backup og meta

โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มากับน้ำขังและต้องระวังแม้จะเป็น “คนเมือง”

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มากับน้ำขังและต้องระวังแม้จะเป็น “คนเมือง”

    ในช่วงฤดูฝน อาจส่งผลให้ในหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง  และทำให้หลายคนอาจเสี่ยงต่อการเกิด “โรคฉี่หนู’  อีกด้วย  ถึงแม้ว่าในเขตเมืองจะไม่มีการปลูกข้าวทำนา แต่หากมีน้ำท่วมขังและมีบรรดาหนูบ้านพลุกพล่าน ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หนูได้เช่นเดียวกัน วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคฉี่หนูให้มากขึ้นกันค่ะ จะมีวิธีการรักษาและการป้องกันอย่างไรบ้างนั้น ติดตามอ่านได้ในบทความนี้เลย

    โรคฉี่หนู คืออะไร

    โรคฉี่หนู หรือไข้ฉี่หนู หรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า “Leptospira’ ซึ่งมีผลต่อทั้งคนและสัตว์ สามารถติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์เลี้ยงในบ้าน เป็นต้น แต่พบมากในหนู ซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อโรค ทำให้ได้ชื่อว่าโรคฉี่หนู

    ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน มักจะพบการระบาดในช่วงฤดูฝนต่อจนถึงในฤดูหนาว เพราะช่วงนี้พื้นดินแฉะ มีน้ำขัง เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตและสะสมของเชื้อในธรรมชาติ

    โรคฉี่หนูมักพบได้มากตามจังหวัดที่ทำการปลูกข้าว บริเวณที่ต้องย่ำน้ำ หรือแหล่งน้ำขังที่มีพาหะนำโรคชุกชุม ในเขตเมืองที่แม้จะไม่มีการปลูกข้าวทำนา แต่หากมีน้ำท่วมขังและมีบรรดาหนูบ้านพลุกพล่าน ก็มีโอกาสพบกับโรคฉี่หนูได้เช่นเดียวกัน

    โรคฉี่หนูติดต่อกันได้หรือเปล่า

    โรคฉี่หนู จะติดต่อจากคนสู่คนได้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะรับเชื้อมาจากการสัมผัสกับปัสสาวะ เลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ เช่น การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะหรือของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเข้าผ่านเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา ปาก หรือไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน

    บางครั้งเชื้อชนิดนี้สามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือน หลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อโดยจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์

    อาการของโรคฉี่หนู

    ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูบางคนอาจไม่แสดงอาการเลย  ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการก็อาจมีตั้งแต่แบบเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการรุนแรง ที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยจะมีอาการเล็กน้อย เล็ปโตสไปโรซิสที่มีอาการรุนแรงนั้น พบได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ

    การดำเนินของโรคอาจแบ่งได้เป็นสองระยะ คือ

  • ระยะแรก (Leptospiremic phase) 4-7 วันแรก จะมีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ สับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง น่อง และต้นคอ คลื่นไส้อาเจียน มีอาการตาแดง มักพบใน 3 วันแรกของโรค และเป็นอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์ ตาเหลือง ตัวเหลือง มีอาการคอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ ได้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับ ม้ามโต (อาจพบได้แต่ไม่บ่อย)
  • ระยะที่สอง (Immune phase) ผู้ป่วยจะเริ่มสร้างโปรตีนที่เฉพาะต่อเชื้อโรคฉี่หนู โดยพบหลังจากเริ่มมีอาการไข้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะมีช่วงที่ไข้ลงประมาณ 1-2 วันแล้วกลับมามีไข้ขึ้นอีก ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการ ปวดศีรษะ ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน (อาการมักรุนแรงน้อยกว่าอาการในช่วงแรก) อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ หน้าที่ของตับและไตผิดปกติ ระยะนี้อาจกินเวลาได้นาน ถึง 30 วัน แต่อาการนี้ไม่ได้เกิดในผู้ป่วยทุกราย และอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีตาเหลือง และกลุ่มที่ไม่มีตาเหลือง
  • โรคฉี่หนู รักษาอย่างไร

    วิธีการรักษานั้นจะใช้ยาปฏิชีวนะ ควรให้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ควรเกิน 4 วันหลังจากมีอาการเป็นอย่างช้า ระยะเวลาที่ให้นานอย่างน้อย 7 วัน

    การให้ยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรคได้ เพนนิซิลิน (penicillin) ถือเป็นปฏิชีวนะที่ให้ผลการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด สำหรับรายที่แพ้เพนนิซิลินอาจให้ด็อกซี่ไซคลิน (doxycycline) แทน

    ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคช้า และ/หรือมารับการรักษาช้า (โดยมากมีอาการตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป) และ/หรือเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีดีซ่านและมีค่าครีเอตินิน (serum creatinine) สูง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงพบมีอัตราป่วยตายสูงถึง 15-40% แต่ถ้าได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงเหลือเพียง 5% ได้

    ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้อย่างไร

    หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ หรือสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู เช่น การเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนาน ๆ ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรให้สวมรองเท้าบูทส์เพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบู้ทที่ใส่

    กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรค ควรใช้ถุงมือยาง รองเท้าบู้ท หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ ถ้าต้องลุยน้ำเป็นเวลานาน หรือจำเป็นต้องทำงานในสภาวะดังกล่าวควรสวมใส่เครื่องป้องกัน หากไปแช่หรือย่ำน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว และเช็ดตัวให้แห้ง

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา