พบได้บ่อยเพียงใด

โรคเครียดสามารถพบเจอได้ทุกเพศทุกวัย โดยภาวะความตึงเครียดของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ

อาการ

อาการของโรคเครียด 

อาการของโรคเครียด อาจแสดงลักษณะอาการที่แตกต่าง โดยอาจสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้ 

อาการทางด้านร่างกาย

  • คลื่นไส้ 
  • ปวดศีรษะ ปวดท้อง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งหรือหดตัว
  • อารมณ์ทางเพศลดลง
  • ปัญหาการนอนหลับ อาจทำให้อ่อนเพลีย 

อาการทางด้านอารมณ์ 

  • หงุดหงิดง่าย โมโห อารมณ์เสียง่าย หรืออารมณ์แปรปรวน
  • รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ร่าเริง รู้สึกไม่มีค่า
  • รู้สึกกดดันอยู่เสมอ 
  • ไม่อยากพบเจอผู้คน 

อาการทางความคิด 

  • มีความขัดแย้งทางความคิด
  • หลงลืม และอาจไม่สามารถจัดเรียงลำดับความสำคัญก่อนและหลัง
  • การตัดสินใจบกพร่อง
  • สมาธิสั้น หรือไม่มีสมาธิจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน 
  • มองโลกในแง่ลบ

อาการทางด้านพฤติกรรม 

  • ความอยากอาหารเปลี่ยนไป คือ รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง 
  • หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ 
  • มีอาการประหม่า เช่น กัดเล็บ มือหรือขากระตุก อยู่ไม่นิ่ง

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีอาการดังกล่าวมาเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรง

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเครียด

โรคเครียดอาจเกิดจากหลายสาเหตุ สาเหตุส่วนใหญ่คือการพบเจอกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์อันตรายร้ายแรง เช่น 

  • ทราบข่าวการเสียชีวิตของคนรัก หรือคนในครอบครัว 
  • ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือรับรู้เกี่ยวกับการล่วงละเมิดในครอบครัว
  • ถูกข่มขืน
  • ประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์
  • ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงโรคเครียด

ความเครียดเล็กน้อย หรือเครียดเป็นบางครั้งอาจไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเครียดบ่อยจนอาจกลายเป็นโรคเครียดเรื้อรัง อาจทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกายได้ เช่น 

  • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ 
  • ปัญหาประจำเดือน อาจมาน้อย หรือมาผิดปกติ
  • ปัญหาด้านผิวหนังและผม เช่น สิว กลาก ผมร่วง
  • ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร
  • ความผิดปกติทางเพศ เช่น หลั่งเร็ว สูญเสียความต้องการทางเพศ 
  • การรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้เกิดโรคอ้วน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ ควรปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม 

การวินิจฉัยโรคเครียด 

บุคคลที่เคยประสบกับสถานการณ์ที่ร้ายแรง หรือสถานการณ์ตึงเครียด ควรไปพบคุณหมอหรือนักจิตวิทยา เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุ โดยอาจมีการสอบถามประวัติ และประสบการณ์ที่พบเจอ เพื่อประเมินอาการของโรคเครียด และอาจการวินิจฉัยว่าโรคเครียดอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หรือไม่ เช่น การใช้สารเสพติด ผลข้างเคียงของยา ปัญหาทางด้านจิตเวช 

วิธีรักษาโรคเครียด 

การรักษาโรคเครียด อาจดูตามสถานการณ์ของอาการ โดยวิธีการรักษาโรคเครียดอาจมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  • การบำบัดพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy หรือ CBT) เป็นวิธีจิตบำบัด โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยน มีกระบวนการที่จะปรับความคิด เพื่อให้อารมณ์เศร้าดีขึ้น
  • การใช้ยา คุณหมออาจจ่ายยารักษาโรคเครียดให้ผู้ป่วยบางราย เช่น ยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant) ยากันชัก (Anticonvulsant) ที่อาจช่วยปรับระดับสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม ให้สมดุลยิ่งขึ้น

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือโรคเครียด

การป้องกันโรคเครียดอาจเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม วิธีดูแลตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคเครียดรุนแรงขึ้น หรือกลับมาเป็นซ้ำ

  • ปรึกษาคุณหมอหรือนักจิตวิทยาหลังพบเจอสถานการณ์ที่ร้ายแรง 
  • พบปะพูดคุยสังสรรค์กับเพื่อน หรือบุคคลในครอบครัว 
  • พยายามฝึกทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกายเบา ๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมออาจช่วยบรรเทาความเครียด
  • หาเวลาทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 06/12/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา