backup og meta

ดูแลและป้องกันการเสื่อมของสมองด้วยสุดยอด อาหารสมอง เหล่านี้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 10/07/2020

    ดูแลและป้องกันการเสื่อมของสมองด้วยสุดยอด อาหารสมอง เหล่านี้

    คุณเคยรู้สึกไม่มีสมาธิระหว่างเรียนหรือทำงานไหม หากคำตอบคือใช่ บทความนี้อาจเป็นบทความที่คุณต้องรีบอ่านโดยด่วน เพราะสิ่งที่คุณกินส่งผลต่อร่างกายและสมองของคุณ ดังนั้น การขาดสมาธิอาจเป็นผลมาจากอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน และ อาหารสมอง ที่นำเสนอในบทความนี้ ล้วนแต่ช่วยเพิ่มสมาธิให้คุณได้ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองโดยรวมให้ดีขึ้นอีกด้วย

    อาหารสมอง ที่คุณไม่ควรพลาด

    อะโวคาโด

    หลายคนไม่ชอบกินอะโวคาโด เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีไขมันสูง แต่ความจริงแล้ว ไขมันในอะโวคาโดนั้นจัดเป็นไขมันดี หรืออาจพูดได้ว่า เป็นไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายสูง อะโวคาโดช่วยในการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเรียบเนียนและอ่อนเยาว์ ทั้งยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของเส้นผมและเล็บ นอกจากนี้ อะโวคาโดยังช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่อีกด้วย

    นอกจากนี้ วิตามินเคและโฟเลตที่อยู่ในอะโวคาโด ยังช่วยป้องกันการอุดตันของเส้นเลือดในสมอง จึงส่งผลให้โอกาสเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกลดลง อีกทั้งสารต่างๆในอะโวคาโดยังช่วยพัฒนาความสามารถทางการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทั้งในด้านความจำและสมาธิ

    ผักใบเขียว

    เป็นที่ทราบกันดีว่า ผักใบเขียวต่างๆ อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารพฤกษเคมี คลอโรฟิลล์ และไฟเบอร์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบเลือดและระบบขับถ่าย ผักใบเขียวยังเป็นอาหารสมอง ที่สามารถช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ด้วย ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผักใบเขียวและผักประเภทใบต่างๆ ช่วยเพิ่มสมาธิได้ นอกจากนี้ ผักใบเขียวยังอุดมไปด้วยวิตามินเอและเค เราจึงควรรับประทานผักใบเขียวหนึ่งถ้วยทุกวัน เพื่อป้องกันโรค ลดโอกาสการเกิดโรค และทุเลาอาการของโรคต่างๆ

    น้ำซุปกระดูก

    สุดยอดอาหารที่ช่วยบำรุงท้อง และในขณะเดียวกันก็บำรุงสมองด้วย เนื่องจากอุดมไปด้วยคอลลาเจน ช่วยลดอาการอักเสบของลำไส้ และเสริมการทำงานของกรดอะมิโน เช่น โพรไลน์ (Proline) ไกลซีน (Glycine) ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเหมาะสม และช่วยในเรื่องความจำ

    ขมิ้น

    เครื่องเทศที่เรารู้จักกันดีนี้ ใช้เพื่อการรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องมาจากสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ที่พบในขมิ้น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ที่เชื่อมโยงกับประโยชน์ของสมองหลายอย่าง มีการศึกษาที่แสดงว่า เคอร์คูมินอาจช่วยทำให้ความจำดีขึ้นได้ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์

    นอกจากนี้ ขมิ้นยังช่วยเพิ่มเซโรโทนินและโดพามีนที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า เคอร์คูมินทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ และยังช่วยในการเติบโตของเซลล์สมอง ที่อาจช่วยชะลอการเสื่อมของสมองที่เกี่ยวกับวัยด้วย

    เมล็ดฟักทอง

    อาหารชนิดนี้มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ช่วยปกป้องร่างกายและสมองจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ทั้งยังอุดมไปด้วยแมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และทองแดง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนแต่สำคัญต่อสุขภาพสมองทั้งสิ้น

    โดยสังกะสี มีความสำคัญในการส่งสัญญาณของเส้นประสาท หากขาดสังกะสีอาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น อัลไซเมอร์ ซึมเศร้า พาร์กินสัน ส่วนการมีแมกนีเซียมต่ำเชื่อมโยงกับโรคทางระบบประสาทหลายอย่าง เช่น ไมเกรน ลมบ้าหมู ซึมเศร้า

    ทองแดง ก็เป็นสารอาหารที่สมองใช้เพื่อควบคุมการส่งสัญญาณของระบบประสาท หากระดับของทองแดงในร่างกายไม่สมดุล ความเสี่ยงต่อโรคทางระบบประสาทก็อาจเพิ่มขึ้น ส่วนการขาดธาตุเหล็ก ก็ส่งผลให้การทำงานของสมองบกพร่อง และเกิดอาการสมองล้าได้ง่าย

    แม้การศึกษาวิจัย จะเน้นที่สารอาหารเหล่านี้ต่อการทำงานของสมอง ไม่ใช่ที่ตัวเมล็ดฟักทองเอง แต่เนื่องจากฟักทองมีสารอาหารเหล่านี้ในปริมาณมาก คุณก็มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากเมล็ดฟักทองต่อสมองเช่นกัน

    ส้ม

    ส้มอุดมด้วยไปวิตามินซี และการได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ สามารถป้องกันอาการเสื่อมของสมองที่เกี่ยวกับวัย เช่น โรคอัลไซเมอร์ ได้ วิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ที่จะช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระที่ทำให้สมองเสียหาย นอกจากส้มแล้ว คุณยังสามารถรับวิตามินซีได้จากแหล่งวิตามินซี เช่น ฝรั่ง พริกหวาน กีวี มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี่

    ไข่

    เป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญหลายอย่าง ที่เชื่อมโยงกับสุขภาพสมอง เช่น วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 โฟเลต โคลีน (Choline) โดยเฉพาะโคลีนที่เป็นสารอาหารที่ร่างกายใช้เพื่อสร้างอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์และความจำ

    การศึกษาสองชิ้นพบว่า การได้รับโคลีนในปริมาณสูงเชื่อมโยงกับการทำงานของความจำและสมอง การกินไข่เป็นวิธีง่ายๆ ในการได้รับโคลีน โดยเฉพาะไข่แดงซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมด้วยสารอาหารชนิดนี้ ปริมาณโคลีนที่เพียงพอสำหรับผู้หญิง ก็คือ 425 มก.ต่อวัน ส่วนผู้ชาย คือ 550มก.ต่อวัน โดยไข่แดงเพียงฟองเดียวมีโคลีนถึง 112 มก.

    บร็อคโคลี่

    เป็นแหล่งสำคัญของวิตามินเค ซึ่งรู้จักกันดีว่าช่วยเสริมการทำงานของสมอง นอกจากนี้ การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า บร็อคโคลี่อุดมด้วยสารประกอบที่เรียกว่ากลูโคไซโนเลต (Glucosinolate) ที่สามารถช่วยชะลอการสลายตัวของสารสื่อประสาท อย่างอะซีติลโคลีน ที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างเหมาะสมของระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อทำให้สมองของเราเฉียบคมอยู่เสมอ ระดับของอะซีติลโคลีนที่ต่ำเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์

    อาหารสมองที่แนะนำข้างต้น ไม่เพียงแต่จะเป็นอาหารสมอง ช่วยให้คุณมีสมาธิ แต่ยังดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย แถมอาหารเหล่านี้ยังสามารถนำมาปรุงอาหารได้ง่าย และมีรสชาติดี หากคุณมีคำถามหรือความกังวล ควรปรึกษานักโภชนาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อรับคำแนะนำ หรือแนวทางในการบริโภคอาหารสมองเหล่านี้ที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับคุณ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์ · แก้ไขล่าสุด 10/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา