backup og meta

แพ้ยุง อาการ วิธีบรรเทา และวิธีป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 26/09/2023

    แพ้ยุง อาการ วิธีบรรเทา และวิธีป้องกัน

    เวลา ยุงกัด เรามักจะมีอาการคัน บวมแดงเป็นปกติกันอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ แพ้ยุง ก็จะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกมาก ทั้งบวมกว่าปกติ มีรอยแดงเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้หลังจากที่หายแล้วก็จะเหลือรอยด่างดำไว้กวนใจอีก ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีป้องกันและบรรเทาอาการคันจากการ แพ้ยุง

    ปฏิกิริยาภูมิ แพ้ยุง (Skeeter Syndrome) คืออะไร

    เกือบทุกคนมีความรู้สึกไวต่อการถูก ยุงกัด แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง อาจมีอาการมากกว่าคนอื่น ๆ จนสามารถเกิดอาการที่ร้ายแรงได้ อาการที่พบบ่อยคือ อาการแดง คัน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับโปรตีนในน้ำลายของยุง เรียกปฏิกิริยานี้ว่าปฏิกิริยาภูมิ แพ้ยุง (Skeeter Syndrome) เมื่อยุงเจาะลงไปดูดเลือดจะปล่อยโปรตีนบางอย่างลงไปในเลือดของเรา เพื่อให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อน ทำให้ง่ายต่อการดูดเลือด

    บางคนมีความเสี่ยงต่อการแพ้มาก เช่น เด็กที่อายุน้อย คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ในองค์ประกอบบางอย่างของน้ำลายยุง เช่น โปรตีนและสารต้านจุลชีพ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ยุงมากขึ้น  ยิ่งเราโดน ยุงกัด มากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะแพ้มากขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้ใหญ่มักมีปฏิกิริยารุนแรงน้อยกว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่อาการบวมแดงจะเกิดหลังจากที่ ยุงกัด หลายนาทีหรือพบในวันรุ่งขึ้น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากที่ ยุงกัด แต่อาการคันและรอยแดงจะค่อย ๆ จางหายไปและอาการบวมที่ผิวหนังจะค่อย ๆ ลดลงจนกลับสู่สภาพปกติ ปกติจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน อาการบวมก็จะลดลงหลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์

    กลุ่มเสี่ยงต่อการ แพ้ยุง

    บุคคลที่เสี่ยงต่อการ แพ้ยุง มีลักษณะดังต่อไปนี้

    • ผู้ชาย
    • สตรีมีครรภ์
    • คนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
    • คนที่มีเลือดกรุ๊ปโอ
    • คนที่เพิ่งออกกำลังกาย
    • คนที่ปล่อยปริมาณกรดยูริค กรดแลคติค และแอมโมเนียที่สูงขึ้น
    • คนที่เพิ่งดื่มเบียร์
    • คนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เนื่องจากยุงชอบความร้อน การใส่เสื้อผ้าสีเข้มอาจทำให้ยุงกัดมากกว่า เพราะสีเข้าดูดซับความร้อนไว้

    อาการแพ้ยุง

    คนที่มีอาการแพ้เวลายุงกัดจะมีตุ่มที่ใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของอาการแพ้ที่รุนแรง อาการเหล่านี้อาจรวมถึง มีอาการคันมาก ๆ บริเวณที่ยุงกัด เกิดเป็นแผล มีรอยช้ำบริเวณรอบ ๆ ที่โดน ยุงกัด ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรืออาจเกิดปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Naphylaxis) ซึ่งเป็นภาวะที่หายากและเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดอาการบวมที่คอ หายใจติดขัด และมีเสียงดังฮืด ๆ ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ทันที และหากมีอาการตังต่อไปนี้ ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที

  • มีไข้ร่วมด้วย
  • ปวดหัวอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • มีผื่นขึ้น
  • มีอาการเมื่อยล้า
  • การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายอ่อนลง
  • การบรรเทาอาการ ยุงกัด แบบง่ายๆ

    เมื่อ ยุงกัด คุณอาจลองใช้วิธีการง่าย ๆ ในการแก้ไขด้วยตัวเองที่บ้าน

    • ล้างผิวบริเวณที่โดนกัด 1-2 ครั้งต่อวัน และทาครีมที่เป็นยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแบคซิทราซิน (Bacitracin)  ยาโพลีมัยซินบี (polymyxin)
    • ใช้ผ้าเย็น หรือผ้าเปียกเช็ดบริเวณที่โดน ยุงกัด ในทันทีที่โดนกัด เพื่อลดอาการบวม
    • ใช้ข้าวโอ๊ตอุ่น ๆ บดทาบริเวณที่โดนกัด เพื่อบรรเทาอาการคัน
    • ใช้ผงฟูละลายน้ำและน้ำเปล่าวันละ 1-2 ครั้ง จนอาการบวมและคันลดลง
    • ใช้วิธีการกดทับด้วยเล็บมือหรือวัตถุอื่น ๆ เช่น ฝาปากกาประมาณ 10 วินาที เพื่อบรรเทาอาการคันชั่วคราว

    ป้องกันอย่างไรดี

    เมื่อยุงกัดแล้วมีอาการแพ้เป็นเรื่องที่น่ารำคาญไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น เราต้องหาวิธีการป้องกัน โดยเริ่มจากการทำลายแหล่งน้ำขัง ซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่ยุงชุม หรือการอยู่ในที่โล่งช่วงหัวค่ำ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยุงเยอะที่สุด นอกจากการป้องกันการเกิดของยุงแล้ว การป้องกันตัวเองก็สามารถช่วยได้เหมือนกัน เช่น สวมชุดแขนยาว กางเกงขายาว ซ่อมรูรั่วของประตูหน้าต่างป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามาในบ้านได้ ใช้เทียนตะไคร้หอมในพื้นที่กลางแจ้ง สิ่งสำคัญคือการทายาที่มีส่วนผสมของ Diethyltoluamide (DEET) ซึ่งเป็นสารประกอบที่นิยมนำมาไล่ยุง

    สถาบันโรคภูมิแพ้ โรคหืดหอบ และภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มี DEET อยู่ระหว่าง 6-25% โดยสารนี้สามารถออกฤทธิ์ป้องกันยุงได้นานถึง 6 ชั่วโมง ที่สำคัญควรทำตามคำแนะนำอย่างระมัดระวัง และเพื่อความปลอดภัยควรทดสอบผลิตภัณฑ์บนแขนเล็กน้อย รอจนครบ 24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยกับร่างกายของคุณ เนื่องจากสารนี้สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังจนเกิดอาการแพ้ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 26/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา