backup og meta

นอนทั้งที่ผมเปียก ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

    นอนทั้งที่ผมเปียก ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

    นอนทั้งที่ผมเปียก อาจสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพได้โดยไม่รู้ตัว เพราะผมที่เปียกชื้นอาจทำให้เกิดการอับชื้นบนหมอนและเครื่องนอน ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยเฉพาะปัญหาผิวหนัง ปัญหาเกี่ยวกับเส้นผม ทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการนอนทั้งที่ผมเปียกเพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน 

    นอนทั้งที่ผมเปียก ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

    ก่อนเข้านอน ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายจากสิ่งสกปรก เหงื่อไคล และคลายความเหนื่อยล้าที่ผ่านมาทั้งวัน บางคนเลือกที่จะอาบน้ำเพียงอย่างเดียว ขณะที่บางคนอาจสระผมด้วย ซึ่งการสระผมก่อนนอนอาจสร้างปัญหาได้ เพราะเมื่อสระผมแล้ว กว่าที่ผมจะแห้งสนิทนั้นก็จำเป็นจะต้องใช้เวลาสักพัก แต่อาจมีบางคนง่วงเกินกว่าที่จะนั่งรอให้ผมแห้ง หรือขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ผมแห้ง ซึ่งบ่อยครั้งอาจทำให้ต้องนอนทั้งที่ผมเปียก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ดังนี้

    1. เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรีย

    การนอนทั้งผมเปียก จะทำให้หยดน้ำและความชื้นจากเส้นผมและหนังศีรษะไปอยู่บนหมอน ทำให้เกิดการหมักหมมของเชื้อรา แบคทีเรีย และสิ่งสกปรก ซึ่งเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพผิวตามมา เช่น ปัญหาสิว สิวอุดตัน ผื่นแพ้ คัน 

    2. ผมแตกปลาย

    เส้นผมมักมีความอ่อนแอที่สุด ในช่วงที่กำลังเปียก การนอนทั้ง ๆ ที่ผมยังเปียกอยู่เป็นประจำ จะทำให้แกนผมเกิดการแตกและหัก ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเส้นผมแตกปลายได้ ทั้งนี้ การนอนแบบหัวยังเปียกอยู่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาผมแตกปลายขึ้นมาทันที แต่ในระยะยาวหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้เสี่ยงผมแตกปลาย และอาจนำไปสู่ปัญหาผมขาดและหลุดร่วงได้ในที่สุด

    3. จัดแต่งทรงผมยาก

    การที่เลือกเข้านอนโดยที่ผมยังไม่แห้งนั้น แม้เวลาจะผ่านไปจนถึงเช้า ผมอาจจะยังไม่แห้งก็เป็นได้ เนื่องจากปัจจัยของเส้นผมและหนังศีรษะของแต่ละคนนั้นต่างกัน คนที่ผมบางผมอาจจะแห้งได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน ส่วนคนที่มีผมหนานั้น หากปล่อยทิ้งไว้ทั้งที่ยังเปียก ตื่นเช้ามา ผมอาจจะยังชื้นอยู่ หรือยังไม่แห้งสนิทดี

    นอกจากนั้นแล้ว นอนทั้งที่หัวเปียก เส้นผมอาจเเกิดการพันกัน หรือกิดปัญหาผมลีบแบนได้ และเมื่อไม่สามารถคาดเดาสภาพผมหลังการตื่นนอนได้ อาจจะทำให้ต้องมาเสียเวลาจัดแต่งทรงผมใหม่อีกครั้ง หรือเสียเวลากับการหวีและสางผมที่พันกันอยู่ให้คลายตัว  อีกทั้ง การหวีผมที่พันกันทำให้เสี่ยงผมขาดและหลุดร่วงในระหว่างการหวีอีกด้วย

    ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนทั้งที่ผมเปียก

    หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนอนทั้งที่ผมเปียกคือ ความชื้นจากเส้นผมและหนังศีรษะจะทำให้ไม่สบายและเป็นหวัดได้ ซึ่งในเรื่องนี้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญให้คำตอบว่า ไม่เป็นความจริง เพราะการเป็นหวัดหรือโรคไข้หวัดนั้นต้องเกิดจากการที่ร่างกายไปรับเอาเชื้อไวรัสมา ทั้งจากการไอ การจาม หรือการสัมผัสกับเสมหะหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่เป็นหวัดหรือมีเชื้อหวัด

    ดังนั้น การที่นอนโดยที่ผมยังเปียกอยู่จึงไม่ได้มีส่วนใด ๆ ในการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหวัดเลย แต่ถ้าผมเปียกแล้วออกไปข้างนอกและได้รับเอาเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสมาด้วย อาจมีโอกาสทำให้เป็นหวัดได้

    ควรทำอย่างไรหากต้องนอนทั้งที่ผมเปียก

    หากจำเป็นต้องนอนทั้งที่ผมเปียก สามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะ ได้แก่

  • ทำให้ผมแห้งที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • วิธีนี้จะช่วยลดความชื้นของเส้นผมและหนังศีรษะ ไม่ทำให้ผมเปียกมากเท่าตอนที่เพิ่งออกจากห้องน้ำใหม่ ๆ ดังนั้น ต่อให้สถานการณ์จะบีบบังคับให้ต้องเข้านอนเร็วมากแค่ไหน เช่น ไฟดับ ขาดอุปกรณ์ ง่วงนอนมาก ๆ  ขี้เกียจ ควรทำให้ผมแห้งให้ได้มากที่สุด โดยอาจใช้ผ้าขนหนูค่อย ๆ ซับเอาน้ำออกจากเส้นผม การเป่าผมด้วยพัดลม หรือใช้ไดร์เป่าผม สิ่งสำคัญคือ พยายามทำให้ผมแห้งมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อที่เส้นผมจะได้ไม่ต้องเปียกไปตลอดทั้งคืนหรือจนถึงเช้า 

    • ชโลมน้ำมันมะพร้าว

    สารในน้ำมันมะพร้าวมีสรรพคุณที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับเส้นผมและหนังศีรษะ การชโลมน้ำมันมะพร้าวไปที่ผมยังเปียกหรือยังชื้นอยู่ แล้วเข้านอนเลย น้ำมันมะพร้าวจะช่วยป้องกันไม่ให้แกนผมแตกหรือหักจนก่อให้เกิดปัญหาผมแตกปลาย โดยน้ำมันมะพร้าวจะไปช่วยลดปริมาณการดูดซึมน้ำที่เส้นผม จึงช่วยลดปัญหาผมแตกปลายได้

    • ครีมนวดผม

    หากรู้ตัวว่าอาจต้องเข้านอนทั้งที่ผมยังเปียก ควรใช้ครีมนวดผมหรือครีมบำรุงผม เพื่อจะได้ช่วยดูแลสุขภาพของเส้นผม โดยครีมนวดผมจะช่วยลดการเสียดสีของเส้นผมที่จะทำให้เกิดปัญหาผมพันกันขณะที่กำลังนอนหลับ ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลามานั่งหวีให้ผมคลายตัวในตอนเช้า

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา