backup og meta

ไม่ใช่แมวก็กินได้! วีทกราส (Wheatgrass) กับประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/12/2020

    ไม่ใช่แมวก็กินได้! วีทกราส (Wheatgrass) กับประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

    เชื่อว่าเหล่าทาสแมวหลาย ๆ คน น่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ วีทกราส หรือ ต้นอ่อนข้าวสาลี กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่คนนิยมปลูกให้น้องแมวกินกัน แต่รู้หรือเปล่าคะว่า ต้นวีทกราสนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่เฉพาะกับน้องแมวเท่านั้น แต่คนเราก็สามารถได้รับประโยชน์จากการรับประทานวีทกราสด้วยเช่นกัน วันนี้ Hello คุณหมอ เลยจะมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับประโยชน์สุขภาพดี ๆ ที่ได้จากการกิน วีทกราส ที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้

    วีทกราส คืออะไร

    วีทกราส (Wheatgrass) หรือ ต้นอ่อนข้าวสาลี หมายถึงต้นข้าวสาลีที่เพิ่งงอกจากเมล็ดได้ไม่นาน ยังคงเป็นต้นอ่อนที่มีใบสีเขียวสด คล้ายกับส่วนใบของต้นหอม มีกลิ่นที่เหม็นเขียวเล็กน้อย และมีรสชาติฝาด

    โดยปกติแล้ว ต้นข้าวสาลีนั้นจะพบได้มากในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา แต่ที่ประเทศไทยนี้เราอาจจะสามารถพบเห็นเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด โดยเฉพาะกับในร้านขายอาหารสัตว์ เนื่องจากคนนิยมนำเมล็ดข้าวสาลีมาปลูกเป็นต้นอ่อนข้าวสาลีเพื่อให้แมวรับประทาน เพราะคุณค่าทางโภชนาการใน ต้นอ่อนข้าวสาลี ที่ดีต่อสุขภาพของแมวนั่นเอง

    ภายในวีทกราสนั้นจะอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น

  • ธาตุเหล็ก
  • แคลเซียม (Calcium)
  • แมกนีเซียม (Magnesium)
  • วิตามินเอ
  • วิตามินอี
  • วิตามินซี
  • วิตามินเค
  • วิตามินบี 6
  • ซีลีเนียม (Selenium)
  • นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็น โปรตีน ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของแมวแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของคนอีกด้วย ทำให้การรับประทานวีทกราสจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ที่จะให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

    การรับประทานวีทกราสนั้น มีทั้งการนำใบสดมาคั้นน้ำ หรือทำเป็นน้ำปั่นเพื่อสุขภาพ แต่หากรู้สึกว่าเหม็นเขียวมากเกินไป ก็อาจจะเลือกรับประทานเป็นผงวีทกราส หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของวีทกราสก็ดีเช่นกัน

    ประโยชน์สุขภาพเน้น  ๆ จากวีทกราส

    ช่วยลดคอเลสเตอรอล

    มีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานวีทกราส อาจสามารถช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจได้ โดยในงานวิจัยนั้นได้ทำการทดลองกับสัตว์ พบว่า สัตว์ทดลองที่ได้ดื่มน้ำที่คั้นจากวีทกราส จะมีระดับของไขมันไม่ดี (LDL) และระดับของคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ระดับของไขมันดี (HDL) ก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับเพิ่มเติมอีกว่า การรับประทานอาหารเสริมวีทกราสนั้น ส่งผลอย่างไรต่อระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายของมนุษย์

    ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ

    สารประกอบบางอย่างที่พบได้ในวีทกราส เช่น คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบได้ มีงานวิจัยที่ได้ทำการทดลองให้ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ ดื่มน้ำที่คั้นจากวีทกราสเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ความรุนแรงของอาการเลือดออกในภายในลำไส้ และระดับความรุนแรงของโรคลดลงอย่างเห็นได้ชัด

    ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด

    วีทกราสนั้นมีสารประกอบบางอย่างที่มีคุณสมบัติคล้ายกับอินซูลิน (Insulin) จึงสามารถช่วยลดค่าดัชนีน้ำตาลที่อยู่ในอาหารที่เรารับประทานเข้าไปได้ ทำให้ง่ายต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องระมัดระวังเรื่องระดับน้ำตาลในเลือดหลังกินอาหาร

    ช่วยจัดการอาการติดเชื้อ

    งานวิจัยเมื่อปี ค.ศ. 2015 พบว่า วีทกราสสามารถช่วยจัดการหรือชะลออาการของการติดเชื้อบางอย่าง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus) หรือเชื้อแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) บางชนิด ทำให้ง่ายต่อการรักษาการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคที่ดื้อยา หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้

    ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการรับประทานวีทกราส

    แม้ว่าการรับประทานวีทกราสนั้นจะค่อนข้างมีความปลอดภัยมาก และสามารถรับประทานเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มได้ตามปกติ แต่บางคนก็อาจจะมีอาการบางอย่างเมื่อรับประทานวีทกราสได้ เช่น

    • คลื่นไส้
    • เบื่ออาหาร
    • ท้องผูก

    นอกจากนี้ ผู้ที่มีสภาวะดังต่อไปนี้ ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานวีทกราส เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัยได้

    • ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ข้าวสาลี
    • ผู้ที่มีอาการแพ้กลูเตน (Gluten intolerance)
    • ผู้ป่วยโรคเซลิแอค (Celiac Disease)

    สุดท้ายก็อย่าลืมว่า การรับประทานวีทกราสนั้น เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการดูแลรักษาและบำรุงร่างกาย ไม่ใช่หนทางในการรักษาโรค หากคุณมีอาการป่วยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมจะเป็นการดีที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา