backup og meta

ฟันผุ สาเหตุ และการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 27/10/2021

    ฟันผุ สาเหตุ และการป้องกัน

    ฟันผุ หรือ ฟันเป็นรู เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบเจอได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ฟันผุอาจส่งผลให้สารเคลือบฟันและเนื้อฟันได้รับความเสียหาย และค่อย ๆ กลายเป็นรูขนาดเล็ก ก่อนจะขยายเป็นรูที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยฟันผุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น คราบพลัค การรับประทานอาหาร การแปรงฟันไม่สะอาด 

    ฟันผุ เกิดจากอะไร

    สาเหตุของฟันผุ

    ฟันผุ หรือ ฟันเป็นรู เป็นปัญหาสุขภาพฟันที่ส่งผลให้สารเคลือบฟันและเนื้อฟันได้รับความเสียหาย และค่อย ๆ กลายเป็นรูขนาดเล็ก ก่อนจะขยายเป็นรูที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยฟันผุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • คราบพลัค เมื่อรับประทานอาหารจำพวกน้ำตาลและแป้งเป็นจำนวนมาก แต่ทำความสะอาดฟันไม่ทั่วถึงหรือไม่มากพอ จะทำให้มีคราบแป้งและน้ำตาลหลงเหลืออยู่ที่ฟัน และเป็นอาหารของแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อแบคทีเรียตัวร้ายกินแป้งและน้ำตาลเหล่านั้น ก็จะก่อตัวเป็นคราบจุลินทรีย์ หรือคราบพลัคที่มีสภาพเป็นกรดอยู่บนเนื้อฟัน ซอกฟัน หรือตามแนวเหงือก คราบพลัคเหล่านี้เมื่อสะสมมากก็จะค่อย ๆ กัดกร่อนแร่ธาตุและสารเคลือบเนื้อฟันออก ทำให้คราบจุลินทรีย์สามารถกัดเนื้อฟันได้โดยตรงจนทำให้ ฟันผุ
  • การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เมื่อรับประทานในปริมาณมาก อาจสะสมและตกค้างที่เนื้อฟัน จนกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ
  • แปรงฟันไม่สะอาด การไม่ค่อยแปรงฟัน จะทำให้เศษอาหาร และคราบจากอาหารหลงเหลือและตกค้างอยู่ตามซอกฟันหรือเนื้อฟัน จนกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียในช่องปากที่ก่อให้เกิดฟันผุ
  • ฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีหน้าที่ในการป้องกันฟันผุและป้องกันความเสียหายต่อเนื้อฟัน แต่เมื่อฟลูออไรด์ลดลง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อฟันได้
  • ปากแห้ง อาการปากแห้งเกิดจากการขาดน้ำ ซึ่งมีผลทำให้น้ำลายในปากลดลง ซึ่งน้ำลายทำหน้าที่ในการช่วยป้องกันฟันผุ โดยการชะล้างอาหารและคราบจุลินทรีย์ออกจากฟัน และลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ดังนั้น ปริมาณน้ำลายที่ลดลงเนื่องจากอาการปากแห้ง จะทำให้สมรรถภาพในการป้องกันฟันผุของน้ำลายลดลง และเสี่ยงเกิด ฟันผุ มากขึ้น
  • กรดไหลย้อน เมื่อเป็นกรดไหลย้อน กรดจากกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมายังปาก อาจทำให้เคลือบฟันสึกกร่อนและเสียหาย เสี่ยงต่อฟันผุมากขึ้น 
  • ฟันผุมีกี่ระยะ

    ภาวะฟันผุมีอยู่ด้วยกันหลายระยะ ดังนี้

    • ระยะที่ 1 จะมองเห็นเป็นจุดสีขาว ๆ ที่บริเวณด้านบนของเนื้อฟัน หรือร่องฟัน เป็นสัญญาณแรกเริ่มของฟันผุ
    • ระยะที่ 2 จะเริ่มมองเห็นจุดสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม สารเคลือบฟันถูกทำลาย และเริ่มเป็นรูเล็ก ๆ
    • ระยะที่ 3 ฟันผุลึกเข้าไปในเนื้อฟันจนเป็นรูขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ชัด มีอาการปวดฟันเป็นระยะ มีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มของร้อนหรือของเย็น และบริเวณที่ฟันผุอาจมีกลิ่นเหม็น 
    • ระยะที่ 4 ฟันผุลึกเข้าไปถึงเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟัน และเสี่ยงจะลุกลามไปยังรากฟัน มีอาการปวดฟันที่รุนแรงมากขึ้น มีอาการเสียวฟันเมื่อดื่มของร้อนหรือของเย็น และบริเวณที่ฟันผุอาจมีกลิ่นเหม็น

    การป้องกันฟันผุ

    เพื่อสุขภาพฟันที่ดี และลดความเสี่ยงของปัญหาฟันผุ อาจดูแลฟันได้ง่าย ๆ ดังนี้

    • แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เพื่อเสริมฟลูออไรด์ให้ฟัน ช่วยป้องกันฟันผุ
    • แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ หรืออย่างน้อยวันละสองครั้ง
    • เพื่อให้สุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะฟันของคุณสะอาดมากขึ้น ควรใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารที่ซอกซอนอยู่ตามซอกฟันที่แปรงสีฟันไม่สามารถกำจัดออกไปได้
    • บ้วนปากหลังแปรงฟัน เพื่อลดแบคทีเรียในช่องปาก
    • จำกัดการรับประทานขนมขบเคี้ยวที่มีน้ำตาลสูง เพราะเสี่ยงต่อการสะสมแบคทีเรียที่ทำให้ ฟันผุ
    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพฟัน เช่น ผัก ผลไม้ เพราะมีส่วนช่วยเพิ่มการไหลเวียนของน้ำลาย ช่วยป้องกันฟันผุได้
    • งดชาหรือกาแฟ ไม่ควรดื่มบ่อย เพราะเสี่ยงเกิดคราบตามเนื้อฟันและก่อให้เกิดแบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ
    • ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก สุขภาพฟัน และความเสี่ยงของฟันตั้งแต่เนิ่น ๆ

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

    โดยปกติ ต่อให้ไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้นกับฟันก็ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงของสุขภาพฟันตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดฟัน ปวดเหงือก หรืออาการปวดในช่องปากควรไปพบทันตแพทย์ทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 27/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา