backup og meta

เสมหะ บอกอะไร เรียนรู้การถอดรหัสสุขภาพจากสีของเสมหะด้วยตนเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 07/12/2023

    เสมหะ บอกอะไร เรียนรู้การถอดรหัสสุขภาพจากสีของเสมหะด้วยตนเอง

    หากคุณกำลังมีอาการไอแบบมี เสมหะ นั่นเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติบางอย่างของระบบทางเดินหายใจ เพราะร่างกายกำลังทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่หลุดรอดเข้าไปในระบบทางเดินหายใจของคุณออกมาพร้อมกับเสมหะ นอกจากนี้ สีของเสมหะ ยังมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพของคุณซ่อนอยู่ ต่อไปนี้คือวิธีไขรหัสจากสีของเสมหะง่าย ๆ ด้วยตนเอง

    เสมหะ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อร่างกาย

    เสมหะ คือสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างออกมา จากต่อมสร้างสารคัดหลั่งที่อยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นให้แก่อวัยวะสำคัญ ทั้งยังเป็นตัวช่วยดักจับสารก่อความระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน เชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ ภายในเสมหะประกอบด้วยสารแอนติบอดี้และเอนไซม์ชนิดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แม้ว่าไม่ได้มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ร่างกายก็ยังสร้างเสมหะออกมาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งโดยปกติ ร่างกายเราสามารถสร้างเสมหะปริมาณ 1 – 1.5 ลิตรต่อวันเลยทีเดียว

    หากคุณมีอาการไอมาพร้อมกับเสมหะจำนวนหนึ่ง นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าระบบทางเดินหายใจอาจติดเชื้อโรคหรือเกิดอาการแพ้อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าให้แล้ว ตามกลไกทางธรรมชาติของร่างกาย เมื่อมีสิ่งที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้สร้างเสมหะหรือเมือกในระบบทางเดินหายใจในปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อดักจับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม และกระตุ้นให้ร่างกายขับเสมหะออกมาโดยการไอ นี่คือที่มาของอาการ ไอมีเสมหะ นั่นเอง

    สีของเสมหะ บ่งบอกสุขภาพ

    ในคนที่มีสุขภาพดีปกติ ลักษณะเสมหะ ที่ถูกผลิตออกมามักมีสีใส แต่หากมีการติดเชื้อหรือการอักเสบ สีของเสมหะอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตามประเภทของการติดเชื้อหรือสาเหตุอื่น ๆ ที่พอจะสรุปได้ดังนี้

    ลักษณะเสมหะ สีขาวขุ่นหรือเทา

    เสมหะสีขาวขุ่นหรือเทาเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรืออาจเกิดการอักเสบของไซนัสซึ่งเป็นโพรงอากาศบริเวณข้างโพรงจมูก  โดยเสมหะประเภทนี้ไหลมาจากไซนัสที่เกิดติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้เสมหะมีปริมาณมากขึ้นและไหลลงสู่ลำคอ

    เคยมีข้อมูลหนึ่งที่ระบุว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมสามารถทำให้เกิดเสมหะขาวขุ่นได้ ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม การบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมสามารถทำให้เสมหะจับตัวหนาขึ้นและทำให้ร่างกายขับออกมาได้ยากขึ้น ส่งผลให้เสมหะติดค้างและแห้งกรัง เมื่อถูกขับออกมาจึงมีสีขาวขุ่น

    ในขณะที่เสมหะสีเทา เป็นสัญญาณบอกว่าร่างกายได้รับสารเรซิน และน้ำมันดิน หรือ ทาร์ในบุหรี่ ที่สะสมจากการสูบบุหรี่มากเกินไป หรืออาจเกิดจากการหายใจเอาฝุ่นควันจากมลภาวะทางอากาศในปริมาณมากเกินไป

    เสมหะสีเขียวหรือเหลืองเข้ม

    เสมหะประเภทนี้จะมีลักษณะข้นเหนียวซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจหรือภาวะไซนัสอักเสบ และเป็นไปได้ว่าอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างด้วย โดยส่วนใหญ่ เสมหะลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า “นิวโทรฟิล” (neutrophil) มาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีส่วนประกอบสำคัญเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีสีเขียว เมื่อมารวมตัวกันมาก ๆ จึงทำให้เสมหะกลายเป็นสีเขียวไปด้วย

    เสมหะสีน้ำตาล 

    ลักษณะเสมหะ สีน้ำตาลมักพบในผู้ที่สูบบุหรี่ มักปรากฏในลักษณะของเสมหะรวมตัวกับน้ำลายและมีเนื้อสัมผัสเป็นเม็ดหยาบ ๆ การสูบบุหรี่จัดมักทำให้มีเสมหะเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเกิดจากสารเรซิน น้ำมันดิน หรือ ทาร์ รวมถึงสารอื่น ๆ ในบุหรี่ ซึ่งเป็นสารพิษที่ร่างกายต้องการกำจัดออก  แต่หากคุณเกิดไอแล้วมีเสมหะสีน้ำตาลโดยที่ไม่ได้สูบบุหรี่ นั่นอาจเกิดจากสีของอาหารที่คุณกินหรือดื่มเข้าไป เช่น กาแฟ ช็อกโกแล็ต หรือ ไวน์แดง

    เสมหะสีชมพู

    หากมองดูจากสีสัน เสมหะสีชมพูก็เป็นอะไรที่ดูสวยแปลกตาดี แต่แท้จริงแล้ว สีของเสมหะ นี้เป็นสัญญาณของภาวะปอดบวมน้ำ หรือการมีเลือดออกปริมาณเล็กน้อย ลักษณะเฉพาะของเสมหะประเภทนี้มักเป็นฟองและมีคราบเลือดหรือเลือดเส้นริ้วปนออกมากับเสมหะ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจ

    เสมหะเป็นเลือด

    ลักษณะเสมหะ แบบมีเลือดปน คือข้อบ่งชี้ของอาการไอเป็นเลือด (Hemoptysis) โดยเลือดที่ปนออกมาริ้ว ๆ เป็นสัญญาณของโรคหลอดลมอักเสบที่ไม่ร้ายแรงอะไร แต่หากมีปริมาณเลือดปนออกมามาก อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น วัณโรค ปวดบวม มะเร็ง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดก็เป็นได้ และหากพบว่ามีปริมาณมากเลือดมากกว่าเสมหะ และอาการเกิดขึ้นต่อเนื่อง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที เพราะนั่นเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพขั้นรุนแรงแล้ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 07/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา