backup og meta

พฤติกรรมที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร ทำง่าย สบายท้อง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2020

    พฤติกรรมที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร ทำง่าย สบายท้อง

    ระบบย่อยอาหาร สามารถที่จะบ่งบอกถึงการมีสุขภาพที่ดีได้ หากระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ ก็จะสามารถขับถ่ายได้สะดวก แต่ถ้าระบบย่อยอาหารมีปัญหา ก็จะเสี่ยงต่อปัญหาท้องผูก กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ตามมา ดังนั้น ถ้าคุณผู้อ่านต้องการที่จะมีระบบย่อยอาหารที่ดีล่ะก็ สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ พฤติกรรมที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร ที่ Hello คุณหมอ นำมาฝากกันในวันนี้ค่ะ

    พฤติกรรมที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร มีอะไรบ้าง

  • ไม่ละเลยไฟเบอร์

  • เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าไฟเบอร์นั้นเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดีต่อระบบขับถ่ายและแน่นอนว่า รวมถึง ระบบย่อยอาหาร ด้วย ซึ่งไฟเบอร์นั้นพบได้ในผัก ผลไม้ น้ำมันรำข้าว ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชต่างๆ เป็นต้น โดยไฟเบอร์จะช่วยให้การลำเลียงอาหารในระบบย่อยอาหารให้เป็นไปได้โดยง่าย มีผลทำให้ไม่เกิดอาการท้องผูก และยังเป็นมิตรกับแบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในลำไส้ ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง ลดความเสี่ยงของลำไส้อักเสบ

    กินไขมันดี

    ระบบย่อยอาหาร ที่ดี ก็จำเป็นจะต้องมีไขมันอยู่ด้วย แต่ไขมันที่ว่าควรจะต้องเป็นไขมันชนิดดี ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า 3 เพราะอาหารที่มีสารโอเมก้า3 อย่าง ปลา หรือธัญพืช จะช่วยในการดูดซึมสารอาหาร ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้อักเสบ

    • ดื่มน้ำให้เพียงพอและสม่ำเสมอ

    การไม่ค่อยดื่มน้ำ เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการท้องผูก เพราะอาหารและกากใยต่างๆ ไม่สามารถจะลำเลียงไปยังลำไส้ใหญ่ได้อย่างสะดวก เนื่องจากร่างกายไม่มีน้ำที่เพียงพอต่อการลำเลียงใน ระบบย่อยอาหาร เพื่อที่จะลำเลียงไปถึงจุดสิ้นสุดคือลำไส้ใหญ่

    ดังนั้น หากต้องการให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ควรดื่มบ่อยๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ลำไส้มีน้ำที่เพียงพอต่อการลำเลียงอาหารและกากใย รวมถึงช่วยทำให้อุจจาระที่ลำไส้ใหญ่มีความนุ่ม ไม่แข็งตัว ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น

    • ออกกำลังกายเป็นประจำ

    การออกกำลังกาย เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และแน่นอนว่าหนึ่งในข้อดีของการออกกำลังกายเป็นประจำก็คือดีต่อ ระบบย่อยอาหาร เพราะช่วยให้อาหารสามารถลำเลียงในระบบย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น จะสังเกตได้ว่า ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องท้องผูก 

    • เคี้ยวอาหาร

    หลายคนเมื่อได้เวลารับประทานอาหาร ก็จะตั้งหน้าตั้งตารีบกินให้หมดไป แต่รู้หรือไม่ว่า การกินเร็วจนเกินไป อาจไม่ดีต่อระบบย่อยอาหาร เนื่องจากบางครั้งอาหารที่กินเข้าไปนั้นยังไม่ผ่านการเคี้ยวที่มากพอ ทำให้ชิ้นของอาหารยังมีขนาดที่ใหญ่ ซึ่งขนาดอาหารที่ยังใหญ่เพราะไม่ผ่านการบดเคี้ยวที่มากพอก็จะยากต่อการย่อย หรือย่อยไม่หมด จนอาจเกิดปัญหาอาหารไม่ย่อยตามมาได้

    ดังนั้น เวลารับประทานอาหารควรจะค่อยๆ รับประทาน และเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อที่ ระบบย่อยอาหาร และลำไส้ จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก สามารถย่อยและลำเลียงอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    • เลิกสูบบุหรี่

    การสูบบุหรี่ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อปอดและระบบทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหารด้วย เนื่องจากการสูบบุหรี่จะไปรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร สามารถที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคกรดไหลย้อน และกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหาร

    • เลิกดื่มแอลกอฮอล์

    แอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปนั้น จะไปช่วยเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเรื่องกรดไหลย้อน หรือแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงเป็นอันตรายกับแบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในลำไส้ด้วย ดังนั้น ถ้าหากเลิกดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาในลำไส้ กระเพาะอาหาร และดีต่อ ระบบย่อยอาหาร ด้วย

    • เลิกกินอาหารตอนดึก

    หลายคนกินได้ตลอดเวลา ทั้งมื้อกลางวัน มื้อเย็น และอาจมีมื้อดึกอีกรอบหนึ่ง ซึ่งการกินมื้อดึกบ่อยๆ นั้น อาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอาการจุกเสียด และอาหารไม่ย่อย เพราะเมื่อกินอาหารไปแล้ว ร่างกายก็อาจจำเป็นที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเล็กน้อย เพื่อช่วยในการย่อย แต่ถ้ากินมื้อดึกเข้าไป หลังกินเสร็จก็จะต้องกลับไปที่เตียงนอน ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร หรืออาจเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหากรดไหลย้อนตามมาด้วย

    ดังนั้น จึงควรกินอาหารให้เป็นเวลา แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงมื้อดึกได้ ก็ควรรอให้ครบ 3-4 ชั่วโมงก่อนจะกลับไปเข้านอนอีกครั้ง เพื่อให้อาหารได้ย่อยเสียก่อน

    • รับประทานอาหารให้เป็นเวลา

    หากตารางการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป ระบบย่อยอาหาร ของร่างกายก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยเหมือนกัน ดังนั้น อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ดีที่สุดต่อระบบย่อยอาหารก็คือการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หรืออาจจะมีการแบ่งมื้ออาหารเพิ่มจากมื้อหลักสามมื้อ คือมีมื้อสำหรับของว่างในช่วงก่อนพักเที่ยงและช่วงบ่าย เพื่อให้ระบบย่อยอาหารสามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่

    • จัดการกับความเครียด

    ความเครียดนั้นส่งผลต่อร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้แต่ ระบบย่อยอาหาร ก็เช่นกัน หากเครียดมากๆ ก็เสี่ยงที่จะมีอาการอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะอาหาร อาการท้องผูก หรือท้องร่วง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา